กุ้งไทย เคยส่งออกมากสุดในโลก วันนี้แพ้อินเดียและเวียดนาม

กุ้งไทย เคยส่งออกมากสุดในโลก วันนี้แพ้อินเดียและเวียดนาม

6 ก.ย. 2022
กุ้งไทย เคยส่งออกมากสุดในโลก วันนี้แพ้อินเดียและเวียดนาม /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกกุ้ง โดยส่งออกกุ้งมากที่สุดในโลกช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
แต่ปัจจุบัน เราหล่นมาอยู่อันดับ 6 ของโลก ทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกกุ้ง ลดลงไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง
เหลือส่วนแบ่งการตลาดเพียง 3% แถมยังโดนอินเดียและเวียดนามแซงหน้า
เกิดอะไรขึ้นกับกุ้งไทย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
“กุ้ง” เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอาหารทะเลหลักของโลกที่มีการบริโภคกัน
แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่น ประเทศที่นำเข้ากุ้งรายใหญ่
จึงมักจะเป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ที่มีรายได้และกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง
ส่วนแหล่งส่งออกกุ้งที่สำคัญจะอยู่ในทวีปเอเชีย เพราะภูมิภาคนี้มีความได้เปรียบในการผลิตมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยเหตุผลว่ามีกุ้งเป็นจำนวนมาก มีแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
รวมถึงค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก ทวีปเอเชียจึงส่งออกกุ้งได้มากกว่า 40% ของตลาดโลก
ซึ่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกที่สำคัญ เพราะมีทั้งการทำประมงน้ำจืด ประมงน้ำเค็ม และการเพาะเลี้ยงฟาร์มกุ้ง ทำให้สามารถส่งผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกุ้งทะเล
เรามีจำนวนพื้นที่เลี้ยงทั้งหมด 342,068 ไร่
เรามีจำนวนฟาร์มทั้งหมด 26,700 ราย
กระจายอยู่ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
โดยจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตกุ้งทะเลสำคัญ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และนครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่าคนไทยบริโภคกุ้งเพียง 1 ใน 10 ของผลผลิตทั้งหมดเท่านั้น
ส่วนที่เหลือจึงเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา 31%
- ญี่ปุ่น 27%
- ไต้หวัน 3%
แม้ว่ากุ้งไทยจะได้รับการยอมรับว่า มีคุณภาพสูง
มีแรงงานที่เชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงด้านการแปรรูปอาหารทะเลระดับโลก
แต่หากเราไปดูสถิติการส่งออกกุ้งทุกชนิดย้อนหลัง จะพบว่า
- ปี 2562 มูลค่าส่งออก 29,689 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 112,763 ตัน
- ปี 2563 มูลค่าส่งออก 23,119 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 89,882 ตัน
- ปี 2564 มูลค่าส่งออก 26,920 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 93,213 ตัน
จะเห็นได้ว่า ทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกกุ้งไทย มีแนวโน้มลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
และยิ่งเราเทียบกับในปี 2554 มูลค่าส่งออก 52,857 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 204,139 ตัน
ก็เรียกได้ว่า ทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกกุ้ง ลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับการส่งออกกุ้งไทย ?
อย่างแรกเลย คือ “กุ้งไทยโดนโรคระบาดครั้งใหญ่”
ย้อนไปในช่วงปี 2553 หรือราว 12 ปีก่อน
โรค Early Mortality Syndrome เรียกสั้น ๆ ว่า EMS หรือโรคตายด่วน
เป็นโรคที่ทำให้กุ้งตายได้อย่างรวดเร็ว เกิดระบาดหนักในฟาร์มกุ้งบ้านเรา ส่งผลให้กุ้งไทยออกสู่ตลาดได้น้อยลง
แต่นี่เป็นเพียงแค่เด้งแรกเท่านั้น
เพราะกุ้งไทย ยังต้องเจอกับผลกระทบอีกหลายเด้งในช่วงเวลา 10 ปีมานี้
เด้งต่อมา คือ “สหภาพยุโรปแบนสินค้าประมงจากไทย” หรือที่เราได้ยินกันว่า IUU Fishing โดยเกิดจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ วิธีการทำประมง หรือขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน
พอเป็นแบบนี้ ทำให้การส่งออกอาหารทะเลของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะสหภาพยุโรป ถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ 1 ใน 5 ของไทย
และอีกเด้ง ก็คือ “ไทยถูกจัดอันดับเป็น Watchlist การค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ”
ซึ่งหมายถึง ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมประมงไทย ที่อาจมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย
บังคับคนให้มาเป็นแรงงานโดยไม่สมัครใจ หรือแรงงานมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ไม่ดีพอ
เรื่องนี้เอง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของอาหารทะเลไทยเป็นไปในด้านลบ
โดยสหรัฐฯ ก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ทำให้ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน
แม้ว่าปัจจุบัน สหรัฐฯ จะเปลี่ยนอันดับประเทศเฝ้าระวังการค้ามนุษย์ให้ไทยมาอยู่ใน Tier 2
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์ของอาหารทะเลไทยยังคงมีภาพจำในด้านลบ
แต่เท่านี้ยังไม่พอ เพราะในช่วงที่กุ้งไทยโดนผลกระทบหลายเด้ง
คู่แข่งการส่งออกของไทย กลับยังคงมีผลผลิตออกสู่ตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ที่มีการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงฟาร์มกุ้งบริเวณตอนใต้ของประเทศ
อินเดีย ก็ได้ปรับปรุงคุณภาพของสายพันธ์ุกุ้งเลี้ยง ให้สามารถทนทานต่อโรคระบาดได้มากขึ้น
อีกทั้ง อินเดียและเวียดนาม ยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า หรือที่เรียกกันว่า GSP
ทำให้สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่มีความต้องการสูง โดยได้รับการลดหย่อนหรือไม่เสียภาษี
ในขณะที่ไทย เสียสิทธิ GSP ไป เพราะรายได้ต่อหัวของประเทศสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ ค่าแรงก็เป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตที่ไทยมีความเสียเปรียบในฟาร์มกุ้ง
ซึ่งค่าแรงของไทย สูงกว่าอินเดียและเวียดนาม ทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งไทยสูงกว่าประเทศอื่น
แต่ด้วยความเชี่ยวชาญด้านแรงงานของไทย ทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งมีต้นทุนต่ำกว่า
แม้ไทยจะยังคงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้ง เช่น กุ้งกระป๋อง แต่ด้วยวัตถุดิบจากฟาร์มกุ้งที่ลดลง ทำให้ไทยต้องนำเข้ากุ้งเพื่อมาแปรรูปเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
โดยหากเทียบย้อนหลัง 10 ปี จะพบว่า
- ในปี 2554 ปริมาณนำเข้า 21,000 ตัน มูลค่านำเข้า 1,460 ล้านบาท
- ในปี 2564 ปริมาณนำเข้า 43,000 ตัน มูลค่านำเข้า 6,060 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า เราต้องนำเข้ากุ้งเพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่า สะท้อนได้ว่าผลผลิตจากฟาร์มกุ้งไทยลดลงอย่างหนัก
และกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งทะเล ที่เป็นความหวังของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทย เพราะเราต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของกุ้งไทย
สรุปก็คือ เรามีมูลค่าและปริมาณการส่งออกกุ้งที่ลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะโดนโรคระบาด และกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เข้มงวด จนทำให้เวียดนามและอินเดียแซงหน้าไป
ซึ่งทั้งเวียดนามและอินเดียเอง ก็ได้เร่งส่งออกกุ้งของตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ได้เปรียบมากกว่าไทย ทำให้ยังคงส่งออกได้เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก
ถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่าไทยยากที่จะกลับไปอยู่ในจุดเดิมของตัวเองในวันวาน ที่เราเคยส่งออกกุ้งเป็นเบอร์ 1 ของโลก และการแข่งขันด้านราคา อาจไม่ใช่ทางออกสำหรับเรื่องนี้ เพราะต้นทุนการผลิตของเราสูงกว่าคู่แข่ง
แต่หากเรามุ่งไปยังเส้นทางการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เพื่อให้กุ้งไทยกลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะซื้อ ก็อาจทำให้กุ้งไทย สามารถกลับมายืนหนึ่งได้อีกครั้ง
หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ เราเลิกโฟกัสว่าจะเป็นที่หนึ่งเรื่องกุ้ง แต่ไปเน้นอย่างอื่น ที่เราได้เปรียบมากกว่าแทน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.prachachat.net/economy/news-820292
-https://www.rtsinternational.com/article/look-shrimp-industry-ecuador
-https://www.globalseafood.org/advocate/how-india-became-the-worlds-top-shrimp-producer/
-https://www.seafoodsource.com/news/supply-trade/vietnam-sets-goals-for-shrimp-industry-
-https://www.fisheries.go.th/strategy-tradestat/index.php?option=com_goods
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Southern/DocLib/shrimp_minisym.pdf
-https://www.trademap.org/Country_SelProduct_TS.aspx?nvpm
-https://wtocenter.vn/thong-ke/13814-vietnams-ftas-summary-as-of-april-2019
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Food-Beverage/Processed
-https://www.ditp.go.th/contents_attach/730241/730241.pdf
-https://www.ditp.go.th/contents_attach/230416/230416.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.