เคาน์เตอร์เซอร์วิส เครื่องจักรผลิตเงินสด ปีละพันล้าน ให้เครือซีพี

เคาน์เตอร์เซอร์วิส เครื่องจักรผลิตเงินสด ปีละพันล้าน ให้เครือซีพี

26 ก.ค. 2022
เคาน์เตอร์เซอร์วิส เครื่องจักรผลิตเงินสด ปีละพันล้าน ให้เครือซีพี /โดย ลงทุนแมน
หากเราเข้าไปในร้าน 7-Eleven จะพบว่านอกจากจะเห็นผู้คนซื้อของกันแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำกัน คือการใช้บริการชำระค่าสินค้าและบริการ
ไม่ว่าจะเป็นชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต จ่ายภาษี
หรือแม้แต่ซื้อตั๋ว และประกันภัยต่าง ๆ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส
รู้หรือไม่ว่าเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นอีกหนึ่งธุรกิจเครื่องจักรผลิตเงินสด
ที่สามารถผลิตกำไรได้ในระดับ พันล้านบาท เป็นประจำทุกปี
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ไม่แปลกเลย ถ้าหลายคนจะคุ้นเคยกับชื่อแบรนด์ เคาน์เตอร์เซอร์วิส
เพราะบริษัทแห่งนี้ ถูกก่อตั้งในปี 2537 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว
โดยช่วงแรกนั้น เคาน์เตอร์เซอร์วิสให้บริการ รับชำระค่าสินค้าและบริการเพียงไม่กี่อย่าง รวมถึงการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดงต่าง ๆ ซึ่งในขณะนั้น ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่สำหรับคนไทย
อย่างไรก็ดี เคาน์เตอร์เซอร์วิส สามารถทำให้ผู้ใช้บริการยอมรับได้ จากความสะดวกสบายและเข้าถึงง่าย จำนวนผู้ใช้บริการจึงค่อย ๆ เติบโตขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทำให้เวลาต่อมาในปี 2552 บริษัทได้กลายเป็นผู้ให้บริการ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
จากจุดเริ่มต้นของเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ให้บริการได้เพียงไม่กี่ประเภท ซึ่งมีจุดให้บริการไม่กี่แห่ง
รวมถึงมีจำนวนคนใช้บริการเพียงหลักพันคนเท่านั้น
แต่ปัจจุบันเคาน์เตอร์เซอร์วิส มีจุดให้บริการนับหมื่นกว่าแห่ง และให้บริการหลากหลายประเภทมากขึ้น เช่น รับจองตั๋วเครื่องบิน จำหน่ายประกันภัย รับชำระค่าบัตรเครดิต รวม ๆ แล้วเป็นพันรายการ
ทีนี้ เรามาดูผลประกอบการของเคาน์เตอร์เซอร์วิสกัน ?
รายได้และกำไรของ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด
ปี 2562 รายได้ 3,583 ล้านบาท กำไร 1,110 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 3,600 ล้านบาท กำไร 1,090 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 3,860 ล้านบาท กำไร 1,143 ล้านบาท
จากผลประกอบการจะเห็นได้ว่า บริษัทยังสามารถเติบโตได้ดี
และแม้จะมีคู่แข่งมากมาย ทั้งรูปแบบเคาน์เตอร์ หรือตู้เติมเงิน
เช่น ตู้บุญเติม และคู่แข่งที่เป็นลักษณะออนไลน์ต่าง ๆ
เช่น e-Payment, Internet Banking หรือ Mobile Banking ก็ตาม
แต่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ยังคงสามารถรักษาระดับรายได้และกำไรไว้ได้
แถมยังทำกำไรคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 10 ของบริษัทแม่อย่างซีพี ออลล์
เจ้าของแม็คโคร โลตัส และ 7-Eleven ในประเทศไทย
โดยปีล่าสุดนั้น เคาน์เตอร์เซอร์วิส มีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 29.5%
แล้วปัจจัยใดคือสิ่งที่ทำให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสประสบความสำเร็จ ?
1. คนไทยบางกลุ่มอาจยังคุ้นชินกับพฤติกรรมการชำระเงินแบบเดิม
แม้ว่าปัจจุบันจะมีบริการชำระค่าสินค้าและบริการ ในลักษณะออนไลน์มากมาย
แต่ก็มีคนบางกลุ่ม สะดวกใจที่จะใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสอยู่ดี
เพราะเพียงแค่ชำระค่าธรรมเนียมหลักสิบบาท พนักงานก็จัดการให้ทุกอย่าง
ไม่ต้องมานั่งกดจ่ายเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากดถูกหรือผิดอีก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี
นอกจากนี้ หากเกินกำหนดเวลาในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ก็ไม่สามารถชำระผ่านแอปพลิเคชันได้ แต่เคาน์เตอร์เซอร์วิสกลับชำระได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเรายังคงเห็นผู้คนมาใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสนั่นเอง
แต่ก็ต้องหมายเหตุว่า หาก Mobile Banking ยังให้ชำระบิลได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ต่อไปคนก็จะเริ่มหันไปชำระเงินในช่องทางนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าท้าทายสำหรับเคาน์เตอร์เซอร์วิสเช่นกัน
2. ความแข็งแกร่งของ 7-Eleven
สิ่งที่ทำให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ อีกอย่างคือ ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven
เพราะเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก จากการที่ 7-Eleven มีจำนวนสาขามากกว่าหมื่นสาขา และจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวัน เฉลี่ยหลักพันรายต่อวัน ส่งผลให้เคาน์เตอร์เซอร์วิส ได้รับผลประโยชน์เช่นกัน
ซึ่งจากสถิติปี 2562 พบว่า ลูกค้าถึง 1 ใน 3 ของ 7-Eleven ใช้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสด้วย
3. One Stop Service หรือครบจบในที่เดียว
ปัจจุบันเคาน์เตอร์เซอร์วิส ให้บริการหลากหลายอย่าง นอกจากการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งรวม แล้วเป็นพันรายการ และมีบริการที่เข้าถึงได้หลากหลายกลุ่ม เช่น บริการโอนและรับเงินสดภายในประเทศ โดยไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร
รวมถึง 7-Eleven ก็เป็นร้านสะดวกซื้อ ที่มีสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย
นั่นทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้บริการจากที่นี่ ครบจบในที่เดียวเลย
จากเรื่องราวเหล่านี้ คงทำให้เห็นว่าแม้ธุรกิจจะมีคู่แข่ง หรือสิ่งทดแทนมากมาย
แต่ถ้าหากเราสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และนำบริการของเรา เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกค้าได้ เราก็มีโอกาสทำแบบเคาน์เตอร์เซอร์วิส
ที่วันนี้กลายเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดปีละพันล้านบาท ของเครือซีพี ได้เหมือนกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-รายงานประจำปี 2564 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
-https://www.counterservice.co.th/en/about-us
-https://www.thansettakij.com/business/400731
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.