กรณีศึกษา Liberty Reserve ธุรกิจไอเดียดี แต่เจ้าของติดคุกหัวโต

กรณีศึกษา Liberty Reserve ธุรกิจไอเดียดี แต่เจ้าของติดคุกหัวโต

9 ส.ค. 2022
กรณีศึกษา Liberty Reserve ธุรกิจไอเดียดี แต่เจ้าของติดคุกหัวโต /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงธนาคาร เราก็น่าจะนึกถึงสถานที่ปลอดภัย ที่จะช่วยรักษาเงินต้นของเราได้
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีธนาคารอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ทำธุรกิจอยู่ในขั้วตรงกันข้าม
เพราะมันถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน และโอนเงินผิดกฎหมาย
วันนี้ เรามารู้จักกับ Liberty Reserve ธนาคารที่ถูกขนานนามให้เป็น ธนาคารแห่งโลกอาชญากรรม
โดยถูกคาดการณ์ว่ามีความข้องเกี่ยวกับเงินผิดกฎหมาย ตีเป็นมูลค่าเกินกว่า 200,000 ล้านบาท..
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ใครกันเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Liberty Reserve ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ผู้ก่อตั้ง Liberty Reserve มีชื่อว่า Arthur Budovsky
ผู้อพยพชาวยูเครน ที่ทำธุรกิจอยู่ในสหรัฐอเมริกา
เขาคนนี้ เคยก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Gold Age ธุรกิจตัวกลางรับซื้อขายทองคำดิจิทัล ที่มีชื่อว่า E-Gold เมื่อ 20 ปีก่อน
โดย E-Gold ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในยุคบุกเบิก ที่ได้รับความนิยมและมีผู้ใช้งานทั่วโลก
แต่เนื่องจากในยุคนั้น ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวมากนัก อาศัยเพียงความง่ายเข้าไว้ก่อน
การเปิดบัญชี E-Gold จึงยังไม่ต้องมีการยืนยันตัวตนของเจ้าของบัญชี
นั่นจึงทำให้ E-Gold กลายมาเป็นช่องทางในการจ่ายและโอนเงิน ของธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และอาชญากรทั่วโลก
แต่ไม่นานนัก สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการออกกฎหมายขึ้นมาควบคุม
ส่งผลให้ Gold Age ต้องปิดตัวลง หลังทำธุรกิจมาได้เพียง 4 ปี
เพราะผิดกฎหมายรับโอนเงินโดยไม่มีใบอนุญาต
แถมผู้ก่อตั้งอย่าง Budovsky ที่ทำผิดกฎหมายก็เลือกที่จะหนีคดี
โดยมีจุดหมายปลายทางเป็น “ประเทศคอสตาริกา”
ภายหลังจากการหนีคดี Budovsky ก็ได้เริ่มแผนการที่จะก่อตั้งธุรกิจใหม่อีกครั้ง
คราวนี้เปลี่ยนจากการเป็นตัวกลางรับซื้อขาย ไปเป็นเจ้าของสกุลเงินดิจิทัลด้วยตัวเอง
สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเป็นคอสตาริกานั้น
ก็เพราะว่าประเทศแห่งนี้ มีข้อกฎหมายที่ยังหละหลวม ไม่เข้มงวด จึงง่ายต่อการก่อตั้งบริษัท
อีกทั้งที่ตั้งของประเทศก็อยู่ตรงกลาง ระหว่างแหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ของโลกอย่างโคลอมเบีย กับประเทศผู้ค้ายาเสพติดอย่างเม็กซิโก บวกกับมีลูกค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้คอสตาริกากลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของธุรกิจสีเทา และสีดำจำนวนมาก
ซึ่ง Budovsky เองก็ได้สัญชาติคอสตาริกาจากการแต่งงานกับภรรยาที่เพิ่งรู้จักกัน
โดยภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกับ Budovsky ในคอสตาริกา
เป็นแม่ม่ายลูกสาม ที่มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายอาหาร หน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ความพีกก็คือ เธอและ Budovsky ไม่สามารถสื่อสารกันได้ เพราะพูดกันคนละภาษา
แถมเธอไม่เคยเข้าไปในบ้านของ Budovsky เลย แม้แต่ครั้งเดียว
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ Budovsky ตั้งใจแต่งงานกับเธอ ก็เพื่อเอาสัญชาติเท่านั้น..
หลังจากได้สัญชาติคอสตาริกาเรียบร้อยแล้ว
เขาก็ได้ก่อตั้ง “Liberty Reserve” ขึ้นมา เป็นธุรกิจธนาคารออนไลน์ ที่รับทำธุรกรรมทางการเงิน
พร้อมกับสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า LRs เป็นของตัวเอง
LRs ถูกออกแบบให้มีมูลค่าคงที่ เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐเสมอ
ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับ Stablecoin ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
LRs จึงมีความเสถียร และสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ใช้งานได้สำเร็จ
โดยหลักการทำงาน ก็เพียงแค่ผู้ใช้งานมีบัญชีซื้อขาย ที่เปิดกับ Liberty Reserve เท่านั้น
ก็จะสามารถโอน รับ และเก็บ LRs ได้เลยทันที
อย่างไรก็ตาม การจะซื้อ LRs ได้นั้น เราไม่สามารถซื้อจากเว็บไซต์ของ Liberty Reserve ได้โดยตรง
แต่เราจะต้องดำเนินการผ่านตัวแทน ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งตัวแทนเหล่านี้ ก็จะโอน LRs เข้าสู่บัญชีของเรา รวมถึงยังเป็นผู้รับแลก LRs คืน และโอนกลับเป็นสกุลเงินจริงอย่างดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย
โดยรายได้ของ Liberty Reserve นอกจากการขายเหรียญให้เหล่าตัวแทนแล้ว
ยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนในแต่ละครั้งที่ 1% หรือไม่เกิน 2.99 ดอลลาร์สหรัฐ
หากลองมองถึงโครงสร้างทั้งหมดแล้ว
Budovsky ตั้งใจให้ Liberty Reserve ทำหน้าที่เหมือนกับ E-Gold
ต่างกันที่มูลค่าของ E-Gold ถูกหนุนด้วยทองคำ ในขณะที่ LRs จะผูกติดกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
แต่จุดที่เป็นปัญหาของ Liberty Reserve คือการไม่ตรวจสอบข้อมูล และยืนยันว่าเจ้าของบัญชีเป็นใคร
ซึ่งการเปิดบัญชีกับ Liberty Reserve นั้น สามารถทำได้ง่ายและเปิดใช้งานได้ แม้จะระบุข้อมูลปลอมลงไป
อีกทั้งการโอน LRs ในแต่ละครั้ง ไม่มีการแสดงข้อมูลว่าใครเป็นผู้โอน
โดยจะมีการแสดงแค่เพียงเลขบัญชีของผู้รับปลายทางเท่านั้น
ด้วยจุดนี้เอง ทำให้มีการใช้บัญชีของ Liberty Reserve ในการโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แชร์ลูกโซ่ ค้าของเถื่อน การเรียกค่าไถ่ของแฮกเกอร์ แบล็กเมล ค้าอาวุธ และยาเสพติด รวมถึงการโอน และฟอกเงินข้ามประเทศอีกจำนวนมาก
Liberty Reserve เติบโตและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
แต่ไม่นานนักก็เกิด 2 เหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดจบของทั้ง Liberty Reserve และผู้ก่อตั้งอย่าง Budovsky
เหตุการณ์แรก คือ Budovsky พยายามที่จะต่อยอดความสำเร็จของเขา
ด้วยการขอใบอนุญาต การประกอบธุรกรรมรับโอนเงินอย่างถูกกฎหมาย ในคอสตาริกา
แต่เรื่องดังกล่าว กลับกลายเป็นจุดที่ทำให้ Liberty Reserve ตกเป็นเป้าของหน่วยงานรัฐ
เนื่องจากบริษัทที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรอง พบข้อสงสัยจำนวนมาก ในการประกอบธุรกิจของ Liberty Reserve
อีกทั้ง Budovsky ยังปกปิดข้อมูลสำคัญหลายอย่าง จากทีมงานผู้ตรวจสอบ ทำให้มีการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานกำกับดูแลของคอสตาริกา
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน Liberty Reserve ก็ยกเลิกการขอใบอนุญาต และประกาศยุติการดำเนินกิจการในคอสตาริกา
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ในปี 2011 หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา จับกุมชายชาวเวียดนามที่ชื่อ Hieu Minh Ngo ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกัน โดยมีมากกว่า 200 ล้านรายชื่อ หรือกว่า 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ
โดยข้อมูลที่ Ngo ครอบครอง มีตั้งแต่ชื่อ วันเกิด ที่อยู่ หมายเลขประกันสังคม อีเมล และรหัสผ่าน ซึ่งสามารถนำไปเปิดบัตรเครดิต กู้เงิน หรือแม้แต่ยื่นขอคืนภาษีปลอม โดยจำหน่ายในราคาชื่อละ 3 บาทเท่านั้น
และช่องทางที่ Ngo ใช้ในการรับชำระค่ารายชื่อที่เขาขาย ก็คือเลขบัญชีที่เปิดกับ Liberty Reserve ซึ่งสามารถรับได้แค่สกุลเงิน LRs เท่านั้น..
จุดนี้เองที่ทำให้หลายหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกันสืบค้น รวมถึงยังประสานงานร่วมกับรัฐบาลคอสตาริกา และอีกหลายประเทศ
จนกระทั่งนำไปสู่การจับกุม Budovsky ได้ที่สนามบินในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ในปี 2013 ขณะที่เขากำลังเดินทางท่องเที่ยว
การขยายผลการจับกุม ทำให้พบว่า Liberty Reserve มีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านคน และมีบัญชีที่ถูกเปิดไว้กว่า 5 ล้านบัญชี ซึ่งมีเว็บไซต์ผิดกฎหมายนับพันเว็บไซต์ ใช้ Liberty Reserve เป็นช่องทางในการชำระเงิน
Liberty Reserve ถูกพบว่ามีการทำธุรกรรม เฉลี่ย 12 ล้านรายการต่อปี
โดยมีเงินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และธุรกิจผิดกฎหมาย มากกว่า 200,000 ล้านบาท
ซึ่งถือเป็นคดีฟอกเงินระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด ที่สหรัฐอเมริกาเคยทำมา..
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องราวของ Liberty Reserve
ที่สื่อหลายสำนักขนานนามให้เป็น ธนาคารของโลกอาชญากรรม
จริง ๆ แล้ว หากเราดูจากไอเดียธุรกิจของ Liberty Reserve บริษัทแห่งนี้
เรียกได้ว่ายังมีส่วนผสมของไอเดียที่สร้างสรรค์
ทั้งการพัฒนาธุรกิจระบบรับชำระเงินตั้งแต่หลายสิบปีก่อน เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงยังมีการสร้างสกุลเงินเป็นของตัวเอง
แต่ไม่ว่าไอเดียจะดีขนาดไหน เมื่อมันเป็นธุรกิจสีเทาและไม่โปร่งใส
ก็มีฉากจบที่ไม่สวยงาม อย่าง Liberty Reserve ที่ต้องถูกปิดตัวลง
และตัวผู้ก่อตั้งอย่าง Budovsky ก็ต้องติดคุกจนถึงทุกวันนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://amycastor.com/tag/midas-gold-exchange/
-https://sanctionscanner.com/blog/liberty-reserve-money-laundering-scandal-426
-https://kyc-chain.com/liberty-reserve-the-digital-currency-that-laundered-millions/
-https://psmag.com/economics/digital-currencies-led-biggest-money-laundering-case-ever-bitcoin-74083
-https://www.nytimes.com/2013/05/29/nyregion/liberty-reserve-operators-accused-of-money-laundering.html
-https://www.investopedia.com/terms/l/liberty-reserve.asp
-https://www.bbc.com/news/technology-36247289
-https://money.cnn.com/2013/05/28/news/companies/money-laundering-arrests/index.html
-https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2015/05/bank-of-the-underworld/389555/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.