ค่าเงินอ่อน คืออะไร ?

ค่าเงินอ่อน คืออะไร ?

[ประเด็นสำคัญ] ค่าเงินอ่อน คือ สกุลเงินที่เราสนใจนั้นมีค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น
ค่าเงินอ่อน หมายถึง สกุลเงินที่เราสนใจมีค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น
หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ เราต้องใช้สกุลเงินที่เราสนใจจำนวนมากขึ้น ในการแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
ปี 2019 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท
ปี 2020 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32 บาท
แปลว่า ปี 2020 เงินบาทอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
เพราะต้องใช้เงินบาทจำนวนมากขึ้น ในการแลกเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่าเดิม
ปัจจัยที่มีผลทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน หากลองยกตัวอย่างในรูปของสกุลเงินบาท จะเป็นดังนี้
- ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ซึ่งหากประเทศอื่นดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เช่น สหรัฐอเมริกา ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น จนเกิดความต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศ หรือ Interest Rate Differential
ความต่างของอัตราดอกเบี้ยนี้ จะทำให้การลงทุนในตราสารหนี้หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกาได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มี เรตติงประเทศที่ดีกว่าด้วย
เงินทุนก็จะไหลออกเพื่อไปรับผลตอบแทนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ผลตอบแทนที่มากกว่า เงินบาทจึงมีความต้องการลดลงเมื่อมีคนแลกคืนเงินบาทจำนวนมาก เงินบาทจึงอ่อนค่าลง
- ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ จากการนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่าที่ส่งออก
เพราะเมื่อมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก แปลว่าเราต้องการสกุลเงินต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
ทำให้สกุลเงินต่างประเทศแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท
ซึ่งการท่องเที่ยวก็ถือเป็นหนึ่งในดุลบริการ เมื่อนักท่องเที่ยวลดลงก็มีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน
- ต่างชาติลดการลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนทางตรง เช่น เลิกกิจการ, ปิดโรงงานหรือสาขา
และลดการลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น การเทขายหุ้น หรือเทขายตราสารหนี้ ส่งผลให้ความต้องการเงินบาทน้อยลงไปด้วย
- เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศไม่มั่นคง ทำให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่นที่จะถือเงินบาท และย้ายไปถือครองค่าเงินหรือสินทรัพย์อื่น ๆ แทน
สำหรับในกรณีสกุลเงินสำคัญของโลก ที่ถูกใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ
ถ้าความต้องการในการถือดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองฯ ลดลง ก็มีผลทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงได้เช่นกัน
แล้วใครบ้าง ที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินที่อ่อนค่าลง ?
- กลุ่มผู้ส่งออก
เพราะต่างชาติใช้เงินจำนวนน้อยลง ในการซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม ทำให้สินค้ามีราคาถูกลงในสายตาต่างชาติ และอาจส่งผลให้ซื้อสินค้าจากเราในปริมาณมากขึ้น แต่ในกรณีนี้ประเทศคู่ค้าของเราต้องไม่ได้มีค่าเงินอ่อนลงตามกันไปด้วย
- ธุรกิจท่องเที่ยว
เพราะชาวต่างชาติอาจเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
- คนที่ทำงานหรือมีรายได้ในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ
หากมีการส่งเงินกลับประเทศ ก็จะแลกได้เป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น
ในมุมกลับกัน ใครเป็นผู้ที่เสียประโยชน์จากค่าเงินที่อ่อนค่าลง ?
- ธุรกิจนำเข้าสินค้า รวมถึงการลงทุนซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ
เพราะต้องใช้เงินบาทจำนวนมากขึ้น ในการนำเข้าสินค้าปริมาณเท่าเดิม
- คนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะจะมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้นเมื่อคิดเป็นมูลค่าของเงินบาท
- คนที่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพราะต้องใช้เงินบาทจำนวนมากขึ้น ในการจ่ายหนี้เท่าเดิม
ทั้งนี้ เรายังสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ ด้วยการทำ “สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า” ซึ่งก็เป็นหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราได้
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon