ทำไม “ธุรกิจโรงไฟฟ้า” ถึงรุ่งเรืองในไทย

ทำไม “ธุรกิจโรงไฟฟ้า” ถึงรุ่งเรืองในไทย

7 ก.ย. 2022
ทำไม “ธุรกิจโรงไฟฟ้า” ถึงรุ่งเรืองในไทย /โดย ลงทุนแมน
ช่วงหนึ่งของปีนี้ คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐี ที่รวยที่สุดในประเทศไทย
เคียงข้างคุณธนินท์ เจ้าของซีพี และคุณเจริญ เจ้าของเบียร์ช้าง
โดยทรัพย์สินหลัก ๆ ของคุณสารัชถ์ มาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ปัจจุบัน มีมูลค่ามากถึง 600,000 ล้านบาท
ซึ่งนอกจาก GULF แล้ว ก็ยังมีอีกหลายบริษัท
ที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและมีมูลค่าเกือบแสนล้านบาท อย่างเช่น
- บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) มูลค่าบริษัท 96,000 ล้านบาท
- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มูลค่าบริษัท 94,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทย
สามารถเติบโตจนกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ได้
แล้วทำไม อุตสาหกรรมนี้ จึงเติบโตได้ดีในบ้านเรา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
การผลิตไฟฟ้าของไทยตั้งแต่อดีตนั้น มีการผลิตร่วมกัน
ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่ได้รับสัมปทาน
โดยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็ตอนที่บริษัทจากประเทศเดนมาร์ก ขอสัมปทานผลิตไฟฟ้า
เพื่อใช้ในกิจการเดินรถราง เมื่อราว 135 ปีก่อน หรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5
แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยมีความเจริญมากขึ้นในทุก ๆ ด้าน
ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทย จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนในเวลาต่อมา เกิดปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ
รัฐบาลในขณะนั้น จึงเร่งขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า
ทำให้เกิดโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ
โดยโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน และน้ำมันเชื้อเพลิง
เช่น น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลมาโดยตลอด เพราะสามารถหาซื้อได้ง่าย
แม้ว่าถ่านหินจะให้พลังงานความร้อนต่อหน่วยสูง
แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มันสร้างปัญหาด้านมลภาวะ และก่อให้เกิดมลพิษต่อสุขภาพของเราสูงเช่นกัน
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน จะพัฒนาไปมากแล้ว
แต่ที่ผ่านมา ในไทยก็มีความกังวล ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินอยู่เรื่อยมา
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของไทยในระยะหลัง จะเน้นการลงทุนไปที่พลังงานจากแก๊สธรรมชาติ
เหตุผลหนึ่งก็คือ “ประเทศไทยสามารถผลิตแก๊สธรรมชาติเป็นของตัวเองได้”
รวมถึงเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง จากกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้ง
เพราะแก๊สธรรมชาติถือเป็นพลังงานฟอสซิลที่สร้างมลพิษต่ำที่สุด
ต่อมาในช่วงปี 2537 รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
จากเดิมที่หน่วยงานของรัฐจะลงทุน และเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วยตัวเอง กลายเป็นสนับสนุนให้เอกชน เป็นผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ มาขายให้แก่ประชาชนต่อไป
ซึ่งนโยบายนี้ ก็ได้ทำให้อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าของไทย เฟื่องฟูอย่างมาก
เพราะมีบริษัทหลายแห่ง ทั้งที่ทำธุรกิจด้านพลังงานอยู่แล้ว และที่ไม่เกี่ยวข้อง
ต่างเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก
เหตุผลสำคัญของนโยบายนี้ ก็คือ “เรื่องของงบประมาณ”
เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งนั้น ใช้งบประมาณหลักพันถึงหลักหมื่นล้านบาท
ซึ่งถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
หากต้องรอการลงทุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
ก็จะไม่สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นได้ทัน
และส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ทำให้รัฐบาลในขณะนั้น ตัดสินใจให้สิทธิเอกชนเข้ามาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อขายให้กับ กฟผ.
ในขณะที่การบริหารโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ อย่างเช่น สายส่งไฟฟ้า และการจำหน่ายไฟฟ้าไปให้ประชาชน ยังคงมีหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ดำเนินการ
ตัวอย่างบริษัทที่ทำให้เห็นภาพ ของเรื่องราวในช่วงเวลานั้นได้ดีที่สุด
ก็คือ กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าชื่อดัง ของคุณสารัชถ์ รัตนาวะดี หรือ GULF
แม้บริษัทจะก่อตั้งได้เพียงไม่กี่ปี แต่จากนโยบายดังกล่าว
ทำให้ GULF ได้รับสัญญา รับซื้อไฟฟ้าขนาดใหญ่จากรัฐบาล
เช่น โครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่ ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2540 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 30,000 ล้านบาท
โดยบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ได้เซ็นสัญญากับ กฟผ. เพื่อซื้อขายไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 25 ปี
โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่ว่าโครงการก็ถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกโครงการไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม คุณสารัชถ์ สามารถเจรจาต่อรอง และขอย้ายโรงไฟฟ้าไปยัง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี พร้อมเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้ เป็นแก๊สธรรมชาติ และขอเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่า เพื่อแลกกับค่าเสียหายที่รัฐบาลต้องจ่าย จากการยกเลิกสัญญา
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมเอกชนถึงสนใจการตั้งโรงไฟฟ้า แล้วขายให้แก่ภาครัฐ
แทนที่จะนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจอื่น ๆ ที่มีต้นทุนถูกกว่า หรือคืนทุนได้เร็วกว่า
คำตอบของเรื่องนี้ ก็คือ “สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ ที่ทำกับภาคเอกชน” ทำให้มีโอกาสขาดทุนน้อยมาก
สำหรับการขายไฟฟ้าของไทยนั้น เอกชนไม่ได้เป็นผู้ขายให้แก่ผู้ใช้โดยตรง
แต่หน่วยงานของรัฐซึ่งก็คือ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเป็นผู้ขายแต่เพียงผู้เดียว
โดยสัญญาที่ กฟผ. ทำกับผู้ผลิตนั้น มีลักษณะเหมือนสัมปทาน ซึ่งมีอายุของสัญญายาวนาน
โดยเฉพาะสัญญากับผู้ผลิตรายใหญ่ ที่อาจมีอายุสัญญายาวนานถึง 25 ปี
โดยรัฐบาลจะเปิดประมูลสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า แล้วให้เอกชนเข้าร่วมการประมูล
จากนั้น กฟผ. ก็จะจ่ายเงินซื้อไฟฟ้า ตามปริมาณที่มีการส่งเข้าระบบ
แต่ส่วนสำคัญของสัญญาคือ การจ่ายเงิน “ค่าความพร้อมจ่าย”
โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะครอบคลุมค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายคงที่อื่น ๆ ซึ่งจะจ่ายให้เหมือนกับค่าเช่าโรงไฟฟ้าให้กับเอกชน
อย่างเช่นในปี 2563 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมด เดินเครื่องเฉลี่ยเพียง 35% ของเวลาทั้งปี แต่ กฟผ. ยังต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายดังกล่าว ให้กับผู้ผลิตกว่า 9,166 ล้านบาท
ที่ต้องมีค่าความพร้อมจ่ายนี้ ก็เพื่อให้โรงไฟฟ้าต่าง ๆ เตรียมพร้อมสำหรับการจ่ายไฟฟ้า ให้ได้ตามที่ กฟผ. สั่งทุกเมื่อ และหากทำไม่ได้ ก็จะต้องเสียค่าปรับตามสัญญา
ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า มีโอกาสขาดทุนต่ำ
ก็เพราะการคิดค่าเชื้อเพลิงตามกำลังการผลิต ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามรอบ
หากเชื้อเพลิงหรือต้นทุนผันแปรอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกกันว่า ค่า Ft
ข้อนี้ เปรียบเสมือนการประกันราคารับซื้อ ว่าผู้ผลิตจะไม่ได้รับผลกระทบ จากราคาเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงสูง ราคารับซื้อไฟฟ้าก็จะสูงตาม
ในขณะที่ถ้าราคาเชื้อเพลิงลดลง ราคารับซื้อก็จะลดลงตามเช่นกัน
แล้วธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชนของไทย เติบโตขนาดไหน ?
จากสัญญาเริ่มแรกในปี 2537 ที่มีการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP ทั้งสิ้น 5,800 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน กฟผ. มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ทำสัญญากับ IPP กว่า 16,123.5 เมกะวัตต์ และเอกชนรายเล็ก หรือ SPP อีก 9,408.95 เมกะวัตต์ คิดเป็น 33% และ 20% ของกำลังการผลิตรวมทั้งระบบ
โดยหากไปดูตัวเลขการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ของ กฟผ. พบว่า
ปี 2537 (ยังไม่เริ่มซื้อไฟฟ้าจาก IPP) มีปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนทั้งสิ้น 844.9 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ปี 2538 (ปีแรกที่เริ่มซื้อจาก IPP) มีปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนทั้งสิ้น 7,712.87 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ปี 2564 มีปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนทั้งสิ้น 133,913.92 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.6% ต่อปี
ซึ่งในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 ไฟฟ้าที่เราใช้ทั้งประเทศ
ก็เป็นการซื้อจากเอกชนกว่า 71% ของทั้งหมด
ถ้าคิดง่าย ๆ ว่า ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายในปัจจุบันหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ละ 4-5 บาท และถ้าสมมติให้ราคาเฉลี่ยที่เอกชนขายให้รัฐบาล เป็นหน่วยละ 2-3 บาท
ก็จะคำนวณได้ว่ารัฐบาล ต้องจ่ายเงินให้เอกชนประมาณ 260,000-400,000 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งก็สอดคล้องกับในงบการเงินปี 2564 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตว่า มีต้นทุนของการขายไฟฟ้า มากถึง 472,530 ล้านบาท..
อ่านถึงตรงนี้ ก็คงเข้าใจกันแล้วว่า ทำไมธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทย
ถึงเติบโต และสร้างมหาเศรษฐีแสนล้าน อย่างคุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม การรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนถือเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งมีหลายประเทศที่ใช้วิธีการนี้ เพราะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
ด้วยการให้เอกชนหลายราย ช่วยกันดูแลระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
แต่สิ่งที่เราต้องควบคุมคือ กำลังการผลิตส่วนเกิน ที่เกิดจากการที่ภาครัฐ ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมากเกินไป ทำให้เราอาจต้องเสียเงินไปให้กับค่าเช่าโรงไฟฟ้า
ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะถูกรวมมายังค่าไฟฟ้าที่เราใช้กัน
ทำให้เราต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น หรือรัฐบาลต้องเอาเงินภาษีไปอุ้มค่าไฟฟ้ามากขึ้น
แม้เราจะใช้ไฟฟ้าเท่าเดิมก็ตาม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.egat.co.th/home/wp-content/uploads/2022/06/EGAT-Annual-2021_2022-06-22.pdf
-https://www.bbc.com/thai/thailand-58111226
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Energy-Utilities/Power-Generation/IO/io-power-generation-21
-http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER16/DRAWER085/GENERAL/DATA0000/00000004.PDF
-http://www.eppo.go.th/images/Power/pdf/IPP.pdf
-https://www.egat.co.th/home/statistics-all-3rdparty/
-https://www.egat.co.th/home/statistics-all-latest/
-https://www.egat.co.th/home/statistics-generation-latest/
-https://www.egat.co.th/home/statistics-generation-annual/
-https://www.mea.or.th/upload/download/file_99764bc2b96700020071e2945c914553.pdf
-https://www.facebook.com/355457518354837/posts/895295124371071/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.