จีนกำลังเขมือบ ธุรกิจอาหารทั่วโลก ให้อยู่ในมือตัวเอง

จีนกำลังเขมือบ ธุรกิจอาหารทั่วโลก ให้อยู่ในมือตัวเอง

21 ก.ย. 2022
จีนกำลังเขมือบ ธุรกิจอาหารทั่วโลก ให้อยู่ในมือตัวเอง /โดย ลงทุนแมน
“อาหารคนจีน ต้องอยู่ในมือของคนจีน” นี่คือคำพูดของสี จิ้นผิง ผู้นำของจีนที่อยากสร้างความมั่นใจว่าคนจีนจะต้องไม่ขาดแคลนอาหาร รวมถึงต้องมีอำนาจในการควบคุมผลผลิตทางอาหารจากประเทศอื่น ๆ ได้
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำเข้าอาหารมากที่สุดของโลก มูลค่าสูงกว่า 4.1 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และธัญพืช ที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ในโลก
ทำไม จีน ต้องนำเข้าอาหารมากขนาดนี้
แล้วผู้นำจีนคิดอะไรอยู่ ถึงอยากมีอำนาจในการควบคุมอาหารทั่วโลกให้ได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จีนมีพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ อยู่บริเวณตอนกลางและตอนเหนือของประเทศ ติดกับฝั่งทะเลด้านตะวันออก
โดยมีพื้นที่ประมาณ 1.4 ล้านตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 10% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก
ซึ่งก็ยังนับว่าเป็นประเทศที่มีพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรม ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกก็จริง แต่ด้วยประชากรที่มีจำนวนมากถึง 1,400 ล้านคน
จึงทำให้การมีผลผลิตที่เพียงพอ ต่อความต้องการบริโภคทั้งหมดภายในประเทศ เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร
เพราะจีนเอง ก็ต้องเจอกับปัญหาการทำเกษตรกรรมภายในประเทศหลายเรื่องด้วยกัน
โดยเรื่องแรกเลย คือ “พื้นที่เกษตรกรรมต่อประชากรที่น้อย”
แม้จะมีพื้นที่เกษตรกรรมเยอะก็จริง แต่หากเทียบต่อประชากรทั้งประเทศแล้ว จะพบว่า
- จีน มีพื้นที่เกษตรกรรม 0.09 เฮกตาร์ต่อคน
- ทวีปเอเชีย มีพื้นที่เกษตรกรรม 0.19 เฮกตาร์ต่อคน
- ทั้งโลก มีพื้นที่เกษตรกรรม 0.20 เฮกตาร์ต่อคน
จะเห็นได้ว่าจีนมีพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมต่อหัว น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งทวีปเอเชียและทั่วโลกมาก
จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ
เรื่องต่อมา คือ “พื้นที่เกษตรกรรมมีคุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง”
สัดส่วนการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ในพื้นที่เกษตรกรรมของจีน สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีการขยายระบบชลประทาน เพื่อรองรับการเติบโตของการทำเกษตรกรรม
แต่กลับพบว่า ผลผลิตที่ออกมานั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยแม้แต่น้อย
และอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ “คนจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น”
หากเรามาดูจำนวนชนชั้นกลางของจีน พบว่า

- ปี 2000 มีจำนวน 3% ของประชากรทั้งหมด
- ปี 2018 มีจำนวน 51% ของประชากรทั้งหมด
จะเห็นได้ว่า ภายในระยะเวลาเพียง 18 ปี จำนวนประชากรที่มีรายได้แบบชนชั้นกลาง เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนมีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศ
เรื่องนี้ทำให้คนจีนมีการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่กินเพียงแค่ธัญพืช นำไปสู่การกินเนื้อสัตว์ และอาหารที่มีราคาแพงมากขึ้น ทำให้การบริโภคต่อคนสูงขึ้นตามไปด้วย
จีนจึงตกอยู่ในสถานะที่เราเรียกกันว่า “ความมั่นคงทางอาหารต่ำ”
เพราะในปัจจุบัน จีนมีความมั่นคงทางอาหารเป็นอันดับที่ 33 ของโลก ตามหลังประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร
เรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ต่ำนี้เอง ทำให้จีนจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ เป็นจำนวนมากทุกปี โดยเฉพาะอาหารหลัก เช่น ข้าว ถั่วเหลือง หรือเนื้อสัตว์
รู้หรือไม่ว่า จีนมีการนำเข้าธัญพืชมากถึง 1 ใน 3 ของผลผลิต ที่นำเข้ามาทั้งหมดในทวีปเอเชียเลยทีเดียว
เรื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีน คิดที่จะกระจายความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารของตัวเอง
เพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ซัปพลายเชนทั่วโลกหยุดชะงัก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ
จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ว่า ทำไมปัจจุบัน จีนกำลังเร่งเข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหารทั่วโลก
โดยรัฐวิสาหกิจจีนที่เข้ามามีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ ชื่อว่า “COFCO”
แล้ว COFCO คืออะไร ?
COFCO ถูกก่อตั้งในปี 1949 โดยในช่วงแรกเริ่ม จะคอยลงทุนในธุรกิจการเกษตรภายในประเทศเท่านั้น ตั้งแต่การลงทุนในฟาร์มเกษตร ไปจนถึงการจัดเก็บและการขนส่งทั้งประเทศ
เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนแนวคิด ที่จะส่งธุรกิจจีนออกไปลงทุนในระดับโลกมากขึ้น
COFCO จึงเริ่มดำเนินธุรกิจ ลงทุนฟาร์มเกษตร รวบรวมสินค้า จัดเก็บ และขนส่งอาหาร
โดยปัจจุบัน มีการทำธุรกิจไปกว่า 35 ประเทศ โดยมีทั้งท่าเรือ โกดัง และสำนักงานการค้าอยู่ทุกทวีปอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเข้าซื้อกิจการเกี่ยวกับเกษตรกรรมในหลายแห่งของโลก เช่น
- ธุรกิจ Noble Agri ของฮ่องกง ที่ทำธุรกิจจัดหาและส่งออกสินค้าเกษตรไปยังทวีปแอฟริกา
- ธุรกิจ Nidera ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชระดับโลก
โดยทั้ง 2 ธุรกิจนี้ COFCO ใช้เงินลงทุนไปกว่า 103,460 ล้านบาท
เพื่อแลกกับสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 49-51% เท่านั้น
แต่ต่อมาก็ได้ไล่ซื้อหุ้นที่เหลือ จนกลายเป็นเจ้าของทั้งบริษัท
ซึ่งเงินลงทุนบางส่วนของ COFCO ก็ได้รับมาจาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศของจีน เป็นจำนวนประมาณ 173,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ COFCO ก็ยังมีการไปเข้าซื้อธุรกิจ Tully Sugar ผู้ผลิตน้ำตาลสัญชาติออสเตรเลีย
ด้วยมูลค่า 5,360 ล้านบาท
ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา COFCO ก็มีการไปลงทุนร่วมกับ Growmark กลุ่มเกษตรกรรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตธัญพืช เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อการส่งออกอีกด้วย
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า COFCO กลายเป็นบริษัทของจีน ที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารในจีนเพิ่มขึ้น
ซึ่งการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
จะเน้นการลงทุนในภูมิภาคที่มีการส่งออกอาหารทั่วโลก
โดยเฉพาะทวีปอเมริกาใต้ ที่มีการเข้าไปลงทุนมากถึง 60% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในบริษัท
หรือการเข้าไปลงทุน ในประเทศยุโรปตะวันออก และบริเวณรัสเซีย
ที่มีการผลิตธัญพืชในสัดส่วนที่สูง เช่น รัสเซีย ยูเครน
โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจได้รับผลกระทบในการทำธุรกิจอยู่บ้าง
แต่ด้วยการกระจายการลงทุนไปทั่วโลก ทำให้ COFCO ยังสามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องนี้อาจกลายเป็นความเสี่ยงให้กับอาหารทั่วโลกได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “การมีอำนาจควบคุมอาหารของจีน”
การเข้าลงทุนของ COFCO เป็นการลงทุนในธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ
เพราะมีทั้งธุรกิจฟาร์มเกษตร การขนส่ง การจัดเก็บสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า อยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน กลายเป็นว่าจีนสามารถควบคุมการส่งอาหารทั่วโลกได้ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
อีกทั้ง หากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาจทำให้จีนสามารถใช้ธุรกิจนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเจรจาและต่อรอง ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์ราคาอาหารทั่วโลก อาจมีความปั่นป่วนได้เช่นกัน
ดังเช่นในช่วงสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะห้ามการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน
แต่ด้วยการเข้าไปลงทุนของ COFCO และธุรกิจการเกษตรของจีน
การนำเข้าสินค้าเกษตรจากทวีปอเมริกาใต้ จึงเข้ามาทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น
กลายเป็นว่าจีนค่อนข้างได้รับผลกระทบที่น้อย เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา
และผลกระทบจากสงครามการค้า ก็ไปเกิดขึ้นอย่างมากกับประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแทน
ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่รัฐบาลจีนพยายามทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ แต่ก็สามารถทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรมแบบครบวงจรไปทั่วโลกได้ควบคู่กัน
ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นพ่อค้าคนกลางด้านอาหารของโลก
เพราะ COFCO รัฐวิสาหกิจผู้มีบทบาทสำคัญของจีน มีการรวบรวม จัดเก็บ และขนส่งอาหารไปยังประเทศต่าง ๆ เกือบทุกทวีป ซึ่งสามารถสร้างรายได้สูงถึง 122,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
และหากประเทศไทย อยากเป็นครัวของโลกอย่างต่อเนื่อง
การต้องเจอกับพ่อค้าคนกลางด้านอาหาร อย่างจีน ก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://chinapower.csis.org/china-middle-class/
-https://www.trademap.org/Country_SelProduct_TS.aspx?nvpm
-https://globalagriculturalproductivity.org/sustainable-food-and-agriculture-systems
-http://www.cofco.com/en/BrandProduct/COFCOInternational/
-https://www.prachachat.net/world-news/news-1036255
-https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index/Index
-https://en.wikipedia.org/wiki/COFCO_Group
-https://www.cofcointernational.com/media/1919/cof_fact-sheet_en_2021-06.pdf
-https://www.cofcointernational.com/who-we-are/
-https://www.yieldgap.org/gygaviewer/index.html
-https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3111623/china-food-security
-https://www.statista.com/statistics/1036418/china-agriculture-forestry-fishing-product-import
-https://www.statista.com/topics/7439/agriculture-in-china/#dossierContents__outerWrapper
-https://knoema.com/atlas/ranks/Agricultural-land-area#:~:text=China
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.