BDMS ประกาศทำ Tender Offer เข้าซื้อสมิติเวชและนำออกจากตลาด

BDMS ประกาศทำ Tender Offer เข้าซื้อสมิติเวชและนำออกจากตลาด

30 มิ.ย. 2022
BDMS ประกาศทำ Tender Offer เข้าซื้อสมิติเวชและนำออกจากตลาด
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ซึ่งเป็นเจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้บริษัทเข้าทำ Tender Offer หรือทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) หรือ SVH เจ้าของโรงพยาบาลสมิติเวช เพื่อเพิกถอนหุ้น SVH ออกจากตลาดหลักทรัพย์
จากเดิมที่ทาง BDMS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SVH อยู่แล้ว โดยถืออยู่ทั้งสิ้น 95.76 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 95.76%
โดยการทำคำเสนอซื้อในครั้งนี้ จะเป็นการเสนอซื้อหุ้นของ SVH ในส่วนที่เหลืออีก 4.24 ล้านหุ้น
หรือคิดเป็น 4.24% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด ในราคา 480 บาทต่อหุ้น
คิดเป็นราคาพรีเมียมจากราคาหุ้น SVH เมื่อวานนี้ ปิดตลาดที่ 420 บาทต่อหุ้น ถึง 14.3%
โดยล่าสุดซื้อขายกันที่ 474 บาทต่อหุ้น
หรือยังต่ำกว่าราคา Tender Offer ราว 1.3%
ซึ่ง SVH ก็เรียกได้ว่าเป็นเครื่องจักรผลิตกำไร
หากอ้างอิงจากกำไรที่ทำได้ในปีก่อนราว 1,500 ล้านบาท
คิดเป็นราว 1 ใน 5 ของกำไรทั้งหมดของ BDMS ทั้งปี เลยทีเดียว
สำหรับใครที่สงสัยว่าการทำ Tender Offer คืออะไร ?
Tender Offer คือ กฎเกณฑ์เรื่องการครอบงำกิจการ หรือที่เราอาจคุ้นหูกันว่า Take Over
โดยกฎเกณฑ์เรื่องนี้ระบุไว้ว่า คนที่เข้ามา Take Over กิจการ
จะต้องทำคำเสนอซื้อ หรือ Tender Offer จากผู้ถือหุ้นรายอื่นที่เหลือทั้งหมดของกิจการด้วย
ซึ่งการทำ Tender Offer มีอยู่ 4 รูปแบบ คือ
1. Mandatory Tender Offer
คือ การเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของกิจการตามกฎหมาย ในกรณีที่เข้าซื้อหุ้นแล้วมีสัดส่วนเกิน 25%, 50% และ 75%
2. Voluntary Tender Offer
คือ การเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของกิจการโดยสมัครใจ แม้สัดส่วนอาจไม่ถึง 25% ก็ได้
3. Partial Tender Offer
คือ การเสนอซื้อหุ้นบางส่วน โดยผู้เสนอซื้อได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นคำเสนอ
4. การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด
โดยในกรณีของ BDMS จะเป็นแบบกรณีสุดท้าย
ซึ่งก็คือ การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด
คำถามต่อมาคือ หากเรากำลังถือหุ้นของ SVH อยู่ จะได้รับผลกระทบอย่างไร ?
สำหรับผู้ถือหุ้น SVH เดิม ที่ยังไม่อยากขายหุ้นของตัวเองในราคาที่ BDMS เสนอซื้อมา
ก็ยังสามารถถือหุ้นต่อไปได้
แต่จะเป็นลักษณะของการถือหุ้นนอกตลาด
แล้วถ้าถามว่าการถือหุ้นนอกตลาด มีข้อเสียเปรียบกว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างไร ?
เรื่องแรกเลยก็คือ “สภาพคล่อง” ในการซื้อขายหุ้นจะแทบไม่มีเลย
เนื่องจากเราไม่รู้จะไปขายหุ้นให้ใคร ต่างจากที่เรากดหน้าจอซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้
เรื่องถัดมาก็คือ หากเราขายหุ้นนอกตลาด ถ้าเรามีกำไร
เราก็ต้องมีการเสียภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้นอีกด้วย
ซึ่งถ้าผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ก็จะทำให้เกิดขั้นตอนที่ยุ่งยาก
โดยฝั่งผู้ซื้อหุ้น ก็ต้องคำนวณกำไรและหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร
ในขณะที่ฝั่งผู้ขาย ก็มีหน้าที่นำกำไรจากการขายหุ้น
ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี เช่นกัน
สำหรับเครือข่ายของ BDMS ประกอบด้วย 6 กลุ่มโรงพยาบาลหลัก คือ
- โรงพยาบาลกรุงเทพ
- โรงพยาบาลสมิติเวช
- โรงพยาบาล BNH
- โรงพยาบาลพญาไท
- โรงพยาบาลเปาโล
- โรงพยาบาลรอยัล
และคลินิก BDMS Wellness Clinic
ก่อนหน้านี้ BDMS ได้ไล่ซื้อกิจการโรงพยาบาลมาโดยตลอด
2 ปีก่อน ได้ยื่นซื้อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สำเร็จ
มาปีนี้ ก็ได้ประกาศทำ Tender Offer สมิติเวชออกนอกตลาด ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจโรงพยาบาล มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของกิจการกันตลอดเวลา ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นเลย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.