ชาเขียว กับ มัทฉะ ต่างกันตรงไหน ?

ชาเขียว กับ มัทฉะ ต่างกันตรงไหน ?

16 มิ.ย. 2022
ชาเขียว กับ มัทฉะ ต่างกันตรงไหน ? | BrandCase
เคยสงสัยกันไหมว่า ความแตกต่างระหว่าง ชาเขียวกับมัทฉะ คืออะไร
ต้องบอกว่า ทั้งชาเขียวและมัทฉะ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากต้นชาประเภทเดียวกัน
แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ “กรรมวิธีการผลิต”
เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนกลับไปในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง หรือช่วงปี ค.ศ. 618
ตอนนั้น ชาเขียว ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องดื่มสำคัญในวัฒนธรรมของชาวจีน
แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศจีนด้วย
โดยชาเขียวนั้น เกิดขึ้นจากต้นชา Camellia sinensis
ที่อยู่ในวงศ์ชาขาว, ชาอูหลง และชาดำ
กรรมวิธีการผลิตชาเขียว ทำได้โดยการนำต้นชาไปปลูกใต้แสงแดด แล้วนำใบชาที่เก็บได้มานึ่ง และอบแห้ง เพื่อนำมาต้มดื่มเอง หรือนำไปขายต่อ
ซึ่งชาวจีนไม่ได้ดื่มชาเขียว เพียงแค่เพราะว่าชาเขียวมีรสชาติที่กลมกล่อม
แต่พวกเขายังมองว่า ชาเขียวเปรียบเสมือนยารักษาโรค ที่เพียบพร้อมไปด้วยสรรพคุณต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน ในยุคทองของชาเขียว ก็มีเรื่องเล่าว่า
พระภิกษุจากประเทศญี่ปุ่นชื่อว่า Myoan Eisai เดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา
โดย Eisai ได้ค้นพบว่า การดื่มชาเขียวช่วยสงบสติอารมณ์ได้ดี ทำให้เขาสามารถนั่งปฏิบัติธรรมได้นานยิ่งขึ้น
เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับเมล็ดชา
และกรรมวิธีการปลูกชาจากประเทศจีน
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ตอนที่เหล่าพระภิกษุของญี่ปุ่นได้นำกรรมวิธีการปลูกชามาปรับเปลี่ยน และพัฒนา
โดยการปลูกชาใต้พื้นที่ที่มีร่มเงาสูง แทนที่จะปลูกภายใต้พื้นที่ที่เจอแสงแดดแบบเต็ม ๆ
แล้วผลลัพธ์ก็คือ ได้ใบ “เทนฉะ” แทนใบชาเขียว
ซึ่ง เทนฉะ คือใบชาที่มีสีเข้มข้น
เพราะตัวใบต้องสร้างสารคลอโรฟิลล์มากขึ้น เพื่อให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น ในภาวะที่เจอแสงน้อยลง
และเมื่อนำ เทนฉะ มาบดเป็นผง ก็จะได้ “มัทฉะ” นั่นเอง
โดย มัทฉะ ก็จะมีรสชาติที่เข้มข้น และขมกว่าชาเขียวธรรมดา
อีกทั้ง มัทฉะ ยังมีปริมาณกาเฟอีน ที่สูงกว่าชาเขียวทั่วไปอีกด้วย
References:
- https://www.matchaful.com/pages/the-history-of-matcha
- https://www.charbrew.com/en/blog/2015/7/3/history-of-matcha-tea
- https://www.baristabuddy.co.th/content/18487/matcha-vs-greentea
- https://www.medicalnewstoday.com/articles/matcha-vs-green-tea#green-tea-benefits
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.