ไทยจะสามารถผลิต ปุ๋ยเคมี ได้เองหรือไม่ ?

ไทยจะสามารถผลิต ปุ๋ยเคมี ได้เองหรือไม่ ?

12 ก.ค. 2022
ไทยจะสามารถผลิต ปุ๋ยเคมี ได้เองหรือไม่ ? /โดย ลงทุนแมน
71% คืออัตราที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทำให้มูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีในปีนี้ อาจทะลุ 100,000 ล้านบาท
ซึ่งจะส่งผลกระทบมาสู่ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่จะเพิ่มขึ้น และทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนกว่า 90%
นำมาสู่คำถามที่ว่า หากประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีด้วยตัวเอง
ประเทศของเรามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
อย่างที่เรารู้กันดีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และส่งออกผลิตผลทางการเกษตรหลายชนิดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน
เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้ปุ๋ยเคมี เป็นตัวช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตให้งอกงาม
ธาตุอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ประกอบไปด้วย 3 ชนิด คือ N P K หรือธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
พืชจะเจริญเติบโตได้ดี ก็ต่อเมื่อในดินมีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์
แต่ดินส่วนใหญ่บนโลก มีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่น้อยมาก เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเติมปุ๋ยเคมีลงไปในดิน
เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงาม
ซึ่งปุ๋ยเคมีที่สำคัญก็คือ ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสฟอรัส และปุ๋ยโพแทสเซียม
ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของปุ๋ยเคมีที่ใช้ในประเทศ
โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี คิดเป็นมูลค่า 44,000 ล้านบาท
ประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. จีน มูลค่า 6,850 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16%
2. ซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 6,809 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
3. รัสเซีย มูลค่า 4,842 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11%
4. มาเลเซีย มูลค่า 3,841 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9%
5. แคนาดา มูลค่า 3,705 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8%
โดยสัดส่วนของปุ๋ยที่นำเข้า จะประกอบไปด้วย
ปุ๋ยเชิงเดี่ยว หรือปุ๋ยที่มีธาตุอาหารเพียงชนิดเดียว เป็นสัดส่วนราว 56%
และปุ๋ยผสม ที่ประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลายชนิด เป็นสัดส่วน 44%
ในสัดส่วนของปุ๋ยเชิงเดี่ยว ที่ไทยต้องนำเข้า 56% ประกอบไปด้วย
ปุ๋ยไนโตรเจน สัดส่วนราว 44% ของปุ๋ยที่นำเข้าทั้งหมด
และปุ๋ยโพแทสเซียม สัดส่วนราว 12%
ส่วนปุ๋ยฟอสฟอรัส ซึ่งมีที่มาจากแร่ฟอสเฟต ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตได้เอง
เนื่องจากแร่ฟอสเฟตมักเกิดจากการสะสมของมูลสัตว์ในบริเวณเขาหินปูน
ซึ่งจะพบได้มากบริเวณภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศ
ทำให้การนำเข้าปุ๋ยฟอสฟอรัสมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ดังนั้น หากจะพัฒนาอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีด้วยตัวเอง
หมายความว่า ไทยจะต้องผลิตปุ๋ยไนโตรเจน และปุ๋ยโพแทสเซียมให้ได้
เริ่มจากปุ๋ยไนโตรเจน..
ปุ๋ยไนโตรเจนเป็นผลิตผลของก๊าซธรรมชาติ และราคาที่สูงขึ้นมากในช่วงเวลานี้ มีสาเหตุหลักมาจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนรายใหญ่ของโลก เพราะเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติมากที่สุด
กระบวนการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน มีสารตั้งต้นมาจากการผลิตแอมโมเนีย ซึ่งเกิดจากการที่
ก๊าซไนโตรเจน ทำปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจน
ซึ่งก็เป็นก๊าซไฮโดรเจนนี้เอง ที่นำมาจากการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติ เช่น ก๊าซมีเทน
ประเทศที่ส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลักของโลก จึงเป็นประเทศที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองอย่างมหาศาล เช่น รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ หรือประเทศแถบตะวันออกกลาง
ไทยนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจน เป็นสัดส่วน 44%
โดยมีบริษัทนำเข้าหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC
หรือชื่อเดิมคือ บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด เป็นผู้นำในการนำเข้าแอมโมเนีย
เพื่อมาผสมเป็นปุ๋ยเคมีสูตรผสมขายให้แก่เกษตรกรในประเทศ
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ และมีอุตสาหกรรมโรงแยกก๊าซเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ที่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่า เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สารตั้งต้นพลาสติก หรือนำก๊าซไปบรรจุเป็นก๊าซสำหรับยานยนต์ หรือ NGV
นั่นทำให้ก๊าซธรรมชาติของไทย ถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งให้มูลค่ามากกว่าการนำมาทำปุ๋ยเคมี
เมื่อปุ๋ยไนโตรเจนไม่คุ้มค่าพอ ทางออกของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทยจึงมาอยู่ที่
“ปุ๋ยโพแทสเซียม”..
ปุ๋ยโพแทสเซียมผลิตจากแร่โพแทช ซึ่งมักพบรวมกันกับเกลือหิน หรือ Rock Salt
ประเทศที่ส่งออกปุ๋ยโพแทสเซียมมากที่สุดในโลกคือ แคนาดา
ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าปุ๋ยโพแทสเซียม ประมาณปีละ 0.7 ล้านตัน
คิดเป็นมูลค่าราว 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปี
สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชอยู่ใต้ดินประมาณ 400,000 ล้านตัน
ซึ่งพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และสกลนคร โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี ที่มีแร่ซิลไวต์ ซึ่งเป็นแร่โพแทชคุณภาพดี เหมาะที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยโพแทสเซียม
ปัจจุบันมีเหมืองโพแทช 2 โครงการ ที่ได้รับอนุมัติประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม
คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา
กับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ
และมีอีก 1 โครงการที่จังหวัดอุดรธานี อยู่ระหว่างการรออนุมัติประทานบัตร
ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถสกัดโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองโพแทช ก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จนเกิดการคัดค้านมายาวนาน
โดยเฉพาะการปนเปื้อนแร่โพแทชในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งน้ำใต้ดิน และน้ำบนดิน ทำให้แหล่งน้ำในบริเวณนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชน และการทำเกษตรกรรมในละแวกใกล้เคียง
การขุดเจาะเหมือง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินทรุด รวมไปถึงเหมืองโพแทชยังต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ซึ่งจะมาแย่งน้ำกับชุมชนใกล้เคียงในการทำเกษตรกรรม
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า การจัดตั้งเหมืองแร่โพแทช ต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมปุ๋ยโพแทสเซียม จะมีความคุ้มค่าเพียงพอกับความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลิตแร่โพแทชได้เอง ก็จะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยโพแทสเซียมได้ปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการธุรกิจปุ๋ยเคมีของไทยก็สามารถพัฒนาจนกลายเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยโพแทสเซียมได้

สิ่งสำคัญคือการลดต้นทุนของเกษตรกร ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของไทยถูกลง
สามารถส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น และยังเพิ่มความมั่นคงในห่วงโซ่ของภาคเกษตรกรรม
ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อนี้ จะส่งผลต่อราคาปุ๋ยเคมีไปอีกนานแค่ไหน แต่ในเวลานี้ เกษตรกรทั่วประเทศกำลังรับภาระค่าปุ๋ยที่สูงขึ้นมาก ซึ่งภาระนี้ก็จะถูกส่งต่อมาสู่ราคาผลิตผลทางการเกษตร ในอีกไม่นานนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-http://www.dpim.go.th/maincontent/viewdetail?catid=116&articleid=6616
-https://www.scbeic.com/en/detail/product/1174
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Chemicals/Chemical-Fertilizers/IO/io-chemical-fertilizers-20
-https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Fertilizer-FB-26-05-2022-01.aspx
-https://www.bangkokbiznews.com/business/1012570
-https://www.prachachat.net/columns/news-832193
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.