ด่วน SCBX กำลังพิจารณา ขายธุรกิจกองทุน

ด่วน SCBX กำลังพิจารณา ขายธุรกิจกองทุน

8 ก.ค. 2022
ด่วน SCBX กำลังพิจารณา ขายธุรกิจกองทุน
ล่าสุด สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า SCBX กำลังพิจารณาขายกิจการหลักทรัพย์จัดการกองทุน
โดยคาดว่ามูลค่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 36,000 ถึง 54,000 ล้านบาท
หากเรามาดูผลประกอบการของบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ปี 2562 รายได้ 6,355 ล้านบาท กำไร 1,492 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 6,132 ล้านบาท กำไร 1,488 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 6,845 ล้านบาท กำไร 1,596 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนของ SCBX เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีรายได้ และกำไรสม่ำเสมอ มีอัตรากำไรที่ดี ซึ่งหากเทียบเป็นมูลค่าการขายกิจการ ต่อกำไรเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะคิดเป็นอัตราส่วนมูลค่าต่อกำไร หรือ P/E ในช่วงระหว่าง 22 ถึง 33 เท่า
เรื่องนี้น่าสนใจก็เพราะว่า
ในยุค 10 ปีที่แล้ว SCB ใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า Universal Banking ที่ให้บริการทางการเงินครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อ ประกัน กองทุน และบัตรเครดิต
แต่มาในวันนี้ SCB กลับอยากทำตรงกันข้าม นั่นก็คือ ขายบางธุรกิจทิ้ง แล้วโฟกัสในบางสิ่ง โดยผันตัวเองมาเป็นบริษัท Holdings ชื่อ SCBX ที่มีความคล่องตัวในการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ
ซึ่งก่อนหน้านี้ SCB ได้ขายธุรกิจที่ตัวเองถืออยู่เรื่อยมา
- เริ่มจากการขายธุรกิจประกันวินาศภัย ที่ตอนนั้นมีชื่อว่าสามัคคีประกันภัย ให้แก่ ชับบ์
- ต่อมาก็ขายธุรกิจประกันชีวิต ที่มีชื่อว่าไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ไปให้ FWD
- มาวันนี้ SCBX ก็พิจารณาที่จะขายธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนออกมา
แล้วทำไม SCBX ถึงต้องการขายธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ?
ความเป็นไปได้อย่างแรกเลยก็คือ แนวโน้มการซื้อกองทุนของผู้บริโภคในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากอดีต
ต้องยอมรับว่า ในยุคนี้คนรุ่นใหม่ที่ซื้อกองทุนไม่ได้เดินเข้าธนาคารเหมือนในอดีต และคนก็ไม่ได้อยากซื้อกองทุนที่เป็นเครือข่ายของธนาคารที่พนักงานธนาคารแนะนำให้เท่านั้น
คนซื้อกองทุนในสมัยนี้มีความรู้มากขึ้น และอยากเปรียบเทียบกองทุนแต่ละกอง แต่ละนโยบายด้วยตัวเอง โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมาจาก บริษัทจัดการกองทุนเจ้าไหน
ดังนั้นถ้าธนาคารยังขายกองทุนเฉพาะกองทุนที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ในอนาคต ธนาคารก็คงยากที่จะสู้กับธนาคารอื่น หรือแพลตฟอร์มอื่นที่ทำตัวเป็นนายหน้า มี Shelf ชั้นวางสินค้าจากทุกกองทุน ทุกบริษัทจัดการกองทุนให้เลือกสรร
และถึงแม้ว่าในตอนนี้ธนาคารจะทำตัวเป็นนายหน้า มี Shelf วางกองทุนจากบริษัทอื่นให้เลือกอยู่แล้ว แต่การที่ธนาคารเป็นเจ้าของบางบริษัทจัดการกองทุนในนั้น มันก็จะเป็น Conflict หรือขัดแย้งกับการเป็นนายหน้าของตัวเองอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับการขายธุรกิจประกันที่ SCB อยากผันตัวเป็นแค่นายหน้าเช่นกัน
ดังนั้นการที่ธนาคารจะขายธุรกิจจัดการกองทุนออกไป ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในยุคนี้
และนอกจาก SCB แล้ว เทรนด์นี้ก็น่าจะทำให้ธนาคารอื่น ๆ ทำตามในอนาคตเช่นกัน
ตามที่มีข่าวเมื่อช่วงต้นปีว่า KBank ก็กำลังพิจารณาขายธุรกิจจัดการกองทุนออกไปเหมือนกัน
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำธุรกิจ
เมื่อวันใดที่ Landscape อุตสาหกรรมเปลี่ยนไป ผู้บริหารก็ต้องปรับตัวไปกับสภาพแวดล้อมนั้น และไม่ยึดติดกับวัฒนธรรมเดิมที่จะต้องครอบครองทุกอย่างไว้กับมือ
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กลยุทธ์ของ SCBX ที่เป็นคนละขั้วกับ SCB ในอดีตจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และดีลการขายธุรกิจจัดการกองทุนของ SCB ใครจะมาซื้อไป
แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ
อุตสาหกรรมการเงินของไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิม หรือแบบ FinTech น่าจะมีการแข่งขันกันสูงในอนาคต เพราะต่างฝ่ายก็รู้จุดเด่น จุดอ่อนของคู่แข่ง และอยากคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นจากสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป
ซึ่งผู้เล่นในตลาดเดิม และผู้เล่นหน้าใหม่ ก็คงจะต้องปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ถ้าใครเดินช้า ก็อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็แข่งกับคนอื่นได้ยากแล้ว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-07-08/scb-x-said-to-weigh-options-for-1-5-billion-asset-manager-unit
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.