รู้จัก “ตระกูลราชปักษา” ผู้นำพาประเทศศรีลังกา เข้าสู่ภาวะล้มละลาย

รู้จัก “ตระกูลราชปักษา” ผู้นำพาประเทศศรีลังกา เข้าสู่ภาวะล้มละลาย

29 ก.ค. 2022
รู้จัก “ตระกูลราชปักษา” ผู้นำพาประเทศศรีลังกา เข้าสู่ภาวะล้มละลาย /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงการล้มละลายของประเทศ อาจจะมีให้เห็นไม่บ่อยครั้ง
แต่เมื่อไม่นานมานี้ “ศรีลังกา” เพิ่งจะกลายเป็นประเทศล้มละลายให้เราได้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง
ที่น่าสนใจคือ สาเหตุสำคัญของการล้มละลายของศรีลังกานั้น
หลายฝ่ายเชื่อกันว่า มาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของ “ตระกูลราชปักษา”
แล้วตระกูลนี้คือใคร ? เกี่ยวข้องกับการล้มละลายของศรีลังกาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวทั้งหมดนี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 1970
เมื่อ มหินทรา ราชปักษา ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศรีลังกา
ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูลราชปักษา ในการเข้าสู่แวดวงทางการเมือง
ก่อนหน้านี้ ตระกูลราชปักษาไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก่อน
โดยตระกูลราชปักษา เป็นตระกูลเจ้าของที่ดินในเมืองฮัมบันโตตา ซึ่งได้รับมรดกตกทอดต่อ ๆ กันมา
หลังจากที่ มหินทรา ราชปักษา ได้เริ่มเข้าสู่แวดวงทางการเมือง
เขาก็ค่อย ๆ ไต่เต้า ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองต่าง ๆ
จนในที่สุด เขาก็สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีของศรีลังกาได้ในปี 2005
เมื่อเขาเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเต็มตัวนั้น
มหินทรา ราชปักษา ก็ได้เริ่มปูทางให้คนในตระกูลราชปักษาคนอื่น ๆ เข้ามารับตำแหน่งที่มีความสำคัญทางการเมือง
โดยเฉพาะน้องชายของเขาที่ชื่อว่า โกตาบายา ราชปักษา ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งสำคัญอย่าง ผู้บัญชาการเหล่าทัพของประเทศ

หลังจากนั้นเพียงไม่นาน สองพี่น้องตระกูลราชปักษาก็ได้ทำผลงาน ที่สร้างความประทับใจให้กับชาวศรีลังกาเป็นอย่างมาก
ด้วยการใช้กำลังทหารเข้ายุติสงครามกลางเมือง ระหว่างชาวทมิฬกับชาวสิงหล ที่กินระยะเวลามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948
ถึงแม้ว่าการปิดฉากสงครามในครั้งนั้น จะทำให้ตระกูลราชปักษาได้รับความนิยมจากชาวศรีลังกาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ก็มีคนบางส่วนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลที่นำโดยตระกูลราชปักษา อาจมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น
ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้กระจายไปในวงกว้างมากนัก
เนื่องจากตระกูลราชปักษา ได้สูญเสียอำนาจทางการเมืองไปเสียก่อน
จากการที่ มหินทรา ราชปักษา แพ้การเลือกตั้งในปี 2015
แต่หลังจากนั้นเพียง 4 ปี อำนาจทางการเมือง ก็กลับมาอยู่ในมือของตระกูลราชปักษาอีกครั้ง
เมื่อโกตาบายา ราชปักษา สามารถชนะการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของศรีลังกาได้ในปี 2019
แต่ใครจะรู้ว่าจุดนี้เอง ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้น ของวิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา ที่ลากยาวมาจนถึงวันนี้
ทันทีที่ โกตาบายา ราชปักษา ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็เริ่มใช้นโยบายประชานิยมต่าง ๆ
ตามที่เขาเคยหาเสียงไว้ ก่อนขึ้นรับตำแหน่ง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
อย่างการออกนโยบายลดอัตราภาษีต่าง ๆ ลงเป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ซึ่งการที่ลดอัตราภาษีลง นั่นหมายถึง รายได้ของรัฐบาลก็จะลดลงตามไปด้วย
เมื่อรายได้ลดลง จนน้อยกว่ารายจ่าย จึงก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลอย่างมหาศาล
โดยการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ของศรีลังกา จาก -5.3% ในปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น -12.2% ในปี 2021 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เป็นประวัติการณ์ของศรีลังกาเลยทีเดียว
และเมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอ ช่องทางที่จะหาเงินเพิ่ม ก็หนีไม่พ้นการก่อหนี้ของรัฐบาลนั่นเอง
โดยในปี 2021 รัฐบาลมีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้น หนี้ที่เพิ่มขึ้นยังมีส่วนที่กู้ยืมเป็นสกุลเงินต่างประเทศอีกด้วย
โดยในปี 2018 หนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของศรีลังกาที่เคยอยู่ในระดับ 42% มาในปี 2021 เพิ่มสูงถึงระดับ 119%
ซึ่งการขาดดุลงบประมาณ บวกกับหนี้มหาศาลที่เพิ่มขึ้น
ทำให้สถาบันการจัดอันดับเครดิตหลายแห่ง เริ่มปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศศรีลังกาลง
ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของศรีลังกานั้น เพิ่มสูงขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ยังคงยืนยันว่า
ยังไม่มีแผนปรับขึ้นภาษี ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนับจากปี 2021
นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลา 2 ปี หลังจากที่ โกตาบายา ราชปักษา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2019
ประเทศศรีลังกา ยังพบเจอกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ซึ่งนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของศรีลังกา
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่โบสถ์และโรงแรมหรูในปี 2019
และเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก อย่างวิกฤติโควิด 19 ที่เริ่มขึ้นในปี 2020
เรื่องนี้ยิ่งซ้ำเติม ให้เศรษฐกิจของศรีลังกา บอบช้ำมากขึ้นไปอีก
โดยรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ลดลงเหลือเพียง 24,000 ล้านบาท
จากในปี 2018 ที่เคยมีรายได้ถึง 158,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า ก็ได้ส่งผลให้รายได้ในรูปของเงินตราต่างประเทศลดลง
จนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ลดลงอย่างรวดเร็ว
จากช่วงกลางปี 2019 อยู่ที่ 319,000 ล้านบาท มาในช่วงต้นปี 2022 เหลือเพียง 84,000 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารกลางของศรีลังกาเอง ก็พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ เพื่อมาชดเชยกับการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล
สวนทางกับคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ต้องการให้มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายลง พร้อมทั้งปรับเพิ่มอัตราภาษีขึ้น
ซึ่งการพิมพ์เงินออกมา ก็ได้ทำให้ศรีลังกาเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาล่าสุด พุ่งไปถึง 54.6% สูงสุดในรอบ 21 ปี
ขณะที่เงินรูปีศรีลังกา เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2019 ถึงปัจจุบัน มีการอ่อนค่าลงไปแล้วเกือบ 93% ซึ่งก็ทำให้ศรีลังกาต้องนำเข้าสินค้าในราคาแพงยิ่งขึ้นไปอีก
ประกอบกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาพลังงานและอาหารทั่วโลกปรับสูงขึ้น
ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ศรีลังกาไม่มีเงินเพียงพอ ที่จะนำเข้าสินค้าจำเป็นดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศได้
เป็นเหตุให้เกิดวิกฤติการขาดแคลนอาหารและพลังงาน ก็ยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น
ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจของศรีลังกาแย่ลงไปอีก
และยังนำมาสู่การผิดนัดชำระหนี้ตามมาในปี 2022 ซึ่งนับเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษ ส่งผลให้ศรีลังกาต้องกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ล้มละลาย
เรื่องนี้ได้สร้างความเดือดร้อน และความไม่พอใจให้กับชาวศรีลังกาหลายล้านคน
และสุดท้ายผู้ประท้วงชาวศรีลังกาจำนวนมาก ได้บุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี
จนประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
ถึงตรงนี้ เรื่องราวของศรีลังกาก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีว่า
การบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ผิดทาง
มักมีบทเรียนที่ต้องจ่ายราคาแพงตามมาเสมอ..
ซึ่งในอนาคตก็คงมีหลายประเทศ ที่ต้องบริหารประเทศแบบเอาใจประชาชน
และการเข้าสู่ภาวะล้มละลายของศรีลังกา ก็คงไม่ใช่ประเทศสุดท้ายบนโลกนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Sri_Lankan_Civil_War
-https://en.wikipedia.org/wiki/Mahinda_Rajapaksa
-https://en.wikipedia.org/wiki/Gotabaya_Rajapaksa
-https://en.wikipedia.org/wiki/2019%E2%80%93present_Sri_Lankan_economic_crisis
-https://tradingeconomics.com/sri-lanka/government-budget
-https://www.outlookindia.com/business/sri-lanka-lost-around-10-lakh-taxpayers-since-2019-tax-cuts-finance-minister-sabry-news-195205
-https://www.aljazeera.com/economy/2022/7/7/sri-lankas-central-bank-hikes-interest-rates-to-21-year-high#:~:text=The%20move%20comes%20as%20inflation,inflation%20galloped%20to%2080.1%20percent.
-https://www.theguardian.com/world/2022/may/19/sri-lanka-defaults-on-debts-for-first-time
-https://www.thaipost.net/main/detail/95213
-https://www.bbc.com/thai/international-61405608
-https://countryeconomy.com/government/expenditure/sri-lanka
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.