บลจ. บล. บลน. ต่างกันอย่างไร

บลจ. บล. บลน. ต่างกันอย่างไร

19 พ.ย. 2022
บลจ. บล. บลน. ต่างกันอย่างไร /โดย ลงทุนแมน
เวลาเราเห็นตัวย่อระหว่าง บลจ. บล. บลน. ในบทความเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน
เราก็อาจจะสงสัยว่า ทั้ง 3 ตัวย่อนี้ คืออะไร
และแตกต่างกันอย่างไร
ทั้ง บลจ. บล. บลน. เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับหลักทรัพย์เหมือนกัน
แต่รายละเอียดในการทำธุรกิจ จะมีความแตกต่างกัน
บลจ. บล. บลน. แตกต่างกันอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
บลจ. ย่อมาจาก “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน”
เป็นสถาบันการเงิน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
โดยจะบริหารเงินให้กับลูกค้าที่มาซื้อกองทุนกับ บลจ.
ซึ่งกองทุน ที่ บลจ. บริหาร ก็จะประกอบด้วย
- กองทุนรวม (Mutual Fund)
- กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund)
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
โดยกองทุนของ บลจ. นั้น ก็จะมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ
ตัวอย่าง บลจ. ที่เราอาจจะคุ้นตากันมาบ้าง ก็อย่างเช่น
- KTAM ของ ธนาคารกรุงไทย
- KAsset ของ ธนาคารกสิกรไทย
- SCBAM ของ SCBx
- BBLAM ของ ธนาคารกรุงเทพ
ซึ่งรายได้ของ บลจ. เหล่านี้ ก็คือ ค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนรายปี
และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเวลาเราส่งคำสั่งซื้อ และขายกองทุนในแต่ละครั้ง
ในส่วนของ บล. นั้น ย่อมาจาก “บริษัทหลักทรัพย์”
ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ หรือก็คือ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
เช่น หุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งในการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้ง ทางโบรกเกอร์ก็จะได้รายได้เป็นค่าธรรมเนียมด้วย
นอกจากนี้ ทางโบรกเกอร์ ก็ยังสามารถปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนได้ด้วย
ซึ่งเรียกว่า “บัญชีมาร์จิน (Margin)”
โดยบัญชีมาร์จิน คือ บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ให้นักลงทุนสามารถใช้เงินของตัวเองส่วนหนึ่ง และเงินกู้ยืมจากโบรกเกอร์อีกส่วนหนึ่ง เพื่อซื้อหุ้นได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจในการซื้อหุ้นให้มากขึ้น
ดังนั้น บล. ที่ปล่อยกู้ ก็จะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากดอกเบี้ยการกู้ยืม
อีกบทบาทหนึ่งของ บล. ที่เรามักจะพบเห็นอยู่บ่อย ๆ ก็คือ “วาณิชธนกิจ (Investment Banking)” ซึ่งมีหน้าที่ เช่น
- ทำหน้าที่ระดมเงินทุน หรือเพิ่มทุน
- บริหารการควบรวมและซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions)
- ทำรายงานการวิจัย
- ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ซึ่งบริษัทที่ต้องการเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้น (IPO) นั้น
ก็ต้องทำผ่าน วาณิชธนกิจ นั่นเอง
นอกจากนี้ บล. ก็อาจจะทำธุรกิจเพิ่มเติมในด้านอื่นอีกด้วย เช่น
- ธุรกิจให้คำปรึกษาทางการเงิน
- ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม จากหลาย บลจ.
- การออกบทวิเคราะห์ ให้แก่นักลงทุน ทั้งนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน
ตัวอย่าง บล. ของธนาคาร ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันบ้าง ก็อย่างเช่น
- Kasikorn Securities ของ ธนาคารกสิกรไทย
- Bualuang Securities ของ ธนาคารกรุงเทพ
นอกเหนือจาก บลจ. และ บล. แล้ว ตอนนี้ก็ยังมีบริษัทหลักทรัพย์อีกแบบ ที่เราควรรู้จักเอาไว้ นั่นก็คือ บลน.
บลน. ย่อมาจาก “บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน”
ซึ่งทาง บลน. จะทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม จากหลาย บลจ. ให้กับเรา โดยเฉพาะ
รวมถึงให้คำปรึกษากับนักลงทุน ว่าควรลงทุนในกองทุนใดบ้างเพียงเท่านั้น
โดยทั้ง บลน. และ บล. จะต้องได้รับการรับรองจากทาง ก.ล.ต. ก่อน
จึงจะสามารถเป็นนายหน้าในการซื้อขายกองทุนรวมได้
ตัวอย่างของ บลน. ที่เราอาจจะเห็นคุ้นตากันมาบ้าง ก็คือ
บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด หรือ Finnomena
โดยหากเราต้องการซื้อกองทุนหลายกองทุน จาก บลจ. ที่แตกต่างกัน
เราไม่จำเป็นต้องไปเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนเฉพาะ ของ บลจ. แต่ละแห่ง
เพราะในปัจจุบัน หากเราเปิดบัญชีกับ บล. หรือ บลน. สักแห่งหนึ่ง
เราก็สามารถซื้อขายกองทุน จากหลากหลาย บลจ. ได้
จะเห็นว่าทั้ง บลจ. บล. และ บลน. มีสิ่งที่เหมือนกัน คือขายกองทุน
แล้วการซื้อกองทุนจากแต่ละสถาบัน แตกต่างกันหรือไม่ ?
ความแตกต่างที่มีคือ การซื้อกองทุนกับ บลจ. โดยตรงนั้น
อาจจะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการซื้อผ่านตัวกลาง
หรือหลีกเลี่ยงการโดนเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน
คือโดนเก็บจากทั้งเจ้าของกองทุน หรือ บลจ. เอง
และโดนเก็บจากทางนายหน้า คือ บล. และ บลน.
ในขณะที่หากเราซื้อ หรือเปิดบัญชีกับ บล. และ บลน.
ก็จะมีข้อดีคือ มีตัวเลือกการลงทุนมาให้มากกว่า
เพราะทำหน้าที่เป็นนายหน้า หรือเป็นตัวกลาง
โดยไม่ยึดติดกับ บลจ. ใด บลจ. หนึ่ง
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะงงกับตัวย่อจำนวนมาก
แต่ลงทุนแมนสรุปรวมให้สั้น ๆ ก็คือ
บลจ. = ผู้บริหารกองทุน
บล. = นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้บริการบัญชีมาร์จิน รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจ ที่นำบริษัทเข้าตลาดหุ้น หรือเป็นนายหน้าซื้อขายกองทุนก็ได้
และสุดท้ายคือ บลน. = นายหน้าซื้อขายกองทุนโดยเฉพาะ นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bblam.co.th/about-bualuang-fund/corporate-information/company-profile
-https://www.bualuang.co.th/
-https://classic.set.or.th/set/financialplanning/knowledgedetail.do?contentId=5012&type=article#:~:text=%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%86,%E0%B9%86%20%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88
-http://www.sbito.co.th/backoffice/file_manager/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD_1565260515_8771.pdf
-https://www.moneybuffalo.in.th/mutual-fund/
-https://victorytale.com/th/investment-banking-explained/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.