เงินเฟ้อปีนี้ ทำร้ายคนจน มากกว่าคนรวย

เงินเฟ้อปีนี้ ทำร้ายคนจน มากกว่าคนรวย

24 มิ.ย. 2022
เงินเฟ้อปีนี้ ทำร้ายคนจน มากกว่าคนรวย /โดย ลงทุนแมน
จริงอยู่ว่าภาวะเงินเฟ้ออ่อน ๆ เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ
เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว
ในทิศทางที่ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหญ่ ต่างก็จะได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า
แต่เงินเฟ้อในปีนี้ กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน
เพราะมันเป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากวัตถุดิบขาดแคลน จนมีราคาสูงขึ้น
ผู้ผลิตอั้นต่อไปไม่ไหว จนต้องส่งภาระค่าใช้จ่าย และปรับราคาสินค้าและบริการให้แพงขึ้นตามไปด้วย
และภาวะเงินเฟ้อแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อคนจนมากกว่าคนรวย
แล้วทำไมคนจนถึงกระทบมากกว่า ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เหตุผลที่ทำให้เงินเฟ้อส่งผลกระทบระหว่างคนจนและคนรวยต่างกัน
ก็เพราะ “คนจนกับคนรวยมีสัดส่วนการบริโภคที่ต่างกัน”
รู้หรือไม่ว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหาร คิดเป็น 51% ของการบริโภคทั้งหมด
แต่ครัวเรือนที่มีรายได้สูง กลับมีค่าใช้จ่ายด้านอาหาร คิดเป็นเพียง 29% ของการบริโภคทั้งหมด
นอกจากนี้ หากเรามาดูตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม ที่มีค่าสูงถึง 7.1%
ซึ่งเมื่อดูแยกรายหมวดหมู่แล้ว พบว่าสินค้าในหมวดหมู่อาหารมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น
- เนื้อสัตว์อย่าง เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นสูงถึง 10.5%
- ไข่ เพิ่มขึ้น 21.8%
- น้ำมันและไขมัน เพิ่มขึ้น 26.0%
จากทั้งสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อการบริโภค และราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น
จะเห็นได้ว่าในมุมของการบริโภค ผู้มีรายได้น้อยก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก และหนักกว่าคนรวยแล้ว
ทีนี้ถ้าถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี ?
วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุด ในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ
ก็คือ การปรับเพิ่มรายได้ให้มากกว่าเงินเฟ้อ
แต่เรื่องราวของผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่กลับซับซ้อนกว่านั้น
เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมีอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่ได้ปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ..
โดยปกติแล้ว ถ้าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการบริโภคที่มีมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Demand-Pull Inflation
ผู้ผลิตก็จะสามารถเพิ่มราคาขายได้ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และสามารถปรับค่าแรงให้กับลูกจ้างได้
แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเวลานี้ ไม่ปกติ เพราะมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หรือ Cost-Push Inflation จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงานและอาหารที่ปรับขึ้นทั่วโลก
เงินเฟ้อตอนนี้ จึงเป็นเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งถ้าผู้ประกอบการปรับราคาขึ้นมาก จำนวนสินค้าก็จะขายได้น้อยลงมาก
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงพยายามขึ้นราคาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับต้นทุนการผลิตเท่านั้น ส่วนเรื่องค่าจ้างอาจเป็นเรื่องรองลงมาที่ผู้ประกอบการจะปรับขึ้น
สุดท้ายผลกระทบจึงไปตกกับคนจน ที่ทั้งต้นทุนชีวิตถูกเงินเฟ้อผลักดันให้แพงขึ้น
จากค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย และค่าเดินทาง แต่ค่าแรงกลับไม่สามารถปรับเพิ่มได้
นอกจากนี้กลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำส่วนใหญ่ จะยังไม่สามารถเข้าถึง หรือครอบครองสินทรัพย์ทางการเงินที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ เพราะพวกเขามีเงินเก็บในแต่ละเดือนที่ไม่มากพอ หรือยังไม่มีความรู้ด้านการเงินที่เพียงพอ
ในขณะเดียวกัน เงินที่มีก็เริ่มไม่เพียงพอต่อการบริโภค คนกลุ่มนี้จึงเข้าหาทางเลือกที่ง่ายที่สุด คือการกู้ยืม
สำหรับคนรวยแล้ว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือเงินกู้ สามารถทำได้ง่ายกว่า ด้วยเครดิตทางการเงินที่ดีกว่า
แต่คนจนส่วนใหญ่ ไม่มีเครดิตหรือทรัพย์สินค้ำประกันที่ดีพอ ต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ทำให้เมื่อคนกลุ่มนี้ต้องการเงินเพื่อลงทุน หรือกู้ยืมเพื่อการบริโภค
พวกเขาจะเดินเข้าหาแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น โรงรับจำนำ สินเชื่อรถยนต์ ที่ต้องนำทรัพย์สินของตัวเองไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือถ้าไม่มีทรัพย์สินไปค้ำประกัน พวกเขาก็จะไปใช้เงินกู้นอกระบบ ที่กู้ยืมง่าย แต่อาจมีดอกเบี้ยสูงถึงหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปี
อ่านถึงตรงนี้ก็น่าจะทำให้เข้าใจได้ว่า แม้ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาจะส่งผลกระทบกับทุกคนในสังคม
แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับไม่เท่ากัน
ในขณะที่คนรวยติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องเงินเฟ้อ เพราะกลัวว่าทรัพย์สินของตัวเองจะได้รับผลกระทบ
แต่สำหรับคนจนแล้ว ไม่ต้องพูดถึงมูลค่าของทรัพย์สินที่จะลดลง
เพราะเงินเฟ้อได้เข้ามากัดกิน ความเป็นอยู่ในชีวิตของพวกเขา เรียบร้อยแล้ว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.pier.or.th/abridged/2020/17/
-https://www.brookings.edu/blog/future-development/2022/03/18/inflation-could-wreak-vengeance-on-the-worlds-poor/#:~:text=High%20inflation%2C%20in%20short%2C%20tends,into%20it%20by%20rising%20inflation.
-https://www.worldbank.org/en/research/publication/inflation-in-emerging-and-developing-economies
-http://www.indexpr.moc.go.th/price_present/TableIndexG_region.asp?table_name=cpig_index_country&province_code=5&type_code=g&check_f=y&year_base=2562&nyear=2565
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=188&language=th
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.