กรณีศึกษา SoftBank กำไรล้านล้าน แต่จ่ายภาษี 0 บาท

กรณีศึกษา SoftBank กำไรล้านล้าน แต่จ่ายภาษี 0 บาท

30 ต.ค. 2022
กรณีศึกษา SoftBank กำไรล้านล้าน แต่จ่ายภาษี 0 บาท /โดย ลงทุนแมน
แม้ แจ็ก หม่า จะเป็นผู้ก่อตั้ง Alibaba แต่รู้ไหมว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน Alibaba ไม่ใช่ แจ็ก หม่า ทว่าเป็น มาซาโยชิ คนญี่ปุ่นที่เป็นผู้อพยพชาวเกาหลีใต้
มาซาโยชิ เป็นเจ้าของเครือธุรกิจในญี่ปุ่น ชื่อว่า “SoftBank” ที่ได้เข้าไปลงทุนใน Alibaba ตั้งแต่ยังเป็นสตาร์ตอัป สร้างผลตอบแทนเป็นร้อยเท่า ปัจจุบันยังเป็นผู้ถือหุ้น ในสัดส่วนมากถึง 25%
นอกจากจะเป็นนักลงทุนตัวฉกาจแล้ว SoftBank ก็ยังเป็นบริษัทที่สร้างกำไรได้มากที่สุด ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว
โดยที่บริษัทสามารถทำกำไรไปได้ในระดับล้านล้านบาท แต่กลับไม่ต้องจ่ายภาษีเลย แม้แต่บาทเดียว..
คำถามคือ SoftBank ทำได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
รู้หรือไม่ว่า ในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา SoftBank เสียภาษีไปแค่ 4 ครั้งเท่านั้น คือในปี 2010, ปี 2012, ปี 2013 และปี 2017
ซึ่งจำนวนเงินภาษีที่ทาง SoftBank จ่ายไป
คิดเป็นเงินแค่ 4,744 ล้านบาท
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ทาง SoftBank สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจำนวนมากมาได้ตลอด ก็คือ “การรู้ช่องทางหลบเลี่ยงภาษี”
สำหรับบริษัทในประเทศญี่ปุ่นนั้น จะมีการคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อยู่ที่ 23% แต่อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละอุตสาหกรรม
และสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจในรูปแบบ Holding Company ที่มีรายได้หลักมาจากเงินปันผล และรายได้ที่ SoftBank ได้นั้น ส่วนมากเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี หรือมีอัตราภาษีที่ต่ำ
โดยตัวชี้วัดจำนวนภาษีที่ SoftBank จะต้องจ่ายจริง ๆ จะมาจาก “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” ซึ่ง SoftBank มีรายได้จากการลงทุนในหลายช่องทาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ตัวอย่างเช่น บริษัทในประเทศที่ SoftBank ถือหุ้นมากกว่า 1 ใน 3 ตามกฎหมายแล้ว เงินปันผลที่บริษัทเหล่านี้ จ่ายให้กับ SoftBank จะไม่ต้องเสียภาษีเลย
ในขณะเดียวกัน เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ ถ้าเป็นบริษัทที่ SoftBank ถือหุ้นมากกว่า 25% ส่วนใหญ่เงินปันผลที่บริษัทเหล่านี้จ่ายให้ SoftBank
ก็จะไม่ถูกนำมาคิดภาษี เช่นกัน
นอกจากนั้น SoftBank ยังตั้งใจทำธุรกรรมให้มีการขาดทุนเกิดขึ้น ทำให้การขาดทุนนั้น มาเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อเสียภาษีน้อยลงได้
ธุรกรรมดังกล่าว ก็เช่น การโอนหุ้นระหว่างบริษัทลูกอย่าง Arm Holdings และ Vision Fund
โดย Arm Holdings เป็นผู้พัฒนาชิปเทค สัญชาติอังกฤษ ที่ SoftBank ไปซื้อมา ในปี 2016
ส่วน Vision Fund นั้น คือหนึ่งในบริษัทลูกของ SoftBank ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยจะดำเนินงานเป็นบริษัทจัดการกองทุน ที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนี้นับว่าเป็นกองทุน ที่ลงทุนในด้านเทคโนโลยี ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยกระบวนการที่ทำให้ทาง SoftBank ขาดทุนทางภาษี สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ คือ
- ในปี 2018 SoftBank ถือหุ้นของบริษัท Arm Holdings
- SoftBank ได้โอนหุ้นส่วนใหญ่ของ Arm Holdings ที่ถืออยู่ ไปให้ Vision Fund
โดยส่วนต่างของมูลค่าที่ SoftBank ซื้อ Arm Holdings มา เมื่อเทียบกับตอนที่โอนไปให้ Vision Fund แล้ว
เกิดเป็นการขาดทุนทางภาษีสูงถึง 511,222 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า การโอนหุ้นที่บริษัทแม่ถืออยู่ ไปให้บริษัทลูกอีกบริษัทถือแทน จะช่วยสร้างผลประโยชน์ทางด้านภาษีให้กับ SoftBank อย่างมาก
โดยในปี 2020 SoftBank ขาดทุนทางภาษีไปมากถึง 867,848 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนทางภาษีนี้ ทางกฎหมายสามารถนำไปชดเชยกับกำไรในอนาคต ทำให้ SoftBank แทบไม่ต้องเสียภาษีเลย
ซึ่งผลจากการที่ SoftBank จ่ายภาษีน้อยขนาดนี้ ก็สร้างความปวดหัวให้กับหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบการจัดเก็บภาษีมาโดยตลอด
ทำให้ในปี 2020 ทางหน่วยงานสรรพากรของญี่ปุ่น ก็ได้มีการออกข้อบังคับใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “SoftBank Tax Rule” เพื่อป้องกัน ไม่ให้บริษัท สามารถทำธุรกรรมบางอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีได้อีกต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 SoftBank ยังคงกินบุญเก่า และยังไม่ต้องจ่ายภาษี แม้ว่าในปีนั้น SoftBank จะมีกำไรมากถึง 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุดในญี่ปุ่น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงพอจะเข้าใจแล้ว ว่าทำไม SoftBank บริษัทที่มีกำไรมหาศาล ถึงจ่ายภาษีเพียงน้อยนิด หรือไม่ต้องจ่ายเลย
ในมุมของคนทำธุรกิจ ก็ต้องยกย่องในความฉลาดของผู้บริหาร ที่รู้จักอาศัยช่องว่างที่มี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทได้อย่างมหาศาล
แต่ในมุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาครัฐแล้ว การนั่งมองบริษัทที่มีกำไรหลายล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีเลย คงเป็นเรื่องที่น่าปวดใจไม่น้อย
เพราะนอกจากจะสูญเสียรายได้ ที่สามารถนำมาบริหารประเทศได้แล้ว
อาจจะต้องปวดหัวกับการต้องตอบคำถามผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่มีกำไรเพียงน้อยนิด แต่กลับต้องเสียภาษีมากกว่า SoftBank เสียอีก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/The-mystery-of-SoftBank-s-zero-tax-bill
-https://companiesmarketcap.com/softbank/marketcap/
-https://www.forbes.com/real-time-billionaires/#4f3430a03d78
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.