เงินเฟ้อ 79% ในตุรกี ที่เกิดจากความตั้งใจ ของรัฐบาล

เงินเฟ้อ 79% ในตุรกี ที่เกิดจากความตั้งใจ ของรัฐบาล

19 ก.ค. 2022
เงินเฟ้อ 79% ในตุรกี ที่เกิดจากความตั้งใจ ของรัฐบาล /โดย ลงทุนแมน
นาทีนี้ ถ้าพูดถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องเงินเฟ้อ
โดยล่าสุดเงินเฟ้อจากหลายประเทศทั่วโลก ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- เงินเฟ้อของสหภาพยุโรปล่าสุดอยู่ที่ 8.6% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาล่าสุดอยู่ที่ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี
ในตอนนี้ “ประเทศตุรกี” กำลังเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่า 79%
ซึ่งมากกว่าเงินเฟ้อล่าสุดของไทยที่ 7.6% เกินกว่า 10 เท่าเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เบื้องหลังของเงินเฟ้อ 79% นี้
ส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจของรัฐบาลตุรกีเอง
แล้วรัฐบาลตุรกี มีเหตุผลอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของปัญหาเงินเฟ้อในครั้งนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2014 หรือเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน
ซึ่งเป็นปีที่ เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของตุรกี
โดยในตอนนั้น ประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ต้องการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโต
โดยสิ่งแรกที่เขาทำในตอนนั้นคือ เพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศ
ผ่านการก่อหนี้ของรัฐบาลเพื่อมาลงทุน
โดยทั่วไปแล้วการดำเนินนโยบายลงทุนในโครงการต่าง ๆ ถือเป็นนโยบายการคลัง
ซึ่งก็จะมีภาครัฐเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม ยังเหลือเครื่องมือที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง
นั่นก็คือ “นโยบายทางการเงิน” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีทางธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้ดูแล
ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลจะไม่ได้มีหน้าที่ในการบริหารนโยบายทางการเงิน
แต่ในตอนนั้นประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน
กลับตัดสินใจเข้าแทรกแซงการบริหารนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางตุรกี ให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เขาตั้งใจไว้
แล้วการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ?
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางลง จะส่งผลให้ อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน และของธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับลดลงตาม ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการ
อยากที่จะกู้ยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง
ในเวลาเดียวกันนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง ก็จะทำให้ผู้คนไม่ต้องการฝากเงินไว้กับธนาคาร เนื่องจากได้รับผลตอบแทนน้อย และเลือกที่จะนำเงินเหล่านั้น ไปจับจ่ายใช้สอยแทน
ภายใต้กลไกดังกล่าวนี้ ก็จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การลงทุน การบริโภค ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

ด้วยแนวคิดพื้นฐานนี้ บวกกับความเชื่อของเขาที่ว่า
“อัตราดอกเบี้ยที่สูงกลับช่วยให้นายทุนร่ำรวยขึ้น แต่กลับทำร้ายคนจน”
ทำให้ประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ต้องการกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ
ในช่วง 3 ปีแรก ก็เหมือนว่าการดำเนินนโยบายในครั้งนี้ จะได้ผลลัพธ์ตามที่เขาต้องการ
เพราะในช่วงปี 2014 ถึงปี 2017 นั้น GDP ของตุรกีเติบโตเฉลี่ยมากถึงปีละ 5.5%
เท่านั้นยังไม่พอ สัดส่วนคนจนในประเทศก็มีจำนวนลดลง ในขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางนั้นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วเกินไป แต่ระดับการออมของประชากรในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ
บวกกับในช่วงเวลานั้น ตุรกียังต้องทำสงครามในประเทศซีเรีย
เศรษฐกิจตุรกีจึงเริ่มได้รับผลกระทบ โดยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ 1.2 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2018
ตุรกีจึงต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ผ่านการกู้หนี้เงินตราต่างประเทศ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ หนี้ต่างประเทศต่อ GDP จึงค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 44% ในปี 2014 มาอยู่ที่ 54% ในปี 2018
เหตุการณ์ความไม่สงบภายในตุรกี ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศที่เคยไหลเข้า ก็เปลี่ยนมาเป็นค่อย ๆ ไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินลีราตุรกีอ่อนค่าลง
โดยในปี 2018 เพียงปีเดียว ค่าเงินลีราตุรกี อ่อนค่าลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินที่อ่อนค่าลง ทำให้สินค้านำเข้านั้นมีราคาแพงขึ้น เงินเฟ้อในประเทศจึงปรับเพิ่มขึ้นตาม
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว วิธีที่จะช่วยยับยั้งการอ่อนค่าของค่าเงิน และลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้นั้น
คือ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น
เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกปรับสูงขึ้น ก็จะทำให้เงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้ามา
ซึ่งช่วยให้ค่าเงินของประเทศนั้นแข็งค่าขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศนั้นลดลงมาได้บ้าง
แต่แนวคิดนี้ กลับถูกปฏิเสธโดยประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน มิหนำซ้ำเมื่อปลายปีที่แล้ว
เขายังกดดันให้ธนาคารกลางของตุรกีลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก
แม้หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาคิด
โดยเฉพาะผู้ว่าการธนาคารกลางของตุรกี
แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ฟังใคร เพราะเขาได้ไล่ผู้ว่าการธนาคารกลางออกแล้ว
รวมทั้งหมด 4 คน ในรอบ 2 ปีมานี้..
เมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ตุรกียังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จาก 15% ไปเป็น 14%
รวมถึงผลักดันให้ธนาคารของรัฐ เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจ
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืม, นำไปใช้ลงทุน รวมถึงกระตุ้นการบริโภคต่าง ๆ
โดยประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ให้เหตุผลว่า ค่าเงินลีราตุรกีที่อ่อนค่าลง จะยิ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของประเทศ และผู้บริโภคต่างชาติก็จะต้องการซื้อของจากตุรกีมากขึ้นไปอีก
แต่แน่นอนว่าเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ
ในมุมกลับกัน ยิ่งค่าเงินลีราตุรกีอ่อนลงมากเท่าไร
ต้นทุนสินค้านำเข้าก็จะยิ่งแพงขึ้นมากเท่านั้น
เมื่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าแพงขึ้น จนผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว
ต้นทุนเหล่านั้นก็จะถูกส่งมายังผู้บริโภค ผ่านการขึ้นราคาสินค้าต่าง ๆ
และเมื่อราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นก็หมายถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2019
และยังส่งผลลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน
โดยล่าสุดเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งไปถึง 79% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ที่ตุรกีเคยเจอ
แน่นอนว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงระดับนี้ ทำให้ประชาชนกว่า 85 ล้านคนในประเทศตุรกี
ได้รับผลกระทบ จนทำให้อำนาจในการซื้อของเงินในมือลดลง
เรื่องนี้ยังทำให้ เหล่านักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตุรกี
สูญเสียความเชื่อมั่น และกำลังขาดทุนจากการที่เงินลีราตุรกีอ่อนค่าลง
ซึ่งก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขายเงินลีราตุรกีทิ้ง แล้วขนเงินกลับประเทศ
ซึ่งหมายถึงเงินทุนต่างประเทศไหลออก แล้วก็จะวนลูปกลับมาทำให้ค่าเงินลีราตุรกีอ่อนค่าลงไปอีก
หากไม่มีแนวทางการแก้ไขโดยเร็ว
ถึงตรงนี้ เราสามารถสรุปได้ว่าวิกฤติเงินเฟ้อในตุรกี
ที่มันดูรุนแรงมากกว่าประเทศอื่นในช่วงนี้
หลัก ๆ แล้ว เกิดจากการตัดสินใจและความเชื่อในทางที่ผิดของผู้นำ
แม้จะเป็นเพียงความคิดของคนคนเดียว แต่มันได้สร้างความเสียหายต่อประชากร ทั้งประเทศกว่า 85 ล้านคน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.theguardian.com/business/2022/jul/01/inflation-in-eurozone-hits-record-86-as-ukraine-war-continues#:~:text=Inflation%20across%20the%20eurozone%20has,the%20cost%20of%20living%20crisis.
-https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_admin_sum/indices_all.pdf
-https://www.bot.or.th/App/FinancialLiteracy/ExchangeRate/01_01_contentdownload_inflation.pdf
-https://indianexpress.com/article/explained/turkey-economy-lira-inflation-erdogan-7674039/
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=TR
-https://en.wikipedia.org/wiki/2018%E2%80%932022_Turkish_currency_and_debt_crisis
-https://tradingeconomics.com/turkey/inflation-cpi
-https://www.worldstopexports.com/turkeys-top-10-imports/
-https://www.macrotrends.net/countries/TUR/turkey/inflation-rate-cpi
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.