Swatch บริษัทนาฬิกาที่ใหญ่สุดในโลก

Swatch บริษัทนาฬิกาที่ใหญ่สุดในโลก

7 ก.พ. 2018
Swatch บริษัทนาฬิกาที่ใหญ่สุดในโลก / โดย ลงทุนแมน
ทุกคนคงเคยได้ยินชื่อนาฬิกา Swatch
แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ
Swatch เกิดมาจากวิกฤตนาฬิกาสวิสครั้งใหญ่
แต่ตอนนี้ Swatch Group เป็นบริษัทนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยเป็นเจ้าของนาฬิกามากถึง 17 แบรนด์
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สมัยก่อนสวิตเซอร์แลนด์ถือเป็นผู้ส่งออกนาฬิกาอันดับต้นๆ ในยุคนั้น
ด้วยการออกแบบนาฬิกาพกพา ที่มีจุดเด่นคือ การประดับตัวเรือนที่งดงาม มีสร้อยที่เอาไว้ห้อยติดกระเป๋าหรือแขวนกับเข็มขัด ทำให้นาฬิกาไม่ได้เป็นแค่เครื่องบอกเวลา แต่ยังถือเป็นเครื่องประดับด้วย
ช่วงปี 1920 สวิสเป็นประเทศแรกที่ประดิษฐ์นาฬิกากันน้ำได้ ทำให้มีชื่อเสียงมาก
ต่อมา ชาวสวิสคิดค้นระบบ Quartz ขึ้นมา แต่ตอนนั้นพวกเขามองข้ามเทคโนโลยีนี้และไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพราะอยากคงเอกลักษณ์ความคลาสสิกของนาฬิกาไขลานไว้
ปี 1970-1980 ชาวสวิสเจอกับ “วิกฤตการณ์ Quartz crisis” ทำให้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสถดถอย เนื่องจากญี่ปุ่นประกาศว่า เป็นผู้ผลิตรายแรกที่สามารถนำระบบ Quartz มาใช้ได้เป็นผลสำเร็จ
ด้วยการเปิดตัวนาฬิกาของบริษัท Seiko และ Citizen เป็นนาฬิกาข้อมือที่บาง ราคาถูก เที่ยงตรง และง่ายต่อการรักษา ทำให้เป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาด
ชาวสวิสถึงกับตกที่นั่งลำบาก เพราะยอดการส่งออกนาฬิกาสวิสตกถึงขั้นวิกฤต
ตั้งแต่ปี 1977-1983 มูลค่าการส่งออกนาฬิกาของสวิสลดลงครึ่งหนึ่ง และทำให้ส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงจาก 43% เหลือน้อยกว่า 15%
จำนวนคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสลดลงจาก 90,000 ราย เหลือน้อยกว่า 40,000 ราย
ฮ่องกงและญี่ปุ่นถึงขั้นจัดอันดับอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสเป็นอันดับสามของโลก
วิกฤตในครั้งนี้ ทำให้บริษัทนาฬิกาเจ้าใหญ่อย่าง ASUAG และ SSIH ประสบปัญหาอย่างหนัก จนถึงขั้นที่อาจต้องขายกิจการให้กับบริษัทต่างชาติ (แบรนด์ของ 2 บริษัทนี้ได้แก่ Omega, Longines, Tissot, Rado, Mido เป็นต้น)
และคนที่เข้ามาชุบชีวิตให้กับอุตสาหกรรมนาฬิกาของสวิสคือ Nicolas G. Hayek ผู้ก่อตั้ง Swatch
Nicolas Hayek ที่ในขณะนั้นเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ได้รับมอบหมายจากเจ้าหนี้ของ ASUAG และ SSIH ให้ช่วยวางกลยุทธ์เพื่อหาทางออกให้กับทั้ง 2 บริษัทที่กำลังย่ำแย่
ซึ่ง Hayek เองยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมนาฬิกาของสวิส ยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันได้ในตลาดโลก
แต่ตัวบริษัทผู้ผลิต จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง..
เขามองว่าปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของบริษัทคือ มีจำนวนบริษัทย่อยที่แยกกันบริหารมากเกินไป เช่น ในกรณีของ ASUAG มีบริษัทย่อยมากมายกว่า 100 บริษัท และบริษัทส่วนใหญ่ จะแยกกันดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การทำวิจัย และการทำการตลาด
สิ่งที่เขาทำคือ ควบรวม ASUAG และ SSIH เข้าด้วยกัน และปรับให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวและส่งเสริมกันได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในเรื่องคุณภาพ และ economies of scale
และได้เปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ เป็นนาฬิกาพลาสติกแบบบาง ดีไซน์ทันสมัย ผลิตแบบระบบ Quartz และประกอบขึ้นโดยใช้ชิ้นส่วนเพียง 51 ชิ้น จากปกติที่ต้องใช้มากกว่า 90 ชิ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง
ด้วยแคมเปญการตลาดที่เข้มข้นและราคาขายที่ค่อนข้างถูก นาฬิการุ่นใหม่นี้จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ขายได้มากกว่า 3.5 ล้านเรือน ใน 21 เดือนแรก
นาฬิกานั้น มีชื่อว่า Swatch..
ต่อมากลุ่มของ Hayek ก็เข้าซื้อหุ้นของบริษัทใหม่นี้ เปลี่ยนชื่อเป็น SMH (Société de Microélectronique et d'Horlogerie หรือ Swiss Corporation for Microelectronics and Watchmaking Industries)
หลังจากนั้น 5 ปี ภายใต้การบริหารงานของ Nicolas Hayek ในฐานะ CEO
SMH กลายเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
และในปี 1998 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว SMH ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Swatch Group ที่เรารู้จักกัน
ปัจจุบัน Swatch Group คือบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาและชิ้นส่วนนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้กระทั่งแบรนด์นาฬิกาใหญ่ๆ อีกหลายแบรนด์ก็ยังจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนนาฬิกาจาก Swatch Group เพราะแบรนด์อื่นนั้นไม่สามารถผลิตบางชิ้นส่วนเองได้
รู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้ นาฬิกา เป็นสินค้าส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับสามของสวิตเซอร์แลนด์ โดยเป็นรองแค่การส่งออกเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรม ซึ่งเรียกได้ว่า Swatch Group เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสอย่างแท้จริง
ปัจจุบันบริษัท Swatch Group มีมูลค่าบริษัทประมาณ 22,000 ล้านสวิสฟรังก์ หรือราว 737,000 ล้านบาท
แบรนด์นาฬิกาภายใต้บริษัท Swatch Group ได้แก่ Breguet, Harry Winston, Blancpain, Glashütte Original, Léon Hatot, Jaquet Droz, Omega, Longines, Rado, Union Glashütte, Tissot, Calvin Klein (นาฬิกาและจิวเวลรี่), Certina, Mido, Hamilton, Balmain, Swatch และ Flik Flak
รายได้ของ Swatch Group
ปี 2014 รายได้ 291,752 ล้านบาท
ปี 2015 รายได้ 283,109 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 253,026 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ รายได้ของบริษัท 58.3% หรือเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด มาจากยอดขายในเอเชีย
แล้วบริษัทนาฬิกาอื่นๆ อย่าง Seiko และ Citizen ในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
รายได้ปี 2016
Seiko 85,000 ล้านบาท
Citizen 100,000 ล้านบาท
Casio 102,000 ล้านบาท
Rolex 149,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่า Swatch มียอดขายนำบริษัทอื่นอย่างไม่เห็นฝุ่น
เรื่องราวของ Swatch คงจะเป็นกรณีศึกษาชั้นดีในโลกธุรกิจ
เราคงเคยคิดว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีบริษัทย่อยจำนวนมาก
แต่จากเรื่องนี้ ก็คงพอจะเป็นตัวอย่างได้ว่า จำนวนบริษัทย่อย ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด
สิ่งที่สำคัญคือ การดึงศักยภาพของบริษัทที่มีออกมาและใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ส่วน Nicolas Hayek ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความเข้าใจในตลาดและบริษัทของตัวเอง จะพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างไร
สุดท้าย การที่อุตสาหกรรมนาฬิกาของสวิสต้องเจอกับวิกฤตในตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการมองข้ามเทคโนโลยีใหม่ๆ และยึดติดกับสิ่งที่เคยคิดว่าดีที่สุด แต่ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แบบนั้น
เมื่อไหร่ที่เราประมาท คู่แข่งที่เราเคยคิดว่าด้อยกว่าเรา ก็อาจจะแซงเราไปโดยไม่รู้ตัว
แต่ถ้าถูกแซงไปแล้ว..
ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นจุดจบ
หาจุดแข็งของเราให้เจอแล้วสู้ใหม่ ก็อาจจะกลับมายิ่งใหญ่ได้ เหมือนกับ Swatch Group..
----------------------
<ad> โลกของธุรกิจนาฬิกายังมีการแข่งขัน แล้วโลกของธุรกิจอื่นจะแข่งกันอย่างไร? ติดตามเรื่องราวของทุกธุรกิจ ตั้งแต่ ไม้ขีดไฟ ยัน ยานอวกาศ ได้ที่แอพลงทุนแมน โหลดฟรีที่ https://www.longtunman.com/app
โหลดดูแล้วจะรู้ว่า ธุรกิจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป..
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.