เยอรมนี ขาดดุลการค้าครั้งแรก ในรอบ 30 ปี

เยอรมนี ขาดดุลการค้าครั้งแรก ในรอบ 30 ปี

20 ก.ค. 2022
เยอรมนี ขาดดุลการค้าครั้งแรก ในรอบ 30 ปี /โดย ลงทุนแมน
เมื่อปีที่แล้วเยอรมนีเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าเกินดุลสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
เป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น
และตลอดหลายปีที่ผ่านมา เยอรมนีเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกมาโดยตลอด
แต่ปีนี้ บัลลังก์ของเยอรมนีกำลังสั่นคลอน เพราะกำลังประสบปัญหาขาดดุลการค้า
แถมยังเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 30 ปี
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจถึงพัฒนาการของเยอรมนีก่อน
ย้อนกลับไปในสมัยปี ค.ศ. 1871 ภายหลังจากที่เยอรมนีรวมชาติเป็นจักรวรรดิเยอรมันได้สำเร็จ
รัฐบาลเยอรมนีในสมัยนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ให้สามารถสู้กับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ได้
ต้นทุนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ที่ประเทศเยอรมนีสะสมมาตั้งแต่ในยุคจักรวรรดิ
ทำให้เยอรมนีสามารถใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติมาได้ทุกครั้ง
ซ้ำยังสามารถรักษาความเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าอันดับต้น ๆ ของโลกไว้ได้
โดยมีสินค้าส่งออกหลัก คือ ยานยนต์ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์
ส่งออกไปยังคู่ค้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และจีน
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา เยอรมนีไม่เคยรายงานตัวเลขขาดดุลการค้าเลย
แม้แต่เดือนเดียว
จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
สำนักงานสถิติของเยอรมนีรายงานว่า เยอรมนีมียอดการส่งออกอยู่ที่ 4.58 ล้านล้านบาท
ขณะที่ยอดการนำเข้าอยู่ที่ 4.62 ล้านล้านบาท
ส่งผลให้ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เยอรมนีขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี
ซึ่งสาเหตุที่เยอรมนีขาดดุลการค้า ก็เนื่องมาจากราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 30.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 15.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน
อันเป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
ดูเผิน ๆ เยอรมนีก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้น เหมือนหลาย ๆ ประเทศในยุโรป
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมนีพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ในยุโรป
เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ รัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเด็ดขาดภายในปี 2022
โดยเยอรมนีเปลี่ยนจากการพึ่งพาไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในสัดส่วน 40%
ไปใช้แก๊สธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 50%
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง
อิตาลี พึ่งพาแก๊สธรรมชาติจากรัสเซีย 46%
ฝรั่งเศส พึ่งพาแก๊สธรรมชาติจากรัสเซีย 24%
นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ในจีน ทำให้ความต้องการสินค้าที่เยอรมนีส่งออกลดลงอีกด้วย
และอนาคตก็มีแนวโน้มว่ารัสเซียจะทยอยลดปริมาณการส่งออกพลังงานให้เยอรมนี
เพื่อเป็นการตอบโต้กลุ่ม NATO ที่สนับสนุนอาวุธให้กับยูเครน
เหตุการณ์ในครั้งนี้ บีบให้เยอรมนีต้องหันกลับไปพึ่งพิงพลังงานถ่านหิน
และพลังงานจากประเทศอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมต้นทุนการนำเข้าพลังงานให้สูงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น อาจจะทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีชะลอตัวลง
ซึ่งจะยิ่งสร้างความยากลำบากให้กับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างเยอรมนีมากขึ้นไปอีก
น่าสนใจว่าแนวโน้มของราคาพลังงานที่กำลังสูงขึ้น จะทำให้เยอรมนีเผชิญกับการขาดดุลการค้าไปอีกนานเท่าไร แต่ในตอนนี้คนเยอรมันหลายคนอาจบอกว่า เขาไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนเลยในชีวิต
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://countryeconomy.com/
-https://www.cnbc.com/2022/07/05/germanys-much-vaunted-trade-surplus-disappears-as-import-prices-surge.html
-https://www.ft.com/content/6f325773-bf8a-4e28-9fc1-6bc986ee90fa
-https://tradingeconomics.com/germany
-https://www.destatis.de/EN/Press/2022/07/PE22_279_51.html;jsessionid=F164C23049D490024A9C3573BC008758.live741
-https://www.posttoday.com/world/91619
-https://www.ktbst.co.th/special-article/c2755dba-af3d-42ca-b3dd-15fad103b625
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.