ทำไมชาวเอสโตเนีย รวยขึ้น 12 เท่า ในรุ่นเดียว

ทำไมชาวเอสโตเนีย รวยขึ้น 12 เท่า ในรุ่นเดียว

20 ต.ค. 2022
ทำไมชาวเอสโตเนีย รวยขึ้น 12 เท่า ในรุ่นเดียว /โดย ลงทุนแมน
ย้อนกลับไปเกือบ 30 ปีก่อน
หรือช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540
ชาวเอสโตเนีย มีรายได้เฉลี่ยคนละ 84,000 บาทต่อปี
ในขณะที่คนไทย มีรายได้เฉลี่ยคนละ 69,000 บาทต่อปี
ในปัจจุบัน ชาวเอสโตเนีย มีรายได้เฉลี่ยต่อคน สูงถึง 1,000,000 บาทต่อปี
ในขณะที่คนไทย มีรายได้เฉลี่ยคนละ 275,000 บาทต่อปี
สรุปได้ว่าแต่ก่อนชาวเอสโตเนียกับเรา มีรายได้ไม่ต่างกันมาก
แต่วันนี้ชาวเอสโตเนียกลับรวยมากขึ้นถึง 12 เท่า จนเราต้องทำงาน 4 ปี จึงจะมีรายได้เท่ากับชาวเอสโตเนียทำงานปีเดียว
แล้วที่ผ่านมา มันเกิดอะไรขึ้นที่เอสโตเนีย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เอสโตเนีย เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต
ซึ่งในตอนนั้น เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก เช่น เนย นม และชีส
โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเบา เช่น เสื้อผ้าและของใช้สำหรับผู้หญิง
รวมไปถึงเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหมืองหิน และหินน้ำมัน ซึ่งนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จนทำให้เอสโตเนียกลายเป็นโรงไฟฟ้าหลักให้กับดินแดนสหภาพโซเวียตตอนเหนือ
และประเทศเล็ก ๆ นี้ ก็มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง นั่นคือ มหาวิทยาลัย Tartu เป็นขุมทรัพย์ด้านความรู้ของประเทศ ที่มีการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในตอนนั้นยังเป็นระบบวางแผนจากส่วนกลาง
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ รัฐยังเป็นเจ้าของธุรกิจ และมีอำนาจสั่งให้ธุรกิจภายในประเทศผลิตอะไร จำนวนเท่าไรบ้าง ทำให้อุตสาหกรรมของเอสโตเนียไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร
ดังนั้น ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เอสโตเนียก็ได้กลายมาเป็นประเทศอิสระ
ซึ่งสิ่งที่เอสโตเนียเริ่มให้ความสำคัญขึ้นมาทันที นั่นก็คือ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ”
บวกกับการเปิดช่องว่าง ให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้น จึงได้เปิดตัวสกุลเงินของตัวเองที่มีชื่อว่า “Kroon” เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และประกาศใช้อัตราภาษีแบบคงที่เป็นประเทศแรกของโลก โดยเก็บร้อยละ 26 อัตราเดียวกันทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจให้ธุรกิจในประเทศ และชาวเอสโตเนียแข่งขันแบบตลาดเสรีมากขึ้น
เพราะต้องบอกอย่างนี้ว่า เศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง ทำให้ผู้คนขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนา และแสวงหาความมั่งคั่งให้กับตัวเอง การปรับเปลี่ยนมาสู่เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้คนในประเทศมีรายได้ ตามความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่
แต่ความฝันของเอสโตเนียยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของนายมาร์ต ลาร์
ต้องการพลิกการเติบโตของประเทศ ให้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยมองเอสโตเนียให้เป็นเหมือน Sandbox สำหรับธุรกิจสตาร์ตอัปที่เน้นความคล่องตัวและรวดเร็ว
แล้วการจะไปถึงจุดนั้นได้
เอสโตเนียวางโครงสร้างการบริหารประเทศอย่างไร ?
เริ่มตั้งแต่ “การพัฒนาคนและระบบในประเทศ”
รัฐบาลเอสโตเนียมีการนำคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งในโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีความคุ้นเคย มีพื้นฐานด้านดิจิทัล และสามารถต่อยอดไปยังอนาคตได้
ส่วนคนรุ่นอื่น รัฐบาลก็สร้างความคุ้นชินกับเทคโนโลยี ด้วยการใช้ระบบบัตรประชาชนออนไลน์
และสร้างระบบเชื่อมต่อข้อมูลหน่วยงานรัฐ เพื่อให้บริการคนในประเทศแบบไร้รอยต่อ และทำให้คนรู้สึกสะดวกกับการใช้งานแบบนี้
นอกจากนี้ เอสโตเนียยังให้ความสำคัญกับการปรับใช้เทคโนโลยีในประเทศสำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี หรือขาดทักษะด้านนี้ เช่น การอบรมทักษะทางดิจิทัลให้กับคนกลุ่มนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว
และผลที่เกิดขึ้นจากการวางโครงสร้างในประเทศแบบนี้ หากไปดูสถิติย้อนหลัง พบว่า
- ในปี 2000 จำนวนประชากรที่เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต 28.6%
- ในปี 2020 จำนวนประชากรที่เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต 89.1%
จะเห็นได้ว่า ภายใน 20 ปี คนเอสโตเนียสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า นับว่าประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย ในการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
เรื่องต่อมาคือ “การรับ แลกเปลี่ยน และต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ”
โดยในยุคเริ่มต้น มีโรงงานผลิตโทรศัพท์ Ericsson จากสวีเดนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ และมีการส่งทีมวิจัยไปยังฟินแลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท Nokia อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในประเทศเอสโตเนียเอง ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานวิจัย รวมถึงศูนย์การศึกษาด้าน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวอย่างก็เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่ง Tallinn ในปี 1918
สภาวิทยาศาสตร์แห่งเอสโตเนีย ในปี 1938 และสถาบันไซเบอร์เนติกส์ ในปี 1960
จะเห็นได้ว่า เอสโตเนียไม่เพียงรับเอาเทคโนโลยีต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างการต่อยอดให้เกิดขึ้น ด้วยการก่อตั้งศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษา เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการสื่อสารในอนาคต และช่วยให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในตอนนั้นเอง กลุ่มประเทศแถบบอลติก เช่น เอสโตเนียและลัตเวีย กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมของอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้การพัฒนาต่อยอดของเอสโตเนีย จึงมีความต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน และสามารถต่อยอดได้
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “การสร้างบทบาทผู้ประสานงานของรัฐ”
รัฐบาลเอสโตเนีย พยายามสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานให้ทุนและสถานที่ สำหรับการจัดตั้งสตาร์ตอัป สถาบันนวัตกรรม หอการค้า รวมไปถึงสมาคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศแข่งขันได้
นอกจากนี้ เอสโตเนียยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ด้วยการร่วมมือกับธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการสร้างระบบที่รองรับในส่วนนี้ ซึ่งในปี 2012 รัฐบาลเอสโตเนียก็ได้ประกาศว่า การเก็บข้อมูลต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง
และที่น่าทึ่งไปกว่านั้น เอสโตเนียได้ประกาศใช้ระบบ “e-Residency” ในปี 2014 เพื่อดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยไม่ต้องมาตั้งสำนักงานในเอสโตเนีย แต่จะได้รับสิทธิพิเศษในฐานะพลเมืองของเอสโตเนีย ทั้งในด้านภาษีและขั้นตอนการทำธุรกิจ
โดยผลของการออกนโยบายเช่นนี้
ทำให้เอสโตเนียมีธุรกิจสตาร์ตอัปภายในประเทศกว่า 400 ราย
และภายใต้ระบบ e-Residency มีชาวต่างชาติลงทะเบียนกว่า 85,000 คน จาก 170 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีธุรกิจกว่า 19,000 บริษัท ที่ลงทะเบียนผ่านระบบนี้ในวงการที่หลากหลาย
ซึ่งธุรกิจที่น่าจะคุ้นชื่อเป็นอย่างดี นั่นคือ Skype โปรแกรมสื่อสารที่ถูกขายต่อให้กับ Microsoft หรือแม้แต่แอปเรียกรถอย่าง Bolt ก็มาจากประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลเอสโตเนียพยายามวางตัวเองเป็นผู้ประสานงาน คอยเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งคอยสร้างนวัตกรรมเพื่อดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาลงทุน โดยมีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ซึ่งรัฐบาลเอง ก็สามารถเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นได้จากส่วนนี้ และสามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ตลอดจนนำไปพัฒนาโครงสร้างและคนในประเทศ ให้มีทักษะในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง
ผลความสำเร็จจากทั้งหมดที่เล่ามานี้ ทำให้ประเทศและชาวเอสโตเนีย เติบโตแบบก้าวกระโดดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
แต่ความสำเร็จของเอสโตเนียก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายในวันเดียว เพราะเราจะเห็นได้ว่ามันเกิดจากส่วนประกอบของความต่อเนื่อง และการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ประเทศเราจะอยู่ตรงไหนของเศรษฐกิจโลก
เมื่อส่วนผสมเหล่านี้ลงตัว ผลลัพธ์ที่ได้จึงทำให้เอสโตเนีย
ประเทศที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน
สามารถรวยขึ้นได้มากขึ้นถึง 12 เท่า ในรุ่นเดียว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.cato.org/commentary/why-estonia-country-future
-https://blogs.worldbank.org/developmenttalk/development-e-story-estonia
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Estonia
-https://www.britannica.com/place/Estonia
-https://www.the101.world/wasin-punthong-interview-estonia/
-https://bit.ly/3yI5aI8
-https://company.e-resident.gov.ee/
-https://bit.ly/3gdpGtU
-https://en.wikipedia.org/wiki/E-Residency_of_Estonia
-https://www.weforum.org/agenda/2017/03/europes-most-entrepreneurial-country/
-https://estonianworld.com/business/a-hundred-years-of-the-estonian-economy/
-https://zd.net/3s1Hx9D
-https://bit.ly/3s7hBcF
-https://repository.upenn.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1158&context=curej
-https://www.workinestonia.com/working-in-estonia/taxes/
-https://en.unesco.org/courier/2017-april-june/global-lessons-estonia-s-tech-savvy-government
-https://freedomhouse.org/country/estonia/freedom-net/2021
-หนังสือ เอสโตเนีย: ประชาธิปไตย เทคโนโลยีและความมั่นคงไซเบอร์ โดยวศิน ปั้นทอง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.