“ฟินวัน” บริษัทการเงินไทย 100,000 ล้าน แต่ล้มละลายเหลือ 0

“ฟินวัน” บริษัทการเงินไทย 100,000 ล้าน แต่ล้มละลายเหลือ 0

24 ก.ย. 2022
“ฟินวัน” บริษัทการเงินไทย 100,000 ล้าน แต่ล้มละลายเหลือ 0 /โดย ลงทุนแมน
วิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ 25 ปีก่อน ธุรกิจไทยหลายบริษัท โดยเฉพาะภาคการเงินต้องล้มละลายไป
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กลับมีบริษัทที่รู้จักกันในชื่อ “ฟินวัน” กลายมาเป็นดาวรุ่ง
ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด จากที่มีสินทรัพย์หลักร้อยล้านบาท ก็กลายเป็นหลักแสนล้านบาท
แต่แล้วบริษัทแห่งนี้กลับต้องล้มละลาย แถมยังถูกกล่าวหาว่า เป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจของไทย ร่วมกันกับเคสของนายราเกซ สักเสนา ที่ยักยอกเงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
วันนี้ เรามาดูกันว่าเรื่องราวของฟินวัน เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ฟินวัน เป็นชื่อเรียกอย่างง่ายของบริษัท เงินทุน เอกธนกิจ จำกัด
โดยผู้ที่เป็นแกนหลักของฟินวัน คือ คุณปิ่น จักกะพาก
ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นพ่อมดการเงินคนหนึ่งในประเทศไทย
ก่อนหน้าที่จะก่อตั้งฟินวันขึ้นมา คุณปิ่นทำงานในตำแหน่งรองประธาน ที่ธนาคารเชสแมนฮัตตัน สาขากรุงเทพฯ
แต่หลังจากทำงานได้ 7 ปี คุณปิ่นก็ตัดสินใจลาออกในปี 2523 และไปบริหารกิจการของเครือญาติ ชื่อว่าบริษัทเงินทุน ยิบอินซอย จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
เดิมทีบริษัทเงินทุน ยิบอินซอย ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่โดดเด่นอะไรนัก
ยิบอินซอย เปิดดำเนินการมา 10 ปี มีสินทรัพย์รวม 167 ล้านบาท และยังคงมีปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
แต่หลังจากที่คุณปิ่นได้เข้ามาบริหาร และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัทเงินทุน เอกธนกิจ จำกัด หรือฟินวัน
บริษัทก็เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด และกลายเป็นบริษัทการเงินที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนั้น
จนมีสินทรัพย์รวมหลักแสนล้านบาท
โดยกลยุทธ์ที่ทำให้ฟินวันเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
สามารถสรุปง่าย ๆ ได้ 2 ข้อด้วยกัน คือ
1. เน้นการควบรวมกิจการขนาดเล็ก หรือมีมูลค่าของกิจการที่ต่ำ
อย่างเช่น กิจการที่ใกล้จะล้มละลาย หรือเป็นกิจการที่กำลังประสบปัญหา
ด้วยแนวทางนี้ ทำให้เอกธนกิจ ได้กิจการที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด และพ่วงมาด้วยทรัพย์สินจำนวนมาก เข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของฟินวัน
อย่างเช่น การเข้าซื้อกิจการ บล.โกลด์ฮิลล์ ที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน
ด้วยราคาหุ้นเพียง 25 บาท และใช้เงินทุนทั้งสิ้น 10 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี ก็เปลี่ยนชื่อเป็น บล.เอกธำรง และนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ราคาหุ้นของเอกธำรง ก็ได้พุ่งขึ้นจนทำจุดสูงสุดถึง 500 บาท หรือคิดเป็นกว่า 20 เท่าของราคาเดิม
2. อีกหนึ่งวิธีที่ฟินวัน ใช้ในการขยายกิจการ โดยแทบจะไม่ต้องเสียเงินในการเข้าเทกโอเวอร์ ก็คือ การแลกหุ้น
วิธีการคือ ฟินวันจะเข้าไปถือหุ้น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเป้าหมาย โดยสิ่งที่ใช้แลกก็คือ ฟินวันจะออกหุ้นใหม่มาให้ผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้น
เมื่อมีการถือหุ้นไขว้กัน และมีความเชื่อมโยงกันแล้ว
ตลาดก็มองว่าทั้งสองกิจการ จะช่วยเหลือ หรือผลักดันซึ่งกันและกัน
ทำให้มูลค่าของทั้งสองกิจการก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย
ซึ่งโดยปกติแล้ว ไม่มีอะไรรับประกันว่า การแลกหุ้นและถือหุ้นไขว้กันเช่นนี้ จะทำให้ผลประกอบการหรือมูลค่าของทั้งสองบริษัทเพิ่มขึ้น เพราะอาจจะมีฝั่งใดฝั่งหนึ่ง กลายเป็นตัวถ่วง ทำให้มูลค่าโดยรวมลดลง หรือนิ่งอยู่กับที่
แต่สำหรับฟินวัน กลยุทธ์นี้ได้ผลก็เพราะว่า ตลาดหุ้นของไทยในช่วงปี 2520 ถึงปี 2540 กำลังร้อนแรง
โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนดัชนี SET ทะยานขึ้นไปถึง 1,700 จุด
ทำให้ตลาดส่วนใหญ่ ให้น้ำหนักกับด้านบวกมากกว่าด้านลบของกิจการ
และยิ่งมีชื่อของฟินวัน ซึ่งกำลังเติบโตรอบด้าน
ส่งผลให้หุ้นของฟินวัน ถูกซื้อขายกันด้วยอัตราราคาต่อกำไร หรือ P/E ที่สูงมาก
ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีฟินวันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว นักลงทุนจึงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของทั้งฟินวัน และกิจการที่แลกหุ้นต่างปรับเพิ่มขึ้น
ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ฟินวันใช้เงินน้อย หรือแทบจะไม่ใช้เงินในการเข้าซื้อกิจการเลย ฟินวันจึงสามารถเข้าเทกโอเวอร์กิจการอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังสามารถเข้าไปครอบครองกิจการที่ใหญ่กว่าตัวเองได้อีกด้วย
อย่างเช่น การเข้าถือหุ้น 20% ในธนาคารไทยทนุ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับประเทศ ที่ใหญ่กว่าฟินวัน โดยดีลดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 3,400 ล้านบาท แต่ฟินวันแทบไม่เสียเงินในการซื้อหุ้นครั้งนั้นเลย
อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤติฟองสบู่ และการโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ในปี 2540
จนเกิดหนี้เสียอย่างหนักในระบบเศรษฐกิจ และกลายเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง
ฟินวันก็เริ่มมีปัญหาสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุด กลายเป็นธนาคารไทยทนุ ต้องประกาศเข้าไปเทกโอเวอร์ฟินวัน ที่กำลังจะล้มละลายแทน
แต่จากการปฏิบัติตามมาตรการของ IMF ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดสถาบันการเงินจำนวนมาก
ซึ่งมีฟินวันเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ส่งผลให้ฟินวันที่เคยเป็นอาณาจักรแสนล้านต้องจบลง
รวมถึงคุณปิ่น และผู้บริหารระดับสูง ที่โดนกล่าวโทษว่า ฝ่าฝืนประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และยักยอกทรัพย์โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับบริษัทย่อย แม้ว่าลูกหนี้จะไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ก็ตาม
ทำให้คุณปิ่นต้องหนีคดีไปยังต่างประเทศ และฟินวันยังถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง
แม้ทางการไทยพยายามจะดำเนินการขอส่งมอบผู้ร้ายข้ามแดน
แต่ศาลประเทศอังกฤษได้ตัดสินว่า คุณปิ่นไม่มีความผิด และการกระทำดังกล่าวไม่มีใครได้รับผลกระทบ นอกจากฟินวันเอง ที่พยายามรับผิดชอบต่อหนี้สินของบริษัทในเครือ โดยยกอ้างหลักการที่ว่า “กิจการไม่อาจยักยอกเงินของตัวเองได้”
แม้แต่ตัวคุณปิ่นก็ไม่ได้ยักยอกเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเช่นกัน
รวมถึงการดำเนินการทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ล้วนอยู่ในสายตาของธนาคารแห่งประเทศไทย
ซึ่งนักลงทุน รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ได้คิดว่าสภาพเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงอย่างมากในเวลานั้น แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็ยังบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดี
ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเป็นบทเรียนให้เราได้รู้ว่า
ในวันที่ฟ้าฝนเป็นใจ บริษัทจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสทางธุรกิจเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย เพื่อต่อยอดเงินที่มีอยู่ ให้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ
แต่ในวันที่ฝนตกพายุเข้า
อุปสรรคมันก็จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เราล้มได้ แม้ว่าจะเคยยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม
สิ่งที่พอจะป้องกันปัญหานี้ได้ก็คือ “การมีร่ม” เตรียมไว้เสมอ แม้ในวันที่ฝนไม่ตก
นั่นก็คือการเตรียมความพร้อม การมีทีมงานที่คอยดูแลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของบริษัทแม้ในยามที่บริษัทเติบโตดี
อย่างในกรณีของฟินวัน ที่ได้ใช้วิธีรุกเทกโอเวอร์ในสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยไม่ได้เผื่อใจไว้ว่าภาคการเงินจะมีปัญหา
เมื่อทุกอย่างมันกลับข้าง
สิ่งที่มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท ก็พังทลายลงได้ เหมือนฟินวัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-บทความ “คดีหมดอายุความ 'ปิ่น' กลับไทยฉลุย”, กรุงเทพธุรกิจ
-บทความ “เกมเทคโอเวอร์”, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร, กรุงเทพธุรกิจ
-https://voicetv.co.th/read/BJrsrXLNz
-https://thaipublica.org/2021/11/chittisak17/
-https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=4346377744861&id=1450051196
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.