อินโดนีเซียพร้อมแค่ไหน ที่จะแย่งไทย เป็นฮับรถไฟฟ้าแห่งอาเซียน ?

อินโดนีเซียพร้อมแค่ไหน ที่จะแย่งไทย เป็นฮับรถไฟฟ้าแห่งอาเซียน ?

30 ส.ค. 2022
อินโดนีเซียพร้อมแค่ไหน ที่จะแย่งไทย เป็นฮับรถไฟฟ้าแห่งอาเซียน ? /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงที่ผ่านมา เราน่าจะได้เห็นข่าวว่าอินโดนีเซีย พยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
เพื่อให้มาตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น Tesla, BYD หรือแบรนด์อื่น
แถมยังตั้งเป้าว่าจะเป็นฮับรถไฟฟ้าแห่งอาเซียนอีกด้วย
เรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากเราเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนมาอย่างยาวนาน
อุตสาหกรรมยานยนต์ในอินโดนีเซีย เป็นอย่างไร
แล้วประเทศแห่งนี้พร้อมแค่ไหน ที่จะเป็นฮับรถไฟฟ้า ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีทั้งขนาด ประชากร และเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ น้ำมัน และถ่านหิน เป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ อินโดนีเซียจึงเป็นหนึ่งในแหล่งส่งออกทรัพยากรสำคัญของโลก
แถมยังเป็นฐานการผลิตที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ และเป็นเป้าหมายการส่งออกจากหลายประเทศ
โดยหนึ่งในธุรกิจที่น่าสนใจในอินโดนีเซีย ก็คือ “อุตสาหกรรมยานยนต์”
เพราะอุตสาหกรรมนี้เป็นเพียงไม่กี่กลุ่มธุรกิจ ที่สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงโควิด 19
สะท้อนให้เห็นจากปริมาณการผลิตรถยนต์ของอินโดนีเซีย ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากไทย
และมีความต้องการใช้รถยนต์ มากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
ซึ่งก็ต้องบอกว่ามีบริษัทต่างชาติหลายราย เข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียอยู่แล้ว เช่น Toyota, Honda, Hyundai
สำหรับแบรนด์ที่สามารถครองตลาดได้ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Toyota
เพราะมีการสร้างเครือข่ายกับผู้ผลิตในประเทศได้เป็นอย่างดี ในขณะที่แบรนด์จากชาติอื่น ๆ ยังมีส่วนแบ่งการตลาดที่ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแบรนด์จากตะวันตก เช่น Mercedes-Benz, BMW เข้าไปในอินโดนีเซียเช่นกัน
โดยเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มผู้มีรายได้สูง ทำให้สามารถกินส่วนแบ่งการตลาดในประเทศได้บ้าง
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าอินโดนีเซียก็มีผู้ผลิตรถยนต์หลายรายเข้าไปลงทุนอยู่ ไม่ต่างจากไทยเลย
เมื่อเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเพิ่มขึ้น
มาดูกันว่าอินโดนีเซีย มีความพร้อมแค่ไหน ?
ต้องเล่าอย่างนี้ก่อนว่า อุตสาหกรรมรถยนต์เชื่อมโยงกับธุรกิจหลายกลุ่ม ได้แก่
- ธุรกิจผลิตและขายรถ
- ธุรกิจผลิตชิ้นส่วน เช่น สายไฟ ท่อยาง
- ธุรกิจประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ จากวัตถุดิบ เช่น ยางล้อรถ
- ธุรกิจผลิตวัตถุดิบ เช่น ยางพารา แร่ธรรมชาติ
ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นรถยนต์ 1 คัน ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมดที่ว่ามานี้ ตั้งแต่ได้วัตถุดิบออกมา นำมาผลิตเป็นชิ้นส่วน จากนั้นประกอบขึ้นเป็นตัวรถ ความพร้อมของการเป็นฮับรถไฟฟ้า จึงมีปัจจัยมากกว่าแค่ในด้านการผลิตและขายรถเท่านั้น
โดยความสามารถในการแข่งขันนั้น
เราก็ต้องเริ่มมองตั้งแต่ “ธุรกิจผลิตวัตถุดิบ”
อินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบเป็นอย่างมาก เช่น แร่ธรรมชาติ ยางพารา
โดยเฉพาะการมีแหล่งแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า
ดังนั้น การมีแหล่งแร่ ที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า
ทำให้อินโดนีเซียมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ และดึงดูดให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุน
เพราะสำหรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้านั้น แบตเตอรี่ไฟฟ้า คิดเป็นต้นทุนการผลิตถึง 40% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันเลยทีเดียว
นอกจากนิกเกิลแล้ว อินโดนีเซียยังเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่เบอร์ 2 ของโลก
แม้ว่าไทยยังครองอันดับ 1 ของการส่งออกยางพารา แต่ก็ต้องบอกว่าอินโดนีเซียมีศักยภาพในการผลิตยางแท่งคุณภาพสูงกว่า โดยในระยะหลัง เทรนด์ของการผลิตล้อรถยนต์ มักเลือกใช้ยางแท่งไปผลิตยางล้อรถมากขึ้นอีกด้วย
ต่อมา ก็คือ “ธุรกิจประกอบและผลิตชิ้นส่วน”
หากไปเทียบจำนวนผู้ประกอบการนี้ของทั้งสองประเทศ จะพบว่า
- อินโดนีเซีย มีจำนวน 550 ราย
- ไทย มีจำนวน 720 ราย
แม้จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนในอินโดนีเซีย ไม่ค่อยแตกต่างจากไทยมากนัก
แต่ผู้ผลิตรถในอินโดนีเซีย ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเป็นหลัก
โดยกว่า 82% มีการนำเข้าจากญี่ปุ่น ไทย และจีน
สะท้อนให้เห็นว่า อินโดนีเซียยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศค่อนข้างสูง
ในขณะที่ไทยมีความได้เปรียบหลายด้าน เช่น เป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนรถมานาน และมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตชิ้นส่วนรถอย่างต่อเนื่อง
อีกเรื่องหนึ่งคือ “ธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถ”
อินโดนีเซียมีผู้ประกอบการนี้จำนวน 22 ราย
ในขณะที่ไทยมีประมาณ 27 ราย
ซึ่งดูแล้ว ก็มีจำนวนไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก
แต่สิ่งที่แตกต่างกัน จะเป็นในเชิงของโครงสร้างธุรกิจกลุ่มยานยนต์
เพราะอินโดนีเซียมีมาตรการบังคับ ให้บริษัทต่างชาติต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น
- PT Toyota Motor Manufacturing Indonesia
ร่วมทุนระหว่าง Toyota กับบริษัทท้องถิ่นอย่าง Astra International เพื่อทำธุรกิจประกอบรถ
- PT Toyota Astra Motor
ร่วมทุนระหว่าง Toyota กับบริษัทท้องถิ่นอย่าง Astra International เพื่อทำธุรกิจจำหน่ายรถ
ในขณะที่ไทย ค่อนข้างกระจายตัวกัน มีทั้งบริษัทต่างชาติ บริษัทร่วมทุน หรือแม้แต่บริษัทสัญชาติไทยแท้ เพราะเราไม่ได้มีมาตรการบังคับเหมือนกับอินโดนีเซีย จึงทำให้มีความยืดหยุ่นในการลงทุนของบริษัทต่างชาติมากกว่า
อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลย
นั่นก็คือ “โครงสร้างสนับสนุนการผลิตรถในประเทศ”
โดยเฉพาะเรื่องค่าแรงและทักษะแรงงาน
โดยค่าแรงของอินโดนีเซีย ค่อนข้างถูกกว่าแรงงานไทย
ตรงนี้จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผล ที่ดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนได้
แต่แม้ว่าไทยจะมีค่าแรงที่สูงกว่า
แรงงานไทยก็ถือเป็นแรงงานขั้นสูง ที่มีความเชี่ยวชาญ
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบรรทุก
ซึ่งเราสามารถส่งออกได้เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก
ในขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอินโดนีเซียเหมือนกัน
เพราะการผลิตรถส่วนใหญ่ จะกระจุกตัวอยู่บนเกาะชวา ที่มีความต้องการใช้รถสูง เท่านั้น
ในขณะที่พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ยังพัฒนาไปไม่ถึง
อีกทั้งยังรวมไปถึง โครงข่ายภายในประเทศอินโดนีเซีย
ก็ไม่ได้รองรับเทรนด์การใช้รถไฟฟ้ามากนัก เมื่อเทียบกับไทย
เพราะเรามีการใช้นโยบายรถแบบไฮบริด
หรือการใช้พลังงานจากน้ำมันควบคู่ไปกับไฟฟ้า มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
หากมีการวางระบบการใช้รถไฟฟ้า เราจะสามารถพัฒนาโครงข่ายรองรับได้ราบรื่นกว่า
จากทั้งหมดที่เล่ามา เราสามารถสรุปได้เลยว่า อินโดนีเซียมีความพร้อมแล้วในหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ ค่าแรงที่ต่ำ และตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ทำให้กลายเป็นประเทศที่ดูเหมือนจะพร้อมต่อกรกับไทย เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดความเป็นฮับรถไฟฟ้าในอาเซียน
แต่ในอีกมุมหนึ่ง อินโดนีเซียก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง
เช่น การพึ่งพาชิ้นส่วนรถจากต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดีพอ และยังขาดแรงงานทักษะสูง
ซึ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในอนาคต
ในขณะที่ประเทศไทยของเรา แม้จะยังคงความได้เปรียบในหลายด้าน เช่น การมีแรงงานทักษะสูง
เป็นผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถในอาเซียนมายาวนาน แต่ก็ต้องบอกว่าห้ามชะล่าใจ
เพราะนอกจากอินโดนีเซียแล้ว
ก็ยังมีมาเลเซียและเวียดนาม ที่กำลังจ้องมองกลุ่มธุรกิจนี้อยู่ด้วย
ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า ไทยจะเป็นผู้ชนะในสมรภูมิครั้งนี้หรือไม่ ท่ามกลางการแข่งขันที่คาดว่าจะดุเดือดในอนาคต..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://bit.ly/3TeNeNW
-https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/
-https://investingnews.com/daily/resource-investing/base-metals-investing/nickel-investing/
-https://www.jstor.org/stable/27041371
-http://www.thaibizindonesia.com/en/adhesion-indonesian-economy/industrial/detail.php
-https://www.reuters.com/business/autos-transportation/toyota-plans-18-bln-indonesia
-https://www.indonesia-investments.com/business/industries-sectors/automotive-industry
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Hi-tech-Industries/Auto-Parts
-https://www.pier.or.th/forums/2020/06/automobile-and-automotive-parts/
-https://www.statista.com/topics/3963/automotive-industry-in-indonesia/#topicHeader
-http://www.boi.go.th/upload/content/BOI-brochure%202015-automotive-20150325_70298.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.