ทำไมการตรึงค่าเงินบาท ถึงเกิดขึ้นได้ยาก

ทำไมการตรึงค่าเงินบาท ถึงเกิดขึ้นได้ยาก

6 ต.ค. 2022
ทำไมการตรึงค่าเงินบาท ถึงเกิดขึ้นได้ยาก /โดย ลงทุนแมน
ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาอยู่ที่ 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าอาจจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ที่ขายสินค้าให้สหรัฐอเมริกา แต่ในทางกลับกันก็ได้สร้างผลกระทบอย่างมาก ต่อภาคการนำเข้าที่ต้องจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
รู้ไหมว่า เดือนสิงหาคม ปี 2565 เพียงเดือนเดียว ประเทศไทยขาดดุลการค้าสูงกว่า 160,000 ล้านบาท มากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี เนื่องจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงเริ่มมีการพูดกันว่า ค่าเงินบาทควรจะถูกตรึงไว้ที่ระดับ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดผลกระทบจากการขาดดุลการค้า และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้นำเข้า
อย่างไรก็ตาม การตรึงค่าเงินบาท อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
เพราะในทางเศรษฐศาสตร์นั้น มีทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า “Impossible Trinity”
หรือทฤษฎี “สามสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
ซึ่งเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่บอกว่า การที่ประเทศหนึ่งจะเลือกดำเนินนโยบายทางการเงิน พร้อมกัน 3 อย่างนั้น เป็นไปไม่ได้
นโยบาย 3 อย่างที่ว่านั้นคืออะไร
และในกรณีที่ประเทศต้องการตรึงค่าเงินบาทไว้จริง ๆ จะเกิดอะไรขึ้น
ลงทุนแมนจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ต้องบอกว่า ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น จะมีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ 3 อย่าง ที่ไม่สามารถดำเนินการไปได้พร้อมกัน คือ
- นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคงที่
- นโยบายการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี
- นโยบายการเงินอิสระ
ถ้าหากประเทศไหนเลือกทำนโยบายทั้ง 3 อย่างในเวลาเดียวกัน ก็จะสะสมความไม่สมดุลเอาไว้ในระบบ จนสุดท้ายก็จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจตามมา
ในกรณีของประเทศไทยนั้น เราเลือกใช้ 2 จาก 3 นโยบาย คือ
1. นโยบายการเงินอิสระ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถปรับอัตราดอกเบี้ย ได้ตามความเหมาะสม
2. นโยบายการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี โดยเงินทุนสามารถไหลเข้าออกประเทศได้อย่างอิสระ
แนวทางดังกล่าว เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ ต่อการค้าและการลงทุนในระบบทุนนิยม ซึ่งหลายประเทศก็นิยมใช้เช่นกัน
เมื่อเลือกใช้นโยบาย 2 อย่างนี้แล้ว ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้นโยบายอีกอย่างที่เหลือ
นั่นคือ “นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคงที่” ได้
และต้องยอมให้ค่าเงินบาท เคลื่อนไหวไปตามกลไก ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่แพงขึ้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 14 ปี
แล้วถ้าหากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ?
เมื่อค่าเงินบาทที่ควรจะเป็นไปตามกลไกตลาด คือ 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่รัฐบาลต้องการให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็น 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
นั่นแปลว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่สะสมอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ออกมาไล่ซื้อเงินบาท
ความจริงแล้ว การแทรกแซงค่าเงินในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องคอยเข้ามาดูแลอยู่แล้ว ในยามที่ค่าเงินมีความผันผวนอย่างรุนแรง
แต่ประเด็นก็คือ การแทรกแซงค่าเงินแบบนี้ ไม่สามารถทำได้ตลอดไป
นั่นก็เป็นเพราะว่า ยิ่งถ้าทุนสำรองระหว่างประเทศถูกนำออกมาใช้ และลดลงมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่น และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศแย่ลง
และยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤติค่าเงิน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อตอนปี 2540 ด้วย
สำหรับเหตุการณ์ในปี 2540 ประเทศไทยพยายามตรึงค่าเงินบาทเอาไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งที่หากพิจารณาจากพื้นฐานของสภาพเศรษฐกิจและกลไกตลาดแล้ว ค่าเงินบาทควรจะอ่อนค่ามากกว่านั้น
เมื่อประเทศไทยโดนโจมตีค่าเงิน จากกองทุนนักเก็งกำไร และธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามเข้าแทรกแซงค่าเงิน จนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลง
สุดท้ายธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลไทย ก็ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จนเคยอ่อนค่าไปถึง 55 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2541
แน่นอนว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมากในปัจจุบัน ได้สร้างภาระอย่างมากต่อธุรกิจนำเข้า และต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้น ก็ได้ส่งผ่านมายังเงินเฟ้อ และส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ
แต่ถ้าเทียบกับบทเรียนราคาแพง ที่ประเทศไทยเคยได้รับเมื่อปี 2540
การเลือกแก้ปัญหาโดยการตรึงค่าเงินบาท
ก็อาจส่งผลกระทบมากกว่า นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Impossible_trinity
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_13May2019.aspx
-https://www.bangkokpost.com/business/1280083/learning-the-lessons-of-the-97-crash
-https://www.nationthailand.com/business/30205592
-https://tradingeconomics.com/thailand/balance-of-trade
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.