“Financial Well-being Hackathon for Thais” การแข่งขันพัฒนาโซลูชัน เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินคนไทย จาก ทีทีบี

“Financial Well-being Hackathon for Thais” การแข่งขันพัฒนาโซลูชัน เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินคนไทย จาก ทีทีบี

18 ต.ค. 2022
“Financial Well-being Hackathon for Thais” การแข่งขันพัฒนาโซลูชัน
เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินคนไทย จาก ทีทีบี
ทีทีบี x ลงทุนแมน
หากถามว่าสภาพทางการเงินของคนไทย ในแต่ละเจเนอเรชันเป็นอย่างไร
ก็ต้องตอบว่าในแต่ละกลุ่มมีปัญหาเฉพาะ ที่แตกต่างกันออกไป
จากการสำรวจของทีทีบี พบว่า
- คน Gen Y จำนวน 1 ใน 5 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
- คน Gen Z มีอัตราการติดหนี้ เพิ่มขึ้นถึง 200%
- วัยเกษียณ ราว 3 ใน 4 มีเงินออมไม่เพียงพอภายหลังจากการเกษียณอายุ
นอกจากนั้น คนไทยยังมีประกันเฉลี่ยเพียง 39 ฉบับ ต่อประชากร 100 คน เรียกได้ว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น หรือเกาะไต้หวันและฮ่องกง ที่มีกรมธรรม์เฉลี่ยต่อหัวคนละหลายฉบับ
แถมยังมีการพบว่า เกษตรกรไทยมากถึง 92% เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ รวมถึงเจ้าของธุรกิจ SME กว่า 4 ใน 5 ยังต้องเผชิญกับปัญหาเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันทางการเงิน
นั่นจึงทำให้ ทีทีบี หนึ่งในธนาคารรายใหญ่ในประเทศไทย ที่มีเป้าหมายในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ให้มีชีวิตทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น ได้จัดงาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” เพื่อเฟ้นหาผู้ที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อม ๆ กัน
วันนี้ เรามาดูกันว่า ภาพรวมชีวิตทางการเงินของคนไทย เป็นอย่างไร
แล้วโครงการ Financial Well-being Hackathon for Thais จะเข้ามาช่วย อะไรได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริงอยู่ว่า แม้แต่ละเจเนอเรชันจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน
บวกกับในช่วงที่ผ่านมา เราเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยต่ำมานานหลายปี
ความน่าสนใจของดอกเบี้ย จากการฝากธนาคาร จึงอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด
พอต้องมาเผชิญเข้ากับปัญหาไม่คาดฝัน และจำเป็นต้องใช้เงินทุนฉุกเฉิน ทางเลือกส่วนใหญ่จึงหันไปที่การกู้ยืม สะท้อนให้เห็นได้ชัดจากหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีที่ปรับตัวสูงขึ้น
ปี 2563 หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี 89.7%
ปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี 90.1%
โดยในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้คาดการณ์ว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะยังคงสูงขึ้นอีก
แต่ด้วยเศรษฐกิจที่บางส่วนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้แล้ว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 86.5 ถึง 88.5% ต่อจีดีพี แต่ก็ต้องบอกว่า ระดับดังกล่าว ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19
นอกจากนี้ หนี้นอกระบบ ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่เข้าไม่ถึงสถาบันทางการเงิน
ตัวเลือกนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นปัญหาทางการเงินเรื้อรังในหลายครอบครัว
โดยภายในงานเปิดตัวโครงการ ก็มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแชร์ประสบการณ์ และย้ำถึงปัญหาทางการเงินที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน พร้อมนำเสนอถึงวิสัยทัศน์ และวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ
เริ่มตั้งแต่คุณธิษณา ธิติศักดิ์สกุล เจ้าของ Noburo ฟินเทคสตาร์ตอัปสัญชาติไทย ได้แชร์ให้ฟังว่า จากการคลุกคลีอยู่กับกลุ่มแรงงานมาเป็นระยะเวลาหลายปี พบว่า ปัญหาการเงินส่วนใหญ่ของกลุ่มคนเหล่านี้ เกิดจากพวกเขามีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
เมื่อค่าใช้จ่ายมันล้นรายได้ หลายคนก็ต้องหันไปกู้ยืม จนกลายมาเป็นการพึ่งพาหนี้วนลูปไม่รู้จบ
สรุปเป็นสถานการณ์ง่าย ๆ เลยก็คือ เงินเดือนมีไว้จ่ายหนี้ โอทีมีไว้กินอยู่
นอกจากนี้ คุณปฐมา จันทรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยี ผู้มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับไมโครซอฟต์ ไอบีเอ็มยาวนานกว่า 30 ปี ปัจจุบัน เป็นซีอีโอของเอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ก็ได้แชร์ให้ฟังว่า นอกจากธุรกิจจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแล้ว
“ข้อมูล” ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญและมองข้ามไม่ได้เลย เพราะหากเรามีเพียงเทคโนโลยี
มันก็จะเป็นแค่เปลือกภายนอกเท่านั้น ข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราลงลึกไปในรายละเอียดได้ว่า
- กลุ่มเป้าหมายของเรา มีพฤติกรรมอย่างไร
- กลุ่มคนเป้าหมายของเรา กำลังมองหาอะไรอยู่
คุณฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีทีบี ได้ย้ำให้ฟังว่า
ในยุคสมัยนี้ เทคโนโลยี และ ข้อมูล หลอมรวมกันเป็นหนึ่งแล้ว
เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากทั้ง 2 ด้านนี้ เพื่อพัฒนาโซลูชัน
ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างในกรณีนี้ก็คือ “คนไทยที่ประสบปัญหาเรื่องการเงิน” ให้ตรงจุดที่สุด
สำหรับปัญหาด้านการเงิน ก็อาจจะเป็นในเชิงที่ว่า
พวกเขาใช้จ่ายเงินไปกับอะไร
มีกระแสเงินสดในแต่ละวันอย่างไร
โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เราต่อยอดโซลูชันใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ได้
ดังนั้น เทคโนโลยีที่ดี ต้องมาควบคู่กับข้อมูลเชิงลึก ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ เราถึงจะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่อาจจะเข้ามาช่วยปลดล็อก ให้เราสามารถแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ลดลง
โดยทีทีบีเอง ก็ได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่ผู้มีปัญหาทางการเงินเรื้อรังมีร่วมกัน
แต่อาจไม่ทันสังเกตเลย ก็คือพวกเขา ขาด “การวางแผน” และ “ตั้งเป้าหมาย”
ดังนั้น คุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีนั้น จำเป็นต้องมี 4 เสาหลักนี้ เป็นองค์ประกอบ
- ฉลามออม ฉลาดใช้
- รอบรู้เรื่องกู้ยืม
- ลงทุนเพื่ออนาคต
- มีความคุ้มครองที่อุ่นใจ
จึงนำมาสู่การจัดงาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” เป็นการแข่งขันคิดหาไอเดียสำหรับการพัฒนาโซลูชัน เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้ดีขึ้น
ครอบคลุมเป้าหมายตั้งแต่ ผู้มีรายได้น้อย
มนุษย์เงินเดือน
ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงวัยเกษียณ
โดยนำข้อมูล และเทคโนโลยี มาเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนา
โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบก็จะมีโอกาสได้ร่วมพัฒนาไอเดียที่คิดค้นขึ้นร่วมกับทีทีบีต่อไปอีกด้วย
Financial Well-being Hackathon for Thais จึงเป็นอีกหนึ่งงานที่น่าสนใจ
เพราะทีทีบีเชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีความตั้งใจดี มีไอเดียสดใหม่ และมีความตั้งใจที่จะรวมพลังจากผู้ร่วมอุดมการณ์มาแก้ปัญหาให้กับประเทศจริง ๆ เพราะอนาคตของประเทศคืออนาคตของทุกคน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.