ซอสและเครื่องปรุง Soft Power ของไทย ในตลาดโลก

ซอสและเครื่องปรุง Soft Power ของไทย ในตลาดโลก

6 ก.ค. 2022
ซอสและเครื่องปรุง Soft Power ของไทย ในตลาดโลก /โดย ลงทุนแมน
5.7% ของโลก คือสัดส่วนการส่งออกซอสและเครื่องปรุงรสของประเทศไทย ในปี 2562
ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 24,367 ล้านบาท และเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
ในปี 2564 ยอดการส่งออกนี้เติบโตขึ้นมาเป็น 29,878 ล้านบาท
และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2565
เฉพาะเพียง 4 เดือนแรก ก็มียอดการส่งออกเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 21%
โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมซอสและเครื่องปรุงรสของไทยคืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากเทียบกับสินค้าส่งออกอื่น ๆ ซอสและเครื่องปรุงรสของไทย อาจเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก
แต่สัดส่วนการส่งออกสินค้าเหล่านี้ของไทยในตลาดโลก ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่า 14,409 ล้านบาท ในปี 2554 คิดเป็นสัดส่วน 4.7% ของโลก
เติบโตมาสู่ 29,878 ล้านบาท ในปี 2564 หรือคิดเป็นการเติบโตถึง 2 เท่าในช่วงเวลา 10 ปี
และมีความเป็นไปได้สูง ที่สัดส่วนของซอสและเครื่องปรุงรสไทยในตลาดโลก
จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ถึงแม้หนึ่งในสาเหตุของยอดส่งออก ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
จะมีที่มาจากการที่แต่ละประเทศมีการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด 19
แต่สาเหตุสำคัญมีที่มาจากการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกปีช่วงก่อนการระบาด และด้วยความที่ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลิตผลทางการเกษตร ที่พัฒนามาสู่วัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย และเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวในไทย
ยอดการส่งออกซอสและเครื่องปรุงรสของไทย มูลค่า 29,878 ล้านบาท ในปี 2564
มีสินค้าหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
- ผงปรุงรส มูลค่า 7,196 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24%
- ซอสพริก มูลค่า 4,398 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
- น้ำปลา มูลค่า 2,138 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9%
- เครื่องแกงสำเร็จรูป มูลค่า 1,938 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7%
- ซอสถั่วเหลือง มูลค่า 1,382 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องปรุงรสอื่น ๆ เช่น น้ำจิ้ม น้ำพริก รวมกันคิดเป็นสัดส่วนอีกกว่า 30%
โดยจุดหมายปลายทางการส่งออกหลักของซอสและเครื่องปรุงรสไทย ได้แก่
1. สหรัฐอเมริกา 13%
2. ญี่ปุ่น 8%
3. ฟิลิปปินส์ 8%
4. ออสเตรเลีย 6%
5. เนเธอร์แลนด์ 6%
6. มาเลเซีย 5%
จะเห็นว่า จุดหมายปลายทางที่สำคัญของซอสและเครื่องปรุงรสไทย จะแบ่งหลัก ๆ
ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน และประเทศร่ำรวยในแถบยุโรป ออสเตรเลีย
ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศคู่ค้า FTA ของไทย มีความนิยมในสินค้าไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาหารและสินค้าส่งออกของไทย ก็ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
ในส่วนของประเทศร่ำรวย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือแถบยุโรปตะวันตก
กลุ่มนี้มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทย ก็ได้มีโอกาสลิ้มลองอาหารไทย เมื่อถูกใจก็มีความต้องการหาซื้อสินค้าจำพวกเครื่องปรุงรสที่นำเข้าจากไทย
อีกสาเหตุหนึ่งมาจาก การเพิ่มจำนวนขึ้นของประชากรเชื้อสายเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงคนไทยในประเทศเหล่านี้ ผู้คนเหล่านี้มีความนิยมอาหารสไตล์เอเชียอยู่แล้ว เมื่อมีคนไทยนำไปเผยแพร่
ก็ทำให้ซอสและเครื่องปรุงรสของไทยได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความท้าทายสำคัญ ก็คือ วัตถุดิบและเครื่องเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะพริก
ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สุดของการทำซอสและเครื่องปรุงรสแทบทุกชนิด แต่มีการเพาะปลูกในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมซอสและเครื่องปรุงรส
ไทยจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าพริกจากประเทศจีนและอินเดีย
ซึ่งหากเกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในต่างประเทศ หรือปัญหาจากการขนส่ง
ก็จะส่งผลต่อการผลิตและส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยได้
ถึงแม้จะมีความท้าทายในเรื่องวัตถุดิบ แต่หากบริหารจัดการให้ดี ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ที่ประเทศไทยสามารถสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรได้
โดยมีผู้ประกอบการมากมาย ทั้งที่อยู่ในตลาดหุ้น เช่น บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด (XO), บริษัท ไทยเทพรส (SAUCE) และบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้น เช่น
บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) ผู้ผลิตน้ำปลาแบรนด์ทิพรส,
บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ ผู้ผลิตเครื่องแกงแบรนด์โลโบ,
บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น ผู้ผลิตซอสถั่วเหลืองตราเด็กสมบูรณ์,
บริษัท อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง ผู้ผลิตน้ำพริกแบรนด์พันท้ายนรสิงห์ ฯลฯ
ภาคการท่องเที่ยว เป็นจุดเริ่มต้นความนิยมในซอสและเครื่องปรุงรสไทยของชาวต่างชาติ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ซอสและเครื่องปรุงรสเหล่านี้ ก็เป็น Soft Power ที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวในประเทศไทยได้เหมือนกัน
สิ่งสำคัญที่สุด คือการผลักดันร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการโปรโมตอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลก
หากเราสามารถนำ Soft Power นี้ สอดแทรกเข้าไปในการโปรโมตการท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาสินค้า, มิวสิกวิดีโอเพลง ไปจนถึงละครไทยที่เผยแพร่ให้กับชาวต่างชาติ
โอกาสที่ซอสและเครื่องปรุงรสของไทย จะเติบโตกลายเป็นสินค้าระดับโลก
เหมือนกับที่เกาหลีใต้ได้สอดแทรกอาหาร และเครื่องดื่มลงไปในซีรีส์
จนสิ่งเหล่านี้ครองใจคนทั้งโลก ไม่ต่างกับซีรีส์เกาหลี
ถ้า Soft Power ในซีรีส์เกาหลี คือการได้เห็นนางเอกดื่มโซจู หรือกินรามยอน
ก็ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจต้องให้ชาวต่างชาติดู นางเอกกินน้ำพริกในซีรีส์ไทย ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://atlas.cid.harvard.edu/explore?country=undefined&product=826&year=2019&productClass=HS&target=Product&partner=undefined&startYear=undefined
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomRecode&ImExType=1&Lang=Th
-https://api.dtn.go.th/files/v3/60d1648cef41405af15f6e2e/download
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.