สรุป Highlight สำคัญงาน SET in the City 2022 เพื่อค้นหาโอกาสการลงทุน ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

สรุป Highlight สำคัญงาน SET in the City 2022 เพื่อค้นหาโอกาสการลงทุน ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

10 พ.ย. 2022
สรุป Highlight สำคัญงาน SET in the City 2022 เพื่อค้นหาโอกาสการลงทุน ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
SET x ลงทุนแมน
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้มีการจัดงาน SET in the City 2022
ภายใต้แนวคิด “ค้นหาโอกาสใหม่ ให้คุณลงทุนอย่างมั่นใจ ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น”
ซึ่งเนื้อหาภายในงานครอบคลุมตั้งแต่ประเด็น ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566 ปรับพอร์ตอย่างไร ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ไปจนถึงการวิเคราะห์ Theme เด่น และ Trend การเติบโตของแต่ละอุตสาหกรรมในอนาคต
โดยมีแขกรับเชิญทั้งผู้เชี่ยวชาญ และนักวิเคราะห์ระดับท็อปของประเทศ ที่จะมาแชร์มุมมอง และประสบการณ์ เพื่อให้นักลงทุนได้ค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ในยุคที่ตลาดผันผวน
ลงทุนแมน จะหยิบ 3 ประเด็นสำคัญ จากงานนี้
มาสรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ กัน
Session 1 - อัปเดตเศรษฐกิจ จับทิศการลงทุน 2566
โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล (ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
โลกของเราได้เจอ มรสุมเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
หรือภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังส่งผลกระทบจนทำให้สกุลเงินทั่วโลกเกิดความผันผวน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากมรสุมเศรษฐกิจลูกนี้ จะยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ไปอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า
แต่สำหรับในปี 2566 จะมี 8 แนวโน้มสำคัญ ที่จะส่งผลกับการลงทุนในปีหน้าเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
1. การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวกลับมา 1.3 ล้านคน คิดเป็นราว 45% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในเดือนกันยายน ปี 2562 ปีก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19
โดยในปี 2566 คาดการณ์กันว่า นักท่องเที่ยวจะเดินทางมายังประเทศไทยประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เป็นอย่างมาก
2. การเข้ามาลงทุน ของนักลงทุนต่างประเทศ
ผลจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิด 19 จะทำให้ต่างชาติเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
ซึ่งความจริงในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว เช่น
- BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีนประกาศสร้างโรงงานในไทย
- Amazon พี่ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ประกาศเข้ามาตั้ง Data Center ในประเทศไทย
นอกจากนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียน อาจจะได้รับอานิสงส์จากทำเลที่ตั้งที่ดี
ซึ่งเปรียบเสมือนประตู ในการเข้าไปทำธุรกิจ หรือกระจายสินค้าไปยังประเทศในทวีปเอเชีย
3. อุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่
อุตสาหกรรมเก่า กำลังจะค่อย ๆ หายไป และถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมใหม่
โดยอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง เช่น เกษตร อาหาร ชีวภาพ, ท่องเที่ยว สุขภาพ, ยานยนต์ไฟฟ้า, Petro ชั้นสูง, Logistics, Digital และ Startup รวมถึง International Hub
นอกจากนี้ โครงการ EEC และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ EEC เป็นพื้นที่เหมาะสมกับการเข้ามาของเหล่าอุตสาหกรรมใหม่ และการลงทุนจากต่างชาติ
4. ดอกเบี้ยขาขึ้น
Fed มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่หลายคนคิด
หากเราลองมาดูการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อของ Fed ในรอบ 20 ปี จะพบว่า
- ช่วงปี 2542-2543 ขึ้นไปสูงสุดที่ 6.5%
- ช่วงปี 2548-2552 ขึ้นไปสูงสุดที่ 5.2%
โดยในช่วงปี 2548-2552 เป็นการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อชะลอเงินเฟ้อที่ประมาณ 4%
เทียบกับเงินเฟ้อในรอบนี้ที่อยู่ในระดับ 8-9% ก็ทำให้ Fed อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ระดับปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1%
ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 1.25% จากนั้นอาจปรับขึ้นได้อีก 1 ถึง 2 ครั้ง ก็จะเจอกับภาวะ Global Recession
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าหลังจากนั้น ธปท. จะมีแผนการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างไร
5. ค่าเงินผันผวน เงินบาทอ่อนต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้เป็นผลต่อเนื่อง มาจากการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว
ในทางกลับกัน ในประเทศอื่น ๆ กลับมีการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป
เช่น ญี่ปุ่นที่มีปัญหาเรื่องหนี้ภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้, ECB ขึ้นดอกเบี้ยอย่างระวัง เนื่องจากมีปัญหากับทางรัสเซีย
ทำให้เม็ดเงินจากทั่วโลกวิ่งเข้าสู่ประเทศที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยน เทรนด์ค่าเงินผันผวนทั่วโลก ก็จะยังคงดำเนินต่อไป
6. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ในปี 2566 ทาง IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการเติบโตลดลงเหลือเพียง 2.7%
โดยหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือในกลุ่มประเทศ Emerging Market
ต่างถูกคาดการณ์ว่า GDP จะมีการเติบโตอยู่ที่ระดับ -2.3% ถึง 1.7% เท่านั้น
จะมีเพียงกลุ่มประเทศในอาเซียนเท่านั้น ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตมากถึง 4.9%
7. Bear and Bull
ในรอบ 10 เดือนของปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ได้ปรับตัวลงมาอย่างหนัก
ยกตัวอย่างเช่น ดัชนี Nasdaq ที่ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลงมาแล้วกว่า 30%
และในปี 2566 ตลาดจะเข้าสู่ตลาดหมีอย่างเต็มตัว จากเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้หลายบริษัทจะถูกปรับประมาณการลดลง
โดยสถิติที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของตลาดหมี 11 ครั้งล่าสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาดจะมีการปรับตัวลงมาอยู่ที่ 35% ก่อนที่จะปรับตัวกลับขึ้นไป
นั่นเท่ากับว่า ในตอนนี้หลาย ๆ ตลาด ก็ปรับตัวลงมาเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยแล้ว
ซึ่งอาจหมายถึงโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรลงทุนด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง
8. Emerging Market Crisis
ปีหน้า ประเทศในกลุ่ม Emerging Market จะมีปัญหาหลายประเทศ
ล่าสุด IMF ออกมาบอกว่า ในตอนนี้ 25% ของประเทศในกลุ่ม Emerging Market มีปัญหาเรื่องหนี้แล้ว
นอกจากนี้ 60% ของประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำ ก็มีปัญหาเรื่องหนี้แล้วเช่นเดียวกัน
ซึ่งแม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาโดยตรง อย่างไรก็ตามไทยเอง ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากประเทศเหล่านี้ ไม่มากก็น้อย
Session 2 - ปรับพอร์ต จัดทัพ รับดอกเบี้ยขาขึ้น
โดย
- นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้
- นายวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
เศรษฐกิจโลกปีหน้า โดยรวมแล้วจะอยู่ในช่วงขาลงจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ที่จะมาชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
โดย GDP ของสหรัฐอเมริกาในปี 2566 ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตไม่ถึง 1%
ในฝั่งของประเทศจีน ก็ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ไม่สดใส จากแนวทางการบริหารของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงของประเทศ มากกว่าการรักษาภาพรวมของเศรษฐกิจ
รวมถึงมาตรการ Zero Covid ที่ยังไม่รู้จะจบลงเมื่อไร
ในทางกลับกัน ประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด 19 ได้ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ
แต่ในปี 2566 GDP ของประเทศไทย ก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.6%
สาเหตุสำคัญ มาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่เป็น Sector สำคัญของเศรษฐกิจไทย
โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยกว่า 20 ล้านคน หรือคิดเป็นการเติบโตกว่า 45% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในปี 2565 อยู่ที่ระดับ 6%
แต่ถ้าลองตัดปัจจัยฝั่ง Supply ที่มาจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นออก
จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อของประเทศไทยขึ้นน้อยมาก อยู่ในระดับ 2.5-3% เท่านั้น
ซึ่งสวนทางกับตลาดโลกที่ต้นเหตุของเงินเฟ้อมาจากฝั่ง Demand หรือภาวะที่เศรษฐกิจดีจนเกินไป ทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยมาก
เหตุผลเหล่านี้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีหน้า ถูกคาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือเพียง 2.4%
ส่งผลให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยจาก 1.25% เป็น 1.75%
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
แต่ประเทศไทยก็ยังมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาแทบจะทุกเดือน
โดยมียอดการลงทุนจากต่างชาติ สะสมไปแล้วกว่า 160,000 ล้านบาทในปีนี้
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้การลงทุนในประเทศไทยในปีหน้า ดูเหมือนจะ “‘สดใส” กว่าการลงทุนในตลาดอื่น ๆ อยู่ไม่น้อย
โดยมองว่า ปีหน้าตลาดไทยก็มีลุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดกระทิงได้เหมือนกัน
เพราะว่าปัจจุบัน Fed ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปพอสมควรแล้ว จนทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง
สำหรับ 4 อุตสาหกรรมที่จะได้รับอานิสงส์ นอกจากกลุ่มการท่องเที่ยวธีม Re-open ก็คือ
1. หุ้นกลุ่ม Consumption ที่จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ เพราะเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว การบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
2. หุ้นกลุ่มธนาคาร จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงกับอัตรากำไรขั้นต้นของหุ้นกลุ่มนี้
3. หุ้นกลุ่มพลังงาน ควรมีติดไว้ เพราะเป็นการกระจายความเสี่ยง จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
4. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า จะได้ประโยชน์จากนโยบายของหลายประเทศ ที่ต้องการผลักดันให้ผู้คนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการเติบโตแบบ ESG
สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ที่ในตอนนี้หลายดัชนีได้ลงมาทำจุดต่ำสุดในรอบหลายปี ไม่ว่าจะเป็น
ตลาดหุ้นเวียดนาม, ตลาดหุ้นอังกฤษ หรือดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวลงมากว่า 21% ตั้งแต่ต้นปี
จุดนี้ ถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ และสามารถลงทุนในระยะยาว
โดยในยุคดอกเบี้ยสูงแบบนี้ นักลงทุนควรจัดพอร์ตแบบ “Core Satellite” ที่เป็นการกระจายความเสี่ยง เช่น
- “Core Port” (80% ของพอร์ต) ควรเป็นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของเงินต้น
เช่น หุ้นกลุ่ม Defensive, ตราสารหนี้ ทางที่ดีคือควรกระจายความเสี่ยงให้อยู่ในหลายประเทศ
- “Satellite Port” (20% ของพอร์ต) สินทรัพย์เสี่ยงเพื่อโอกาสเติบโต และเป็นการจำกัดความ
เสียหายของพอร์ต เช่น หุ้น Tech, คริปโทเคอร์เรนซี
นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เพราะนอกจากนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี อีกด้วย
สุดท้ายแล้ว ในระยะสั้นยังคงไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นนักลงทุนควรที่จะมีเงินสด เตรียมไว้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ก็อย่าลืมแบ่งเงินมาบางส่วน เพื่อคว้าโอกาสการลงทุน และสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว..
Session 3 - “วิเคราะห์เจาะ Theme เด่น Trend เติบโต”
โดย
- นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
- นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์
- นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ กสิกรไทย
ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งอัตราเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ย, ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล น่าจะเข้าใกล้จุดสูงสุดในปี 2566
และมองว่ากลางปี 2566 น่าจะเป็นจุดที่ตลาดหุ้นจะกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market รวมถึงตลาดหุ้นไทย
สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยของทั้ง 3 ท่าน มีมุมมองที่เป็นบวก และให้เป้าหมายดัชนีอยู่ในช่วง 1,720 ถึง 1,750 จุด
แล้วควรจะโฟกัสการลงทุนไปที่ตรงไหนดี..
เริ่มจากตลาดต่างประเทศ คุณสิทธิชัยให้ความเห็นว่า
- ตลาดสหรัฐอเมริกา ในช่วงครึ่งปีแรก แนะนำให้ลงทุนในกลุ่มที่มีการเติบโตค่อนข้างมั่นคง เช่น เฮลท์แคร์, สินค้าจำเป็น และสื่อสาร
และเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุด ครึ่งปีหลังของปี 2566 ถึงจะเริ่มเป็นโอกาสในการลงทุนหุ้นเทคโนโลยี, เซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า
- ตลาดยุโรป ยังถูกกดดันจากวิกฤติพลังงาน จึงแนะนำไปที่ธุรกิจพลังงานสะอาด
รวมถึงกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยก็จะดูน่าสนใจมากขึ้น ถ้าหากประเทศจีนเริ่มกลับมาเปิดเมือง
- ตลาดจีน อาจจะต้องเลี่ยงกลุ่มเทคโนโลยีไปก่อน เพราะยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐบาล
ส่วนกลุ่มที่น่าสนใจ ก็คือ ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคภายในประเทศและการเปิดเมือง เช่น การท่องเที่ยว และธนาคาร
รวมถึงมีปัจจัยด้านการเมืองที่ต้องติดตาม ทั้งการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา และท่าทีของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ที่จะส่งผลถึงความต่างของอัตราดอกเบี้ย และ Fund Flow
ทีนี้เราลองมาดู 6 ธีมน่าลงทุน ในมุมมองของคุณภาดล วรรณรัตน์
1. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น ธนาคาร, ประกัน
2. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการบริโภคภายในประเทศ และการเปิดประเทศ โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีน เช่น ท่องเที่ยว, สายการบิน, โรงแรม, อสังหาริมทรัพย์
3. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลง เช่น ปิโตรเคมี, ค้าปลีก,​ โรงไฟฟ้า
4. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนรอบใหม่ ของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม, กลุ่มยานยนต์
5. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากแผน PDP ฉบับใหม่ของประเทศไทย เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า
6. อุตสาหกรรมที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เช่น กลุ่มปิโตรเคมี
สำหรับคุณสุนทร ทองทิพย์ ก็มีความเห็นตรงกันในเรื่องธีมกระตุ้นการบริโภค และการเปิดประเทศ ได้กล่าวเสริมเพิ่มเติมถึงธีมการลงทุนสำหรับหุ้นไทยที่น่าสนใจ คือ
- ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทกลับมาแข็งค่า เช่น โรงไฟฟ้า
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
- ธุรกิจที่สามารถทำกำไรจากการขยายไปยังตลาดใหม่ หรือตลาดต่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม คุณสุนทร ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า นอกจากนักลงทุนควรจะต้องไปทำการบ้านเพิ่มแล้ว
ที่สำคัญก็คือ ต้องรู้สไตล์การลงทุนของตัวเอง และมีเป้าหมายว่า เราจะลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว
สุดท้ายนี้ แม้ในปีหน้าเรายังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจมากมาย
แต่ในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาส ในมรสุมเศรษฐกิจลูกนี้ ก็จะมีโอกาสในการลงทุนซ่อนอยู่เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น เราต้องประคองตัวให้ได้ อย่าล้ม เพราะระหว่างที่เราล้ม เราอาจพลาดโอกาสที่ผ่านมาโดยที่เราไม่รู้ตัว..
สามารถติดตามรับชมสัมมนาย้อนหลังทุกหัวข้อได้ทาง YouTube : SET Thailand https://setga.page.link/KBZBUh3FM9G2c1Da8
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.