รัฐควบคุมราคาสินค้า ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป

รัฐควบคุมราคาสินค้า ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป

27 มิ.ย. 2022
รัฐควบคุมราคาสินค้า ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงเงินเฟ้อสูง สินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีราคาแพงขึ้น ความต้องการซื้อจึงลดลงตามไปด้วย
หลายคนน่าจะได้เห็นมาตรการจากภาครัฐที่ออกมาตรึง หรือควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการ เพื่อไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป
แม้ว่าการควบคุมดูแลราคาสินค้า จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ไม่ต้องใช้ของในราคาแพงเกินไป
แต่การเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด ก็มักจะมีผลกระทบตามมาเสมอ

แล้วการเข้าไปควบคุมราคาสินค้า ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
“Price Control” หรือการควบคุมราคาสินค้า เป็นท่าประจำของรัฐบาลในหลายประเทศที่มักนำมาใช้กัน เพื่อตรึงราคาสินค้าและบริการที่แพงจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศ
หรืออีกมุมหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก ที่เกี่ยวข้องกับประชากรในประเทศเป็นจำนวนมาก อย่างในประเทศไทยก็คือ ภาคการเกษตร
หากพูดถึงการตรึงราคาสินค้าและบริการแล้ว เราก็มักจะนึกถึงสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ข้าว ซึ่งก็รวมไปถึงราคาค่ารถโดยสารสาธารณะต่าง ๆ ด้วย
แต่มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อย มองว่านโยบายการควบคุมราคาสินค้าและบริการ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนั้น มักไม่มีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาสินค้านานเกินไป กลับกลายเป็นว่ามันจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น
- ทำให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ
อีกทั้งยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือ การตรึงราคาพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย
อย่างกรณีของราคาน้ำมันขายปลีกนั้น
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ระบุว่าราคาน้ำมันขายปลีกดีเซล B7 อยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร
โดยที่ปัจจุบันรัฐบาลช่วยจ่ายให้เรา เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่ 10.92 บาทต่อลิตร ผ่านกองทุนน้ำมัน
หมายความว่า ถ้าไม่มีการอุดหนุนตรงนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกดีเซล B7 จะอยู่ที่ประมาณ 45 บาทต่อลิตร

น้ำมันดีเซลนั้นถือเป็นต้นทุนที่สำคัญในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิตในโรงงาน ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคขนส่ง
แน่นอนว่า การอุดหนุนราคาน้ำมันนั้น จะช่วยให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง และเยียวยาภาระค่าครองชีพไปได้บ้าง
แต่การอุดหนุนราคาน้ำมันนั้น มีต้นทุนมหาศาล เพราะที่ผ่านมา
ประเทศไทยของเรา มีการอุปโภคน้ำมันดีเซล ประมาณ 65 ล้านลิตรต่อวัน
แปลว่าต้นทุนในการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันนั้น สูงถึงวันละกว่า 700 ล้านบาท
คิดเป็นเดือนละกว่า 21,000 ล้านบาท
ซึ่งถ้ากองทุนน้ำมันทำแบบนี้ต่อไปตลอดทั้งปี
หมายความว่าจะต้องใช้เงินกว่า 252,000 ล้านบาท
หรือคิดเป็นกว่า 8% ของงบประมาณรายจ่าย เลยทีเดียว
นอกจากนั้น หากการควบคุมราคาสินค้า กินระยะเวลายาวนานเกินไป ก็จะทำให้กลไกราคานั้นไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงด้วย

ยิ่งถ้าผู้บริโภคเชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงอุดหนุน หรือตรึงราคาต่อไปเรื่อย ๆ
ผู้บริโภคก็จะไม่เกิดการประหยัดในการใช้สินค้านั้นในที่สุด
- ส่งผลเสียต่อผู้ผลิต และอาจนำไปสู่ตลาดมืด
สินค้าบางอย่าง แม้ว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้มีภาระในการใช้เงินเข้าไปอุดหนุน
เนื่องจากรัฐบาลอาจควบคุมราคาสินค้าและบริการ ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ผลิต
แต่การที่ผู้ผลิตต้องถูกควบคุมราคาขายสินค้านั้น
หากต้นทุนในการผลิตพุ่งสูงขึ้น กำไรของผู้ผลิตก็จะลดลง
ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ก็เป็นเพียงการผลักภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจ จากฝั่งผู้บริโภคมาให้ผู้ผลิตเท่านั้น
ถ้าเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ ก็อาจไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก
แต่ในระยะยาวนั้น ผู้ผลิตที่ถูกควบคุมราคาขายสินค้า มีโอกาสที่จะผลิตสินค้าและบริการออกมาสู่ตลาดน้อยลง
อย่างกรณีของรถโดยสารขนส่งสาธารณะที่กำลังขาดแคลน
เนื่องจาก ผู้ประกอบการนั้นลดจำนวนเที่ยววิ่งลง หรือหยุดการให้บริการในบางเส้นทาง
เพราะต้นทุนน้ำมันที่สูง แต่ไม่สามารถปรับราคาค่าโดยสารขึ้นได้ จนส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนไม่น้อย
การควบคุมราคาสินค้า ยังทำให้ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ หรือขาดการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จนอาจส่งผลต่อการลงทุน การจ้างงาน และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน
รวมไปถึงอาจนำไปสู่การลักลอบนำสินค้าไปซื้อขายกันในตลาดมืด
ซึ่งตลาดมืดนั้นยังเป็นการซื้อขายสินค้าที่ไม่มีการเก็บภาษี
จนทำให้รัฐบาลนั้นขาดรายได้จากภาษี เนื่องจากผลของการควบคุมราคาสินค้า
- เงินเฟ้ออาจเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อแฝงในระบบเศรษฐกิจ
กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีของการตรึงราคาน้ำมันที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประเด็นสำคัญคือ การที่รัฐบาลต้องใช้เงินเข้าไปตรึงราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้มเป็นเวลานาน
แต่ราคาสินค้าดังกล่าว กลับไม่ลดลงหรือยังเพิ่มขึ้น และทรงตัวอยู่ในระดับสูงยาวนาน
จนกองทุนน้ำมันนั้นขาดทุนไปเฉียด 100,000 ล้านบาทแล้ว
ซึ่งถือว่าเป็นภาระและต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล

สุดท้ายเมื่อเงินที่ใช้ตรึงราคาสินค้าเริ่มลดลง หรือต้นทุนทางเศรษฐกิจนั้นมากขึ้น และรัฐบาลต้องยกเลิกการตรึงราคาในภายหลัง เราก็มีโอกาสเจอกับเงินเฟ้อที่ผันผวนรุนแรง
นอกจากนี้ การควบคุมราคาสินค้า อาจนำไปสู่สถานการณ์
ที่เรียกว่า “Shrinkflation” หรือภาวะเงินเฟ้อแฝงในระบบเศรษฐกิจ
เพราะการที่ผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้
ในขณะที่ต้นทุนการผลิตนั้นปรับตัวสูงขึ้น และถึงจุดที่ต้องส่งต่อต้นทุนเหล่านี้ไปยังผู้บริโภค ดังนั้น
ผู้ผลิตจึงมักเลือกที่จะลดขนาดของผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิต
ทำให้ถ้าเราสังเกตดี ๆ สินค้าหลายอย่างจะมีขนาดและปริมาณน้อยลง
ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคจะจ่ายเงินเท่าเดิม แต่สุดท้ายผลประโยชน์ของผู้บริโภคนั้น ก็ลดลงอยู่ดี
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า การควบคุมดูแลราคาสินค้านั้น
เมื่อดูผลประโยชน์สุทธิรวมของสังคมจริง ๆ อาจไม่เกิดประโยชน์อย่างที่เราคิดไว้ตั้งแต่แรกก็ได้
เนื่องจากภายใต้สถานการณ์การควบคุมดูแลราคาสินค้านั้น จะมีต้นทุนเกิดขึ้นเสมอ
เพราะมันก็เป็นเพียงแค่การโยกต้นทุน หรือการผลักภาระทางเศรษฐกิจจากผู้บริโภคไปยังผู้ผลิตเท่านั้น
สรุปแล้ว การแทรกแซงราคาสินค้า อาจดูเป็นสิ่งจำเป็น
หากมันช่วยเยียวยาภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะสั้นเอาไว้ได้
แต่หากการแทรกแซงนั้น ยาวนานเกินไป
ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออะไรเราเลย
แถมยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงกว่าเดิม ด้วยซ้ำ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Price_controls
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/situation-oil-electric?issearch=1&isc=1&ordering=order&category_id=562&xf_19=22
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/situation-oil-electric?issearch=1&isc=1&ordering=order&category_id=568
-https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_news.php?nid=798
-https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/03/oil.pdf
-https://www.accountingtools.com/articles/black-market#:~:text=Black%20markets%20typically%20arise%20when,side%20of%20a%20black%20market.
-https://news.thaipbs.or.th/content/316530
-https://www.offo.or.th/sites/default/files/estimate/files/%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%2065-06-19.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.