ประเทศไทย มีเศรษฐกิจนอกระบบ ใหญ่กว่าที่คิด

ประเทศไทย มีเศรษฐกิจนอกระบบ ใหญ่กว่าที่คิด

24 พ.ย. 2022
ประเทศไทย มีเศรษฐกิจนอกระบบ ใหญ่กว่าที่คิด /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่านี้มาก แต่มูลค่าหายไป เพราะเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ
ซึ่งประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
โดยถ้าเราสามารถดึงเอาเศรษฐกิจนอกระบบ กลับเข้ามาอยู่ในระบบได้
ประเทศไทยของเรา จะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าหลาย ๆ ประเทศในยุโรปเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น
- โปแลนด์
- สวีเดน
- หรือเบลเยียม
แล้วเรื่องนี้มีรายละเอียดอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เศรษฐกิจนอกระบบ คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ๆ ที่ไม่ได้รายงานต่อรัฐ และไม่ได้ถูกคำนวณเป็น GDP ของประเทศ
จากข้อมูล Informal Economy Database ของธนาคารโลก ระบุว่าในปี 2018 ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบ สูงถึง 44.7% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก
และถ้าเทียบกับ GDP ของไทยในปี 2021 ที่อยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเราจะมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ถึง 8 ล้านล้านบาท
นั่นหมายความว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทย มีขนาดเศรษฐกิจที่สูงถึง 26 ล้านล้านบาท
ตัวเลขนี้มากกว่า
- โปแลนด์ ที่มี GDP 24 ล้านล้านบาท
- สวีเดน ที่มี GDP 23 ล้านล้านบาท
- หรือเบลเยียมที่มี GDP 22 ล้านล้านบาท
ซึ่งเศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมาก ย่อมหมายถึงแรงงานนอกระบบจำนวนมากเช่นกัน
โดยประเทศไทยมีจำนวนแรงงานนอกระบบ สูงถึงเกือบ 20 ล้านคน
ซึ่งแรงงานนอกระบบในที่นี้ ก็หมายถึงพ่อค้าหาบเร่ข้างทาง คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือลูกจ้าง ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง ผู้ที่ทำงานด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ของไทย โดยคิดเป็นถึง 55.2% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด
และการที่แรงงานจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบนี้เอง ที่นำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมาย
เพราะแรงงานนอกระบบ คือผู้ที่ทำงานโดยไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม จากการทำงาน
เมื่อไม่ได้รับความคุ้มครอง แรงงานนอกระบบเหล่านี้ จึงต้องเจอปัญหาเกี่ยวกับการทำงานต่าง ๆ มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และปัญหาที่พบกันมากที่สุดก็คือ เรื่องของค่าตอบแทน
โดยแรงงานนอกระบบ ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่าแรงงานในระบบทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การผลิต การค้า และการบริการ
นอกจากนี้ การเป็นแรงงานนอกระบบยังทำให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยากอีกด้วย
โดยเฉพาะจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ถูกกฎหมาย ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าแรงงานในระบบ
ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องเจอกับปัญหาสำคัญคือ การเก็บภาษี เพราะแน่นอนว่าเมื่อเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รายงานต่อรัฐแล้ว รัฐก็ไม่สามารถตามเก็บภาษีได้ ซึ่งหมายถึงรายได้ของรัฐที่หายไป
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ คือสาเหตุที่รัฐต้องพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจนอกระบบ กลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น
ไม่ใช่แค่ช่วยให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่ยังช่วยให้แรงงานนอกระบบ ได้รับความคุ้มครอง และสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำ
ทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้ดีขึ้น
รวมถึงช่วยเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เห็นตัวเลข GDP ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นนั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.worldbank.org/en/research/brief/informal-economy-database
-https://mpra.ub.uni-muenchen.de/109490/1/MPRA_paper_109490.pdf
-http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a1/%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b9%81%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/Informal_work_force/2564/Report_IES2021.pdf
-https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/521765
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.