กรณีศึกษา เสี่ยเจริญ ทิ้งอาคเนย์ แล้วปั้น อินทรประกันภัย ได้ 11 เด้ง

กรณีศึกษา เสี่ยเจริญ ทิ้งอาคเนย์ แล้วปั้น อินทรประกันภัย ได้ 11 เด้ง

18 ส.ค. 2022
กรณีศึกษา เสี่ยเจริญ ทิ้งอาคเนย์ แล้วปั้น อินทรประกันภัย ได้ 11 เด้ง /โดย ลงทุนแมน
ปีที่แล้วมีข่าว เสี่ยเจริญปล่อยให้อาคเนย์ประกันภัยล้ม
แต่รู้ไหมว่าในปีนี้ อินทรประกันภัย อีกบริษัทหนึ่งของเสี่ยเจริญ กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 11 เด้ง ใน 3 เดือน
เพราะลูกค้าที่ไม่เกี่ยวกับประกันโควิดของอาคเนย์ประกันภัย ถูกย้ายมาที่อินทรประกันภัย
ในขณะที่หนี้จากประกันโควิด หลักหมื่นล้านบาทของอาคเนย์ประกันภัย ถูกโอนให้ คปภ. รับผิดชอบดูแลต่อ
และ คปภ. ก็กำลังจะเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม จากบริษัทประกันทั้งหมดในอุตสาหกรรม เพื่อมาจ่ายหนี้ประกันโควิดของบริษัทที่ล้ม ซึ่งก็รวมถึงอาคเนย์ประกันภัยด้วย
เรื่องนี้เสี่ยเจริญ ทำอะไรไปบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ร.ร.นานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ (เขาใหญ่) เปิดรับสมัคร English & Adventure Camp 2022
วันที่ 9–22 ตุลาคม 2565 สำหรับน้อง ๆ อายุ 6-15 ปี กรอกใบสมัครได้ที่ : https://bit.ly/3OTwxow
╚═══════════╝
อินทรประกันภัย ก่อตั้งขึ้นในปี 2492 ในชื่อ บริษัท ประกันภัยนิรภัย จำกัด หรือกว่า 73 ปีมาแล้ว โดยในปัจจุบัน อินทรประกันภัย หนึ่งในบริษัทธุรกิจประกันของ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) ซึ่งมีเจ้าของคือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ เสี่ยเจริญ
โดย เครือไทย โฮลดิ้งส์ ได้ใช้บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ จำกัด (RDD) ที่เป็นบริษัทลูก เข้าไปถือหุ้นของอินทรประกันภัย 75% ในปี 2563 ซึ่งธุรกิจประกันของอินทรประกันภัยนั้น จะเกี่ยวข้องกับสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก
ส่วนประกันโควิด ที่เราเห็นโฆษณาว่า เจอ จ่าย จบ หรือจ่ายหลักร้อย รับเงินเคลมประกันหลักแสน
สำหรับประกันประเภทนี้ของ เครือไทย โฮลดิ้งส์ จะอยู่ภายใต้ บจ.อาคเนย์ประกันภัย และบจ.ไทยประกันภัย
ต่อมาเมื่อจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศเพิ่มขึ้นจนเกินการควบคุม ยอดเคลมสินไหมจากประกันโควิด ทั้งตลาด จึงพุ่งสูงถึงหลายหมื่นล้านบาท
เรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทประกันทั้ง 2 บริษัท ซึ่งก็คือ บจ.อาคเนย์ประกันภัย และบจ.ไทยประกันภัย ทันที เพราะต้องจ่ายค่าสินไหมจากประกันโควิดอย่างเดียว เป็นหลักหมื่นล้านบาท ในขณะที่มีเงินกองทุนเหลือเพียง หลักพันล้านบาทเท่านั้น
และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เอง ก็สั่งห้ามไม่ให้บริษัทประกันบอกเลิกกรมธรรม์กับลูกค้าได้ เนื่องจากเป็นการโยนภาระให้กับลูกค้า และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันทั้งอุตสาหกรรม
อีกทั้งผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัยเอง ซึ่งก็คือเสี่ยเจริญ ก็ไม่ยอมเพิ่มทุนอีก เพราะเคยเพิ่มทุนให้เกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายค่าสินไหมไปแล้วรอบหนึ่ง
จนสุดท้ายทั้ง 2 บริษัท ก็มีส่วนของหนี้สิน มากกว่าทรัพย์สิน และเงินสำรองที่มีก็ลดลง จนใกล้ต่ำกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เครือไทย โฮลดิ้งส์ ตัดสินใจเลิกกิจการของอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย
แต่ก่อนที่จะเลิกกิจการนั้น บริษัทประกันภัยทั้ง 2 ราย ได้โอนกรมธรรม์ของลูกค้า กว่า 8.63 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ไปยังบริษัทประกันอื่น ๆ
และหนึ่งในนั้นก็คือการโยกมาที่ อินทรประกันภัย บริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันของเสี่ยเจริญ
แล้วทำไมอินทรประกันภัยถึงได้กำไรทันที ?
เนื่องจากธุรกิจในเครือของเสี่ยเจริญมีมากมาย ซึ่งก็พ่วงมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่ดินและอาคารสำนักงานจำนวนมากที่ต้องทำประกันภัย เช่น ห้างบิ๊กซี ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงานหลายตึก ใจกลางกรุงเทพมหานคร
และแน่นอนว่าการรับประกันภัยให้ทรัพย์สินเหล่านี้ สามารถถูกส่งต่อให้อินทรประกันภัยได้ทันที
ซึ่งการรับประกันภัยต่อทรัพย์สิน เป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูง ซึ่งต่างจากการรับประกันภัยรถยนต์ ซึ่งมีอัตรากำไรที่ต่ำ
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้กองทุนประกันวินาศภัย ต้องเข้ามาดูแลลูกค้ากลุ่มประกันโควิด แต่กองทุนมีเงินเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งหนี้ค่าสินไหมทั้งหมด มียอดรวมทั้งอุตสาหกรรมตอนนี้กว่า 60,000 ล้านบาท ทำให้กองทุนต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ และของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ คปภ. จำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุน
ซึ่งสุดท้าย ถ้าบริษัทประกันอยากได้กำไรเท่าเดิม ก็ต้องขึ้นค่าเบี้ยประกัน และประชาชนทุกคนก็คงได้รับผลกระทบไป
และในส่วนของอินทรประกันภัยนั้น หลังจากรับโอนกรมธรรม์ จากอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย ก็ได้กลายเป็นหุ้น 11 เด้ง ใน 3 เดือน เพราะนักลงทุนคาดหวังว่า บริษัทนี้จะมีกำไรเพิ่มขึ้น
โดยในเดือนพฤษภาคม อินทรประกันภัย มีมูลค่าบริษัทประมาณ 410 ล้านบาท
แต่ปัจจุบัน มีมูลค่ากว่า 4,800 ล้านบาท
และมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น จาก 705 ล้านบาท ในปี 2564
เป็น 11,273 ล้านบาท ในปี 2565
ซึ่งเรื่องนี้ในมุมของเสี่ยเจริญ ก็อาจมีเหตุผลที่ว่า ถึงเขาไม่โอนงานไปที่อินทรประกันภัย เขาก็สามารถไปซื้อบริษัทประกันภัยอื่น หรือก่อตั้งบริษัทประกันภัยขึ้นมาใหม่ แล้วรับงานประกันในกลุ่มของตัวเองก็ได้เหมือนกัน เรื่องนี้จึงเป็นคนละส่วนกับอาคเนย์ประกันภัย
และสำหรับคนที่เดือดร้อนกับเรื่องนี้ไม่แพ้กัน ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ สินมั่นคงประกันภัย
จากบริษัทที่ได้กำไรเกือบพันล้านบาทต่อปี
ผ่านไปเพียง 1 ปี กลายเป็นบริษัทที่ต้องแบกหนี้ถึง 30,000 ล้านบาท
ทั้งที่สินมั่นคงประกันภัย เคยส่งจดหมายยกเลิกประกันโควิดกับลูกค้า โดยอ้างถึงเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ผู้รับประกันสามารถยกเลิกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
แต่พอ คปภ. มาเบรกไม่ให้ยกเลิก สินมั่นคงประกันภัยก็เลยต้องกลับลำ ทำตาม คปภ.
ถ้าให้ย้อนเวลากลับไปได้
ก็น่าคิดว่า ผู้บริหารสินมั่นคงประกันภัย จะเลือกไม่ฟัง คปภ. และยอมไปต่อสู้กันในศาลว่า ผู้รับประกันมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกได้หรือไม่
แต่เวลาย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว..
บริษัทประกันล้มหลายรายแล้ว
คปภ. ต้องแบกหนี้แล้ว
และ คปภ. จะต้องเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่มแล้ว
ถ้าจะดูให้ดี
เรื่องนี้เป็นเหมือนภาพเก่า ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตนั่นคือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540
ที่ต้องตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาแก้ปัญหาสถาบันการเงินที่ล้มระเนระนาดในช่วงนั้น สุดท้ายกองทุนนี้ก็ต้องไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียม จากเงินฝากของทุกคนในประเทศ
ซึ่งเวลาผ่านมาจนถึงปี 2565
รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้ทุกครั้งที่ประชาชนคนไทยฝากเงิน ก็จะต้องจ่ายให้กับกองทุนนี้ ในอัตรา 0.46% จากเงินฝาก
หมายความว่า
สมมติถ้าเราได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5%
ถ้าไม่มีภาระการส่งเงินเข้ากองทุนนี้ เราก็ควรจะได้ 0.96%
ซึ่งแทนที่ประชาชนจะนำเงินที่ควรจะได้รับนั้น ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ
แต่กลับต้องนำมาชดใช้ เพื่อแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ที่สร้างความเสียหาย
ย้อนกลับมาสรุปเหตุการณ์ประกันโควิดอีกครั้ง
- คปภ. ไม่ให้ยกเลิกกรมธรรม์ที่รับประกันโควิด ทั้งที่เอกชนอยากยกเลิก
- อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย รวมถึงอีกหลายบริษัทประกันต้องปิดตัวลง จากการรับทำประกันโควิด
- กองทุนประกันวินาศภัย (คปภ.) ที่มีรายได้ปีละ 600 ล้านบาท แต่ต้องแบกหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท จากหลายบริษัทประกันที่ต้องปิดตัวลง
- คนไทยอาจต้องเสียเงินค่าประกันแพงขึ้น เพราะต้นทุนรับประกันภัยแพงขึ้น จากเงินสมทบกองทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ คปภ. นำมาจ่ายหนี้ 60,000 ล้านบาท
งานนี้ไม่รู้ใครผิดใครถูก แต่ที่พีกสุดก็คือ ถึงอาคเนย์ประกันภัยของเสี่ยเจริญจะล้ม แต่บริษัท อินทรประกันภัย กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นตำนานหุ้น 11 เด้ง อีกตัวหนึ่งของประเทศไทย ไปเรียบร้อยแล้ว..
╔═══════════╗
ร.ร.นานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ (เขาใหญ่) เปิดรับสมัคร English & Adventure Camp 2022
แคมป์ที่ทำให้เด็กรักภาษาอังกฤษมากขึ้นจนไม่อยากกลับบ้านหลังจบแคมป์
วันที่ 9–22 ตุลาคม 2565 สำหรับน้อง ๆ อายุ 6-15 ปี
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.