เมื่อไร ประเทศไทย จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

เมื่อไร ประเทศไทย จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

3 ต.ค. 2022
เมื่อไร ประเทศไทย จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง /โดย ลงทุนแมน
เรารู้กันดีว่าประเทศไทย ติดกับดักรายได้ปานกลาง มานานเป็นทศวรรษ
คล้ายกับอีกหลายประเทศ ที่ต้องการจะก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูงให้ได้
เรามาดูกันว่าแล้วปัจจัยอะไรบ้าง
ที่จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้น จากการติดกับดักรายได้ปานกลาง
ที่ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร เราถึงจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากเรามาดูข้อมูลจากธนาคารโลก ที่ได้จัดกลุ่มประเทศต่าง ๆ ตามระดับรายได้ประชาชาติต่อหัว
หรือที่เรียกว่า Gross National Income per Capita จะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม
- ประเทศรายได้ต่ำ
ระดับรายได้ต่ำกว่า 38,700 บาทต่อคนต่อปี
- ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ
ระดับรายได้ 38,700 ถึง 151,500 บาทต่อคนต่อปี
- ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง
ระดับรายได้ 151,500 ถึง 470,500 บาทต่อคนต่อปี
- ประเทศรายได้สูง
ระดับรายได้ 470,500 บาทต่อคนต่อปี ขึ้นไป
สำหรับประเทศไทยของเรานั้น
เรามีรายได้ประชาชาติ อยู่ที่ 269,000 บาทต่อคนต่อปี
จัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือ ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง
แต่ก็ต้องบอกว่า เราอยู่กลุ่มนี้มาตั้งแต่ปี 2519 หรืออยู่มานานกว่า 46 ปีแล้ว..
สำหรับประเทศไทยและอีกหลายประเทศ ที่มีรายได้ประชาชาติจัดอยู่ในกลุ่มนี้และไม่ไปไหน
สาเหตุสำคัญก็เพราะว่า ในช่วงแรกที่เศรษฐกิจของประเทศเริ่มเติบโตขึ้นมา เพราะมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนแรงงานที่ราคาถูก จนสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก
แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง
เมื่อจำนวนแรงงานเริ่มคงที่ หรือลดลง
รวมถึงค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
ในที่สุด ประเทศเหล่านี้ก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กับประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า
แม้ว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง จะยังมีค่าแรงถูกกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
แต่ด้วยความที่เป็นแรงงานเพียงแค่ภาคการผลิต ไม่ได้มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
รวมถึงไม่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ประเทศรายได้ปานกลาง ติดปัญหาคอขวด ไม่สามารถก้าวขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูงได้สักที
แล้วสถานการณ์แบบนี้
เกิดขึ้นที่ประเทศไหนบ้าง ?
ก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ในทวีปอเมริกาใต้ อย่างอาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย
หรือในทวีปเอเชีย อย่างไทย หรือแม้แต่ลาว ก็ด้วย
แต่ก็ต้องบอกว่ายังพอมีวิธี ที่เราจะหลุดพ้นจากปัญหาคอขวดตรงนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น
- การส่งเสริมศักยภาพแรงงานในปัจจุบัน
รวมไปถึงบุคลากรในด้านการศึกษาในอนาคต ทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ให้มีทักษะที่จำเป็นในการสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ทั้งความรู้ในการทำงานกับเทคโนโลยี รวมถึงทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ
- มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่เหมาะสม
โดยเฉพาะสำหรับงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศ
- รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมาย ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ
เช่น ถ้าประเทศเรามีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
รัฐบาลก็ควรส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง
รวมไปถึงกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
หรือที่เรียกกันว่า Foreign Direct Investment ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน และก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้แก่แรงงานในประเทศ
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า การที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง จะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และต้องมีการลงมือทำอย่างจริงจังพอสมควรเลยทีเดียว

ในปี 2564 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้ประเมินไว้ว่าประชากรไทย
ที่กำลังแก่ตัวลงจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยนั้นเติบโตช้าลง
กว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
หรือก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้นั้น
ก็คาดการณ์ไว้ว่ามันจะเกิดขึ้นในปี 2584
หรืออีก 19 ปี นับจากวันนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://blogs.worldbank.org/opendata/new-world-bank-country-classifications-income-level-2021-2022
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GNP.PCAP.CD?locations=TH
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_7Nov2017.pdf
-https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=942
-https://www.allianz-trade.com/en_global/news-insights/economic-insights/The-middle-income-trap-inequality-across-countries-after-Covid-19.html
-https://www.macrotrends.net/countries/LAO/lao-pdr/gni-per-capita
-https://tdri.or.th/en/2021/11/thailand-needs-a-new-growth-pathway/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.