NEPS ธุรกิจโซลาร์ ที่มีแพสชันให้คนไทย ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้

NEPS ธุรกิจโซลาร์ ที่มีแพสชันให้คนไทย ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้

2 ธ.ค. 2022
NEPS ธุรกิจโซลาร์ ที่มีแพสชันให้คนไทย ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้
NEPS x ลงทุนแมน
“ผมอยากเปลี่ยนพลังงานทางเลือก ให้เป็นพลังงานทางหลัก”
ประโยคดังกล่าว เป็นแพสชันในการก่อตั้งธุรกิจของคุณตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตนักแต่งเพลง ค่ายกามิกาเซ่ ทั้งยังเป็นสมาชิกวงเอพริลฟูลส์เดย์ ค่ายอาร์เอส และบัณฑิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบัน คุณตรีรัตน์ ได้ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว และก็ได้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า
บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด
หรือ NEPS เพื่อทำธุรกิจโซลาร์เซลล์ ครบวงจรในประเทศไทย
ลงทุนแมนได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณตรีรัตน์ ถึงหลักคิดการก่อตั้งธุรกิจ
รวมถึงภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย แนวโน้มการเติบโต
และการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
แล้วเราคุยอะไรกันบ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
ตั้งต้นจาก คุณตรีรัตน์ ได้ไอเดียธุรกิจมาจากไหน ? แล้วทำไปทำไม..
ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าครอบครัวของคุณตรีรัตน์ เดิมทีทำธุรกิจนำเข้ากระดาษ
ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ต่อมาก็ถูกดิสรัปต์จากแพลตฟอร์มดิจิทัล
ในช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ค่าไฟฟ้าในประเทศไทย มีราคาค่อนข้างแพง
ภาครัฐเริ่มมีการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน จึงทำให้คุณตรีรัตน์ เริ่มศึกษาธุรกิจโซลาร์เซลล์ จนในที่สุดก็ได้ก่อตั้งบริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS ขึ้น
เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจนี้เต็มตัว
โดยหลักคิดที่จะเข้าสู่ธุรกิจโซลาร์เซลล์ ก็เรียกได้ว่าน่าสนใจ
เพราะพอถามไปว่าจะดันเข้าตลาดหุ้นไหม คำตอบคือ ไม่
ถามไปว่าเพราะเป็นธุรกิจที่กำไรสูงใช่ไหม คำตอบก็คือ ไม่ใช่อีก
สรุปแล้ว ทำธุรกิจโซลาร์เซลล์เพราะอะไร เราลองมาดูกัน
คุณตรีรัตน์ ตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “เพราะมันยั่งยืน”
ประเทศไทย ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเป็นหลัก เป็นแหล่งพลังงานดั้งเดิม มีอยู่จำกัด ความเสี่ยงของวัตถุดิบเหล่านี้ คือ “เราควบคุมราคาไม่ได้เลย”
ทุกวันนี้ ที่ราคาไฟฟ้าในบ้านเราแพงขึ้น ไม่ได้มาจากตัวเราเอง
แต่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก เช่น สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
หรือแม้แต่ผู้มีอำนาจในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันอย่าง กลุ่ม OPEC หรือสหรัฐอเมริกา
พอเหตุการณ์มันไม่นิ่ง เราซึ่งถือเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย
จึงไม่มีทางรู้เลยว่าค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในเดือนหน้า หรือปีหน้า จะมีมูลค่าเท่าไร
เราเคยชินกับเรื่องราวแบบนี้มาโดยตลอด
เคยชินกับการที่เราไม่มีสิทธิ์เลือกแหล่งพลังงานไฟฟ้าของเรา แพงแค่ไหน เราก็ยังคงต้องจ่าย
แต่หากวันหนึ่ง เราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ที่บ้าน หรือแม้แต่ในธุรกิจ
มันก็จะช่วยในเรื่องของความยั่งยืนโดยรวมได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ตรงนี้ ถือเป็น “ความมัน” ของอดีตนักดนตรีคนนี้
มัน ที่เห็นบ้านเรา จะเข้าถึงพลังงานทางเลือกได้มากขึ้น
มัน ที่เห็นว่าตื่นมาตอนเช้า เห็นข่าวสงคราม ท่อส่งก๊าซรั่ว ราคาไฟฟ้าทั่วโลกขึ้น
แต่ในสมองของเราบอกว่า แล้วมันอย่างไรล่ะ..
ทั้งหมดนี้ เป็นหลักคิดที่ทำให้คุณตรีรัตน์ เลือกที่จะทำธุรกิจนี้
ซึ่งหากในระยะยาวธุรกิจของเขาตอบโจทย์จริง ทำให้เรามีความมั่นคงทางการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นจริง ท้ายที่สุดผลตอบแทนมันก็จะกลับมาที่บริษัท
NEPS มีธุรกิจอะไร แล้วขายให้ใครบ้าง ?
สำหรับ NEPS จุดแข็งของบริษัท คือการเป็นตัวแทนนำเข้าแผงโซลาร์ของ Jinko Solar
ซึ่งก็ต้องบอกก่อนว่า แผงโซลาร์บนโลกมันจะมี Tier ตั้งแต่ 1 ถึง 3
โดย Tier 1 เป็นขั้นสูงที่สุด ซึ่งผู้ผลิตจะต้องเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานในการผลิต มีมาตรฐานการรับประกันสินค้า พร้อมด้วย ทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ครบวงจร
Jinko Solar เรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิต Tier 1 เป็นโรงงานผู้ผลิตแผงโซลาร์ได้มากที่สุด
และส่งออกได้มากที่สุดในโลก ซึ่ง NEPS เป็นตัวแทนของผู้ผลิตรายนี้ และทำยอดขายได้มากที่สุดในประเทศไทย
สรุป ธุรกิจแรกของ NEPS คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์
ให้กับผู้รับเหมาตั้งแต่รายย่อย ไปจนถึงรายใหญ่ ที่นำไปติดตั้งด้วยตนเอง
ธุรกิจถัดไป คือ ธุรกิจบริการติดตั้งแผงโซลาร์ โดยทางบริษัท
ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญไปประเมินสถานที่ ติดตั้งได้ตั้งแต่บ้าน โรงเรียน โรงแรม คอนโดมิเนียม
สนามกีฬา ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม
และจากประสบการณ์การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ลูกค้าหลายรายจะมีปัญหาเกี่ยวกับหลังคาติดตั้ง
คุณตรีรัตน์พบว่าในบางครั้ง ผู้รับเหมาบางรายตีมูลค่าซ่อมแซมโครงสร้างหลังคาให้พร้อมสำหรับการติดตั้ง มีมูลค่ามากกว่าราคาติดตั้งแผงโซลาร์เสียอีก
ทาง NEPS จึงมีทีมวิศวกร In House
ทำหลังคาโดยเฉพาะ คอยให้บริการอยู่ด้วย
นอกจากนั้น NEPS ก็ยังมีบริการขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้ด้วย ตั้งแต่ทำแบบ
ติดต่อสำนักงานเขต เทศบาล ดำเนินการให้หมด
หรือพูดง่าย ๆ คือ เดินเข้ามาที่นี่ กลับออกไปได้ผู้เชี่ยวชาญดูแลโซลาร์เซลล์ให้แบบครบวงจร
แล้วภาพการเติบโตของโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยและในโลก เป็นอย่างไรบ้าง ?
จริง ๆ แล้ว ในกลุ่มประเทศแถบบ้านเรามีอัตราการเติบโตที่สูง รวมถึงประเทศไทยด้วย
หลัก ๆ มาจากค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นแรงผลักดันให้คนหันเข้าหาพลังงานทางเลือกโดยอัตโนมัติ
ในขณะที่ประเทศแถบยุโรป ภาครัฐมีการสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก
และสนับสนุนมานานแล้ว
ภาพที่เห็นก็คือ การใช้พลังงานในประเทศ มีสัดส่วนที่มาจากพลังงานทางเลือกสูง
ทำให้วัตถุดิบที่ผลิตได้เกิน จึงสามารถส่งออก หารายได้เข้าประเทศได้เพิ่มเติม
ในมุมนี้ สำหรับในประเทศไทย เรายังพึ่งพาพลังงานจากภาครัฐ
และยังไม่ได้มีการสนับสนุนพลังงานทางเลือกมากเท่าไร
แต่มีความต้องการโดยตรงมาจากภาคประชาชนเองเป็นหลัก
จุดนี้ จึงนับเป็นคอขวดธุรกิจโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยเหมือนกัน
เพราะมูลค่าการติดตั้งมีราคาค่อนข้างสูง จึงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อก่อนเท่านั้น
ที่เริ่มหันเข้าหาพลังงานโซลาร์
ยกตัวอย่างเช่น บ้านหลังหนึ่ง จะประหยัดพลังงานได้ราว 3,000 บาทต่อเดือน
คนไทยจะมีเงินลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ มูลค่าประมาณ 180,000 บาท
หากเทียบกับสหรัฐอเมริกา จะมีนโยบายสนับสนุนให้ว่า รัฐบาลจะทำการติดตั้งให้
โดยให้ชาวอเมริกันผ่อนระยะยาว เป็นค่าไฟฟ้าที่ประหยัดไปได้ในภายหลัง
คุณตรีรัตน์จึงมองว่า โจทย์สำหรับประเทศไทยก็คือ ไม่ใช่ว่าอุตสาหกรรมเติบโตดีขนาดไหน
แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่มาก แต่ได้รับผลกระทบจากราคาไฟฟ้าที่แพงขึ้น
สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานทางเลือกแบบนี้ได้
แล้วใคร เหมาะที่จะหันไปใช้โซลาร์เซลล์ ?
คอนเซปต์หลัก ๆ ของผู้ที่เหมาะสมจะติดตั้งแผงโซลาร์ ก็คือ โครงการทุกประเภทที่
“ใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน”
โดยหลักคิดก็คือ เราใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันมากเท่าไร
เราก็ควรออกแบบให้เราผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เท่านั้น เพื่อประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และจุดคุ้มทุน
พอพูดถึงเรื่องของจุดคุ้มทุน เฉลี่ยแล้วการติดตั้งแผงโซลาร์ทุกวันนี้ จะอยู่ที่ราว 4 ปี
หรืออย่างช้าที่สุดก็คือ 7 ปี ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้ มีการนำอุปสรรคทางด้านฤดูกาล สภาพอากาศ
เข้าไปรวมอยู่ด้วยแล้ว
หลังจากจุดคุ้มทุน เราก็ยังจะสามารถผลิตไฟฟ้า ตามอายุการใช้งานของโซลาร์ไปได้อีกราว 20 ปี
ในภาพใหญ่ ทุกคนรู้ว่าโซลาร์เซลล์เป็นเทรนด์ของโลก เป็นธุรกิจที่เติบโตได้แบบก้าวกระโดด
แล้วผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย เยอะขนาดไหน ?
คำตอบก็คือ “เยอะมาก”
แต่คุณตรีรัตน์ มองว่าจุดตัดของผู้ทำธุรกิจนี้ ก็คือ การแข่งขันกันที่คุณภาพ และความน่าเชื่อถือ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ โซลาร์เซลล์ จะเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในบ้าน อยู่ในธุรกิจของเราไปอีก 20 ถึง 30 ปี
เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหากวันหนึ่ง เช่น ในอีก 5 ปีข้างหน้า
หากเกิดปัญหาแล้ว เราโทรไปหาผู้ติดตั้ง เขายังจะรับสายของเราอยู่
หรือมีทีมงานพร้อมสำหรับแก้ไขปัญหาให้เรา
NEPS ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ สะท้อนให้เห็นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายของ Jinko Solar ที่เป็นผู้ผลิตเบอร์หนึ่งของโลก
ต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัทไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ต้องมียอดการนำเข้าแผงโซลาร์ไม่ต่ำกว่า 30 เมกะวัตต์ต่อปี
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวการันตีว่า บริษัทจะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในระยะยาว
ซึ่งก็จะเป็นข้อแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น
มาถึงคำถามสุดท้ายที่ได้ถามไปว่า
แล้ว NEPS จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ?
คุณตรีรัตน์ ก็ได้บอกว่า ยังไม่มีแพลนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์
เพราะตั้งแต่ทำธุรกิจมา ยังไม่ได้กู้เงินมาทำธุรกิจเลย
เราผลิตกระแสเงินสดได้เอง
ซึ่งคุณตรีรัตน์ ก็ได้ย้ำเป้าหมายการก่อตั้งบริษัทอีกครั้งว่า ตั้งใจทำธุรกิจนี้
ก็เพราะอยากให้คนไทย มีทางเลือกพลังงานไฟฟ้า และประหยัดค่าไฟกันดูบ้าง
และเพียงแค่อยาก “เปลี่ยนพลังงานทางเลือก ให้เป็นพลังงานทางหลัก” ก็เท่านั้นเอง..
Reference
-บทสัมภาษณ์ คุณตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้ก่อตั้งบริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด โดย ลงทุนแมน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.