รู้จักโมเดลธุรกิจของ ธนาคารอิสลาม ปล่อยกู้ไม่คิดดอกเบี้ย แต่ยังมีกำไร

รู้จักโมเดลธุรกิจของ ธนาคารอิสลาม ปล่อยกู้ไม่คิดดอกเบี้ย แต่ยังมีกำไร

1 ก.ค. 2022
รู้จักโมเดลธุรกิจของ ธนาคารอิสลาม ปล่อยกู้ไม่คิดดอกเบี้ย แต่ยังมีกำไร /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่าดอกเบี้ย หรือริบา ถือเป็นสิ่งที่ไม่ดี สำหรับชาวมุสลิม
เนื่องจากพวกเขามองว่าการเก็บดอกเบี้ย เป็นการลดทอนทรัพย์สินของผู้อื่น
สิ่งที่น่าคิดต่อมาคือ ธนาคารอิสลามจะทำธุรกิจได้อย่างไร
เพราะดอกเบี้ยถือเป็นรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
แล้วธนาคารอิสลามทำธุรกิจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถึงแม้ว่าธนาคารอิสลามจะไม่มีการเก็บดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ก็จริง
แต่ก็ใช่ว่า พวกเขาจะปล่อยให้ผู้คนเข้ามายืมเงินได้อย่างฟรี ๆ
สิ่งที่ธนาคารอิสลามทำนั่นก็คือ แทนที่จะเก็บเป็นดอกเบี้ย ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ หลักการซื้อขายมุรอบาฮะฮ์ หรือการซื้อมาขายไปแทน
โดยธนาคารจะทำหน้าที่ในการซื้อทรัพย์สินที่ลูกค้าต้องการ
ซึ่งก็ต้องไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น สุกร และเหล่าอบายมุข
แล้วนำมาบวกกำไร หลังจากนั้นจะให้ลูกค้าทำหน้าที่ผ่อนชำระเงินเป็นงวด ๆ
อย่างไรก็ตาม การจะบวกกำไรได้จะต้องเป็นราคาที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย
และจะไม่มีการเพิ่มหรือลดกำไร จนครบสัญญา ซึ่งต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับขึ้นหรือลดลงตามภาวะเศรษฐกิจได้
เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น จะเล่ากระบวนการแต่ละขั้นตอนให้ฟัง
หากเราเป็นชาวมุสลิม และต้องการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน
เราก็จะเริ่มต้นจากการเข้าไปแจ้งความประสงค์กับธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ
ต่อมาธนาคารจะพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศาสนาอิสลามหรือไม่
รวมถึงประเมินความสามารถในการชำระคืนเงินของเราด้วย
หากอนุมัติผ่านแล้ว ธนาคารจะแต่งตั้งให้เราเป็นตัวแทนในการซื้อทรัพย์สินที่แจ้งไว้ และชำระเงินให้ ดังนั้นทรัพย์สินนั้นจึงกลายเป็นของธนาคารก่อน
หลังจากนั้นธนาคารจะขายทรัพย์สินให้กับเรา ในราคาต้นทุนบวกกำไรตามที่ตกลงกันไว้
โดยเราจะชำระเงินแบบผ่อนเป็นงวด ๆ จนครบตามสัญญา
และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมธนาคารอิสลามถึงสามารถทำธุรกิจได้ โดยไม่เก็บดอกเบี้ย นั่นเอง
คำถามต่อมา แล้วธนาคารอิสลามหาแหล่งเงินทุนมาจากไหน ?
คำตอบคือ เงินฝาก เช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
เพียงแต่ว่ารายละเอียดของระบบเงินฝากมีความแตกต่างกัน
โดยเงินฝากของธนาคารอิสลามจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
1. เงินฝากวะดีอะห์ หรือการฝากเงินแบบรักษาทรัพย์
ซึ่งสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีก 2 รูปแบบ
คือ วะดีอะห์ ยัด อามานะห์ เป็นการฝากเงินสด หรือทรัพย์สินใดก็ได้
โดยที่ธนาคารไม่มีสิทธิ์นำไปใช้ในการลงทุน หากลูกค้าไม่ยินยอม
จากเหตุผลข้างต้น ทำให้เงินฝากประเภทนี้ จำเป็นต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการรับฝาก
และผู้รับฝากไม่ต้องรับผิดชอบอีกด้วย หากทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้รับฝากเอง เช่น ธนบัตรขาดเพราะความเก่าแก่
เงินฝากอีกแบบคือ วะดีอะห์ ยัด เดาะมานะฮ์ ไม่ต่างจากแบบแรกมากนัก
เพียงแค่ว่าธนาคารมีสิทธิ์นำเงินนั้นไปใช้ในการลงทุนได้
ทำให้ผู้ฝากเงินประเภทนี้จะได้รับสินน้ำใจ หรือฮิบะห์ เป็นการตอบแทน
อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารในช่วงเวลานั้น ๆ
2. เงินฝากมุฎอเราะบะห์ หรือเงินฝากแบบการลงทุน
เงินฝากประเภทนี้ ใช้การทำสัญญาตามหลักมุฎอเราะบะห์ หรือแปลเป็นไทยว่า การทำสัญญาการร่วมทำธุรกิจ หรือร่วมลงทุนระหว่างสองฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งคือ เจ้าของเงินทุน หรือกรณีนี้คือผู้ฝากเงิน
ขณะที่อีกฝ่ายคือ ผู้ทำธุรกิจ หรือกรณีนี้คือธนาคารอิสลาม ซึ่งมีหน้าที่ในการนำเงินไปบริหารและลงทุน โดยต้องไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลามด้วย
ทั้งนี้ผลกำไรต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจนว่า แต่ละฝ่ายจะได้รับผลกำไรเท่าไร เช่น 50:50, 60:40, 70:30 หรืออื่น ๆ ตามที่ยอมรับกันได้
อย่างไรก็ตาม หากขาดทุน ผู้ฝากเงินต้องรับผิดชอบส่วนที่ขาดทุนเพียงฝ่ายเดียว
ธนาคารจะรับผิดชอบเฉพาะการไม่ได้รับเงินจากค่าตอบแทนเท่านั้น
และนี่ก็เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งของธนาคารอิสลาม
รู้หรือไม่ว่า บริการทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิ์เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น หากใครสนใจก็สามารถใช้บริการได้เช่นกัน
สรุปแล้ว ธนาคารอิสลามก็ให้บริการที่ไม่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่เรารู้จักกัน เช่น บริการเงินฝาก บริการด้านการลงทุน หรือแม้แต่การปล่อยสินเชื่อก็ตาม
แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ธนาคารอิสลามจะดำเนินงานภายใต้หลักศาสนาอิสลาม หรือชะรีอะห์
เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย และสิ่งต้องห้ามสำหรับศาสนานั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://islamicfinancethai.com/
-https://www.asianmoneyguide.com/ธนาคารอิสลาม
-https://www.assiddeek.net/content_sharia/cate/2
-https://www.skthai.org/th/articles/112969
-https://th.wikipedia.org/wiki/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.