ประเทศเนเธอร์แลนด์ พลิกผืนดินต่ำกว่าน้ำทะเล ให้อยู่อาศัยได้

ประเทศเนเธอร์แลนด์ พลิกผืนดินต่ำกว่าน้ำทะเล ให้อยู่อาศัยได้

13 ก.ค. 2022
ประเทศเนเธอร์แลนด์ พลิกผืนดินต่ำกว่าน้ำทะเล ให้อยู่อาศัยได้ /โดย ลงทุนแมน
“กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำในปี ค.ศ. 2030”
คงเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนได้ยินกันมาไม่น้อย
แต่รู้หรือไม่ว่ามีประเทศหนึ่งในทวีปยุโรปที่จมน้ำไปเรียบร้อยแล้ว เพราะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาของตัวเอง
ประเทศที่ว่านี้จึงสามารถสร้างเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ
ทำให้พื้นที่ของประเทศแห่งนี้ สามารถอยู่อาศัยได้
เรากำลังพูดถึง “ประเทศเนเธอร์แลนด์”
พวกเขาทำได้อย่างไร ?
เป็นไปได้หรือไม่ที่กรุงเทพฯ อาจรับมือกับความเสี่ยงในการจมน้ำได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1000 เป็นต้นมา เนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับพายุรุนแรงมาโดยตลอด
โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ 9 ปี ภัยพิบัติที่ว่านี้ ก็จะเดินทางมาเยือนแบบไม่ได้รับเชิญอยู่เสมอ
แต่พายุไม่ได้เดินทางกลับไปด้วยตัวคนเดียว เพราะยังลากชาวดัตช์กว่า 360,000 ชีวิตไปด้วย
ในปี ค.ศ. 1932 รัฐบาลของเนเธอร์แลนด์ จึงได้เริ่มต้นโครงการ “Zuiderzee” ขึ้น
ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับเขื่อนขนาดยาวกว่า 30 กิโลเมตรทางด้านตอนเหนือของประเทศ
ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เป้าหมายการฟื้นฟูประเทศ กลายเป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญ งบประมาณและการจัดการน้ำจึงถูกละเลยไปในขณะนั้น
แต่แล้ว พายุก็เดินทางมาเยือนประเทศแห่งนี้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1953
ด้วยสภาพของระบบการป้องกันที่ไม่ได้รับการดูแลมากนัก
เมื่อทำนบกั้นน้ำพังทลาย น้ำจึงเข้าท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่
ความสูญเสียที่เนเธอร์แลนด์เผชิญ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 5,400 ล้านยูโร และที่ประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้เลยก็คือ ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปเกือบ 2,000 คน สัตว์ที่ล้มตายไปถึง 10,000 ชีวิต และบ้านเรือนที่เสียหายจำนวนมาก
การละเลยระบบจัดการน้ำในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
นำมาสู่การตัดสินใจเริ่มแผน “Delta Works” เพื่อสร้างระบบจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
แผนงานนี้มีทั้ง ประตูล็อกกั้นน้ำ เขื่อน ทำนบกั้นน้ำ และเขื่อนกั้นพายุทะเล
เพื่อเป็นโครงสร้างสำคัญในการจัดการน้ำในช่วงเวลาปกติ และป้องกันน้ำในช่วงที่มีพายุมาเยือน
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างพื้นที่ว่างให้แม่น้ำ (River Room)
โดยขยายพื้นที่ริมแม่น้ำให้กว้างขึ้นและกั้นด้วยทำนบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว
แล้วระบบเท่านี้ เพียงพอหรือยังสำหรับการป้องกันน้ำท่วม ?
คำตอบ คือ “ยังไม่เพียงพอ”
ซึ่งเนเธอร์แลนด์ได้วางระบบสนับสนุนการทำงานเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุม
และให้เป็นระบบเดียวกัน ทำให้การจัดการน้ำสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
โดยระบบสนับสนุนแรกมีชื่อว่า “ระบบคาดการณ์และติดตาม”
หน่วยงานที่มีชื่อว่า ศูนย์จัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ (WMCN) จะคอยคาดการณ์การเกิดพายุ สั่งปิดประตูเขื่อน และเตือนภัยเมื่อระดับน้ำถึงจุดในระดับความเสี่ยงต่าง ๆ
ซึ่งการเตือนภัยจะแบ่งออกเป็นระดับสีที่แตกต่างกันออกไป
ตั้งแต่สีเขียวที่ไม่น่ากังวล ไปจนถึงสีแดงที่น่ากังวล และต้องเตรียมอพยพผู้คนออกจากพื้นที่
ศูนย์นี้ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานการสื่อสารยามวิกฤติของประเทศ (NKC) เพื่อกระจายข่าว
แจ้งเตือนผู้คนให้รับรู้เหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที และคอยประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วม ผ่านคู่มือการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ
ระบบต่อมา คือ “ระบบซ่อมบำรุง”
สิ่งนี้ก็มีความสำคัญในการจัดการน้ำทั้งระบบ เพราะหากมีปัญหาในการใช้งาน
ระบบจัดการน้ำทั้งหมดจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
โดยก่อนฤดูฝนจะมาเยือน
จะมีการทดสอบการทำงานในทุก ๆ 2 อาทิตย์, 3 เดือน หรือ 1 ปี สลับกันไป
หากพบปัญหา ก็จะมีการเข้าไปแก้ไข หรือเปลี่ยนอะไหล่
นอกจากดูแลอุปกรณ์แล้ว บุคลากรทำงาน ก็เป็นส่วนสำคัญ
ซึ่งจะได้รับการฝึกอบรมในช่วงเดียวกัน
โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า เมื่อใช้งานจริง ระบบทั้งหมดจะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
และอีกส่วนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ
“ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล”
เนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ให้ประเทศต่าง ๆ มาเรียนรู้ระบบการจัดการน้ำ
เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนี้มากขึ้น
อีกทั้งยังเข้าร่วมเครือข่ายเขื่อนกั้นพายุระหว่างประเทศ ความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้แลกเปลี่ยนกัน
ทำให้เนเธอร์แลนด์สามารถพัฒนานวัตกรรมการจัดการน้ำต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง
นอกจากระบบที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์แล้ว เนเธอร์แลนด์ยังใช้ประโยชน์จากธรรมชาติด้วยการสร้างระบบ “Sand Motor” โดยการนำทรายปริมาณมหาศาลไปเทบริเวณปากอ่าว เพื่อทับถมให้กลายเป็นกำแพงกั้นคลื่นเพิ่มเติม
ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเนเธอร์แลนด์
ด้วยการใช้ความรู้ทางวิศวกรรมในการจัดการน้ำ สร้างระบบสนับสนุนการทำงาน และผสมผสานวิธีการจัดการให้เป็นไปตามธรรมชาติของน้ำ
และพื้นที่เหล่านี้เอง ก็ยังได้กลายเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
ให้กับผู้คนในประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มเติม
กลับมามองยังกรุงเทพฯ ที่แนวโน้มการจมน้ำคืบคลานเข้ามาใกล้ในทุก ๆ วัน
การมีเมกะโปรเจกต์สำหรับเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี
แต่หากเป็นเพียงแค่โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
แต่ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร หรือวางแผนให้ครอบคลุม
มันก็ยังไม่สามารถยืนยันความสำเร็จได้
เพราะเนเธอร์แลนด์คงเป็นบทเรียนที่ดีว่าการจัดการน้ำ
ต้องมีทั้งระบบโครงสร้างใหญ่ และระบบสนับสนุนการทำงานที่เพียงพอ
ก็อดคิดไม่ได้เลยว่า หากไทยเราไม่ได้มีแผนที่ชัดเจน ไม่แน่ว่าเราอาจเห็นทะเลกรุงเทพฯ ที่แท้จริง ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/the-flood-of-1953#dykes-are-breached-with-disastrous-consequences
-https://climate-laws.org/geographies/netherlands/laws/delta-act-on-water-safety-and-fresh-water-supply-delta-act
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/delta-works#other-benefits
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/storm-surge-barriers
-https://www.i-storm.org/
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/sand-motor
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/room-for-the-rivers
-https://www.bbc.com/thai/international-59204934
-https://www.britannica.com/place/Netherlands
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_floods_in_the_Netherlands
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.