เศรษฐีรวยสุด ในสวิตเซอร์แลนด์ เพิ่งเริ่มธุรกิจได้แค่ 10 ปี

เศรษฐีรวยสุด ในสวิตเซอร์แลนด์ เพิ่งเริ่มธุรกิจได้แค่ 10 ปี

23 มิ.ย. 2022
เศรษฐีรวยสุด ในสวิตเซอร์แลนด์ เพิ่งเริ่มธุรกิจได้แค่ 10 ปี /โดย ลงทุนแมน
“810,000 ล้านบาท” คือมูลค่าทรัพย์สินของคนที่รวยที่สุดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ซึ่งหากพูดถึงคนที่รวยที่สุดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้ว
หลายคนอาจคิดว่าต้องเป็นเจ้าของธุรกิจยาหรือนาฬิกาหรู
ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศแห่งนี้
เศรษฐีชาวสวิสคนปัจจุบัน ไม่ได้ร่ำรวยจากทั้ง 2 ธุรกิจที่กล่าวมาเลย
แต่เขามีทรัพย์สินมาจากการก่อตั้งสตาร์ตอัปฟินเทค ที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 10 ปี
แต่วันนี้บริษัทถูกประเมินมูลค่าไว้มากถึง 1,400,000 ล้านบาท
เศรษฐีรวยสุดในสวิตเซอร์แลนด์ คือใคร
แล้วเขาก่อตั้งสตาร์ตอัปฟินเทค อะไรขึ้นมา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากคนที่มีชื่อว่าคุณ “Guillaume Pousaz”
คุณ Guillaume Pousaz หรือคุณ Pousaz เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1981 ปัจจุบันอายุ 41 ปี
ตั้งแต่เด็กคุณ Pousaz เป็นคนที่หลงใหลใน 2 เรื่องด้วยกัน
นั่นคือเรื่องตัวเลข และการเขียนโปรแกรม
แม้ในตอนแรกคุณ Pousaz จะเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมคณิตศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี แต่อาชีพที่เขาใฝ่ฝันมาตลอดคือ วาณิชธนกิจ หรือก็คืออาชีพที่ต้องข้องเกี่ยวกับการระดมเงินทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ ไปจนถึงการทำดีลควบรวมกิจการ
ภายหลังจากจบการศึกษาจาก École Polytechnique Fédérale De Lausanne
เขาเลือกที่จะเข้าเรียนต่อที่ HEC Lausanne ในสาขาเศรษฐศาสตร์ทันที
ซึ่งก็ต้องบอกว่าการที่คุณ Pousaz เลือกเรียนต่อในทันทีนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
เพราะว่าในช่วงปีสุดท้ายของการเรียน เขาได้รับข้อเสนองานวาณิชธนกิจจาก Citibank ในลอนดอน
อย่างไรก็ตามคุณ Pousaz กลับไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้าย เขาจึงผิดหวังเป็นอย่างมาก
ซึ่งก็มากจนถึงขนาดที่เขาตัดสินใจหยุดเรียนไปเลย และก็ได้ย้ายออกจากสวิตเซอร์แลนด์
มาอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ใครจะรู้ว่าจากความผิดหวังในครั้งนี้นี่เอง
ที่ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขา กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์
4 เดือนหลังจากที่คุณ Pousaz ได้ออกจากมหาวิทยาลัย
เขาได้เริ่มงานที่บริษัท International Payments Consultants หรือ IPC
ซึ่งเป็นบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวกับการรับชำระเงิน
หลังจากทำงานที่ IPC ได้เพียง 1 ปี เขาก็ได้ตัดสินใจลาออก เพื่อมาเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเอง
นั่นคือการก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัปที่ชื่อ “NetMerchant” ร่วมกับหัวหน้าฝ่ายขายจากที่ทำงานเก่า
โดย NetMerchant เป็นแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยจัดการให้ร้านค้าในสหรัฐอเมริกา สามารถรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยสกุลเงินจากประเทศในโซนยุโรปได้
แต่หลังจากดำเนินธุรกิจไปได้ไม่นาน ก็เริ่มเกิดปัญหาตามมา
เมื่อรายได้ของบริษัทเริ่มเติบโตมากขึ้น
ทำไมการที่บริษัทเติบโตได้ดี จึงกลายมาเป็นปัญหา ?
แน่นอนว่าคุณ Pousaz ที่ตั้งใจทำธุรกิจมาตั้งแต่แรก ต้องการนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ไปลงทุนต่อยอดให้กิจการมีการเติบโตมากขึ้นอีก
แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง หรืออดีตหัวหน้าฝ่ายขายไม่ได้คิดแบบนั้น เขาคิดว่าให้ธุรกิจเติบโตไปแบบนี้ก็พอ แล้วไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
เขาต้องการนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท มาจ่ายเป็นเงินเดือนของตัวเอง เพื่อที่จะสามารถซื้อรถหรูและบ้านหลังใหม่
ด้วยแนวทางที่ต่างกันนี้เอง ทำให้บริษัท NetMerchant มาถึงทางแยก
จนบทสรุปสุดท้ายคือการปิดตัวลงในปี 2009
จากปัญหาในครั้งนั้น ทำให้ในเวลาต่อมาคุณ Pousaz เลือกที่จะก่อตั้งบริษัทด้วยตัวเอง
ในปีเดียวกันนั้น เขาได้ทำการก่อตั้งบริษัท Opus Payments ขึ้นในสิงคโปร์
โดย Opus Payments เป็นเหมือนโครงสร้างระบบรับชำระเงินออนไลน์
ที่เข้ามาช่วยจัดการให้ร้านค้าในฮ่องกง สามารถรับชำระเงินจากลูกค้าทั่วโลกได้
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ Opus Payments เกิดขึ้นในปี 2011
เมื่อบริษัทสามารถดีลเป็นพาร์ตเนอร์กับ DealeXtreme ซึ่งเป็นเว็บไซต์จากจีน ที่ทำการขายอุปกรณ์เทคโนโลยีไปทั่วโลก
จากการได้เป็นพาร์ตเนอร์กับ DealeXtreme ทำให้บริษัทเริ่มมีขนาดใหญ่มากพอ จนถึงจุดที่สามารถทำกำไรได้
ถัดจากนั้นเพียง 1 ปี บริษัทก็ได้ทำการรีแบรนด์จาก Opus Payments เป็น Checkout
จากนั้นไม่นาน บริษัทก็ได้เริ่มใช้กลยุทธ์จับมือเป็นพันธมิตร
กับเหล่าบริษัทที่มีบริการเกี่ยวข้องกับการชำระเงิน ยกตัวอย่างเช่น
- เข้าเป็นสมาชิกหลักของบริษัทบัตรเครดิตยักษ์ใหญ่อย่าง Visa และ Mastercard
- จับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับ แอปพลิเคชันชำระเงินของคนจีนอย่าง Alipay
- จับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับ WeChat แอปพลิเคชันแช็ตยอดนิยมของจีน ที่มีบริการ WeChat Pay สำหรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังคงสงสัยว่า
โมเดลธุรกิจของ Checkout เป็นอย่างไร ?
อธิบายง่าย ๆ คือ Checkout เปรียบเสมือนโครงสร้างระบบการรับชำระเงินออนไลน์
โดยหน้าที่หลักของ Checkout คือ การเข้ามาช่วยจัดการให้บริษัทและร้านค้า สามารถรับชำระเงินจากลูกค้าที่มีการชำระเงินในรูปแบบที่แตกต่างกันได้ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ ระบบของ Checkout สามารถรองรับการชำระเงินได้มากถึง 25 วิธี และรองรับสกุลเงินกว่า 150 สกุลเงิน จากสกุลเงินทั่วโลกซึ่งมีทั้งหมด 180 สกุลเงิน
หมายความว่าธุรกิจที่เลือกใช้ระบบของ Checkout จะไม่ต้องกังวลเลยว่า ลูกค้าจะเป็นใคร มาจากประเทศไหน และใช้สกุลเงินอะไรจ่าย เพราะระบบรับชำระเงินของบริษัทครอบคลุมแทบจะทุกวิธีการชำระเงินในโลก
นอกเหนือจากเรื่องการรับชำระเงินแล้ว
ยังมีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น
- สามารถดูข้อมูลรายได้ของร้านค้า ว่ามาจากการชำระเงินของลูกค้าด้วยวิธีใดบ้าง
- มีเครื่องมือช่วยตรวจจับธุรกรรม ที่มีความผิดปกติแบบเรียลไทม์
คำถามต่อมาคือ แล้วรายได้ของ Checkout มาจากไหน ?
คำตอบคือ มาจากค่าธรรมเนียม
โดยทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้น Checkout จะทำการหักค่าธรรมเนียมบางส่วน
ซึ่งค่าธรรมเนียมจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการชำระเงินในแต่ละรูปแบบ เช่น
- ค่าธรรมเนียม 0.95% ของธุรกรรม บวกกับ 0.2 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบัตรเครดิตจากยุโรป
- ค่าธรรมเนียม 2.9% ของธุรกรรม บวกกับ 0.2 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบัตรเครดิตอื่น ๆ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งสามารถระดมทุนในรอบ Series D ได้อีก 35,000 ล้านบาท
ทำให้ปัจจุบันบริษัท Checkout ถูกประเมินมูลค่าไว้มากถึง 1,400,000 ล้านบาท
มูลค่าระดับนี้ นับว่าใหญ่กว่าทุกบริษัทในตลาดหุ้นประเทศไทย และ Checkout ก็ได้กลายมาเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์น ที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 7 ของโลก และมากที่สุดของสหราชอาณาจักร ที่ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของสำนักงานใหญ่
ส่งผลให้คนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวนี้อย่างคุณ Guillaume Pousaz กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์
ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 810,000 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพราะคุณ Pousaz โชคดี ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์จึงสามารถร่ำรวยได้
แต่รู้หรือไม่ว่า ในวันที่เขาตัดสินใจหยุดเรียน แล้วย้ายมาที่สหรัฐอเมริกา เขามีเงินติดตัวเพียง 530,000 บาท
โดยเราสามารถนำเรื่องราวของคุณ Pousaz มาเป็นกรณีศึกษาได้หลายเรื่อง
เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งธุรกิจร่วมกับผู้อื่น
โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น ที่เมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจ จนบริษัทมีรายได้เติบโต
หากเราไม่พูดคุยหรือตกลงกันตั้งแต่แรก ว่าหากธุรกิจประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว เราจะทำอะไรกันต่อ ก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้
อย่างในกรณีของคุณ Pousaz ที่ถึงขั้นตกลงกันไม่ได้ จนต้องปิดบริษัทไปเลย
อีกเรื่องก็คือ การรู้ตัวเองว่าชอบทำอะไร อินกับอะไร
จุดนี้ก็ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ทำให้เดินหน้าต่อไปไม่มีหยุด
ทั้งพลาดงานในฝัน เพราะไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้าย
ต้องปิดกิจการลงทั้งที่รายได้โตระเบิด เพราะขัดแย้งกับผู้ร่วมก่อตั้ง
หากเป็นใครหลายคน ก็อาจจะล้มเลิกความตั้งใจ และหมดไฟไปแล้ว
แต่คุณ Pousaz ก็ได้ลุยต่อ จนประสบความสำเร็จกับ Checkout ที่แม้จะเริ่มต้นมาได้เพียง 10 ปี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References -https://www.forbes.com/sites/samshead/2019/08/09/guillaume-pousaz-the-jet-setting-founder-of-2-billion-payment-startup-checkoutcom/?sh=391b9d683203
-https://www.businessmodelzoo.com/exemplars/checkout/
-https://www.cbinsights.com/research-unicorn-companies
-https://www.forbes.com/profile/guillaume-pousaz/?sh=cb112552652e
-https://en.wikipedia.org/wiki/Guillaume_Pousaz
-https://en.wikipedia.org/wiki/Checkout.com
-https://conotoxia.com/news/blog/worth-knowing/how-many-currencies-are-there-in-the-world-famous-and-those-not-so-well-known
-https://www.motorbiscuit.com/most-expensive-lamborghini-models-on-the-planet/
-https://www.forbes.com/sites/daviddawkins/2022/04/05/the-richest-people-in-europe-2022/?sh=36caed9401ef
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.