ทำไม บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถึงชอบจัดตั้ง REIT

ทำไม บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถึงชอบจัดตั้ง REIT

21 ธ.ค. 2022
ทำไม บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถึงชอบจัดตั้ง REIT /โดย ลงทุนแมน
หลายคนคงเคยได้ยินว่า ถ้าอยากลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็ให้ลงทุนใน REIT (Real Estate Investment Trust) หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
เพราะว่า มักจ่ายผลตอบแทนปันผลสม่ำเสมอ มีความเสี่ยงต่ำกว่า และใช้เงินลงทุนน้อยกว่า การลงทุนโดยตรงในอสังหาริมทรัพย์
โดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็มักจะขายทรัพย์สินของบริษัท เข้า REIT ที่ตัวเองจัดตั้งขึ้นมา
แล้วทำไม บริษัทเหล่านั้น ถึงต้องขายทรัพย์สินของบริษัท เข้า REIT ทั้งที่ตัวเองก็มีทางเลือกที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นทั้งหมดเพียงคนเดียว
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
REIT หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จะมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม ไปจนถึงสนามบิน และนิคมอุตสาหกรรม
ซึ่งหน่วยลงทุนของ REIT จะถูกซื้อขายบนกระดานเทรด ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับหุ้น
โดย REIT จะหารายได้จากการเก็บค่าเช่าและค่าบริการ จากอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ
ซึ่งจะแบ่งตามการเข้าถือครองทรัพย์สินได้ 2 รูปแบบ คือ
1. Leasehold ได้สิทธิ์การเช่าทรัพย์สิน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยทรัพย์สินจะกลับไปเป็นของบริษัท เมื่อหมดสัญญา
2. Freehold เป็นการซื้อขาด และเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยสมบูรณ์
แล้วทรัพย์สินของ REIT มาจากไหน ?
ส่วนมากทรัพย์สินของ REIT ก็มักจะมาจากการซื้อทรัพย์สินของบริษัท ที่เป็นผู้จัดตั้ง REIT เข้ามานั่นเอง
โดยบริษัทก็มักจะเข้าไปลงทุนใน REIT นั้น ๆ ด้วย
เพื่อให้มีสิทธิ์ในการบริหารทรัพย์สิน และรับเงินปันผล
ยกตัวอย่าง REIT ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันบ้าง
อย่าง CPNREIT ที่มีการลงทุนในสิทธิ์การเช่าอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มเซ็นทรัล เช่น เซ็นทรัล พระราม 2, เซ็นทรัล พระราม 3, เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, เซ็นทรัล พัทยา, โรงแรมฮิลตัน พัทยา เป็นต้น
โดยมีผู้จัดตั้งคือ CPN หรือ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา และทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้ CPNREIT
โดยมีการลงทุนในสัดส่วน 25.77%
แล้วทำไม บริษัท ถึงต้องขายทรัพย์สินเข้า REIT ทั้งที่ตัวเองก็เป็นเจ้าของอยู่แล้วด้วย ?
อย่างแรกก็คือ “ต้องการระดมทุน”
ปกติแล้ว หากบริษัทต้องการเงินทุน ก็มักจะทำการกู้เงิน ออกหุ้นกู้ หรือไม่ก็เลือกที่จะเพิ่มทุน
โดยการกู้เงิน และการออกหุ้นกู้ ก็ต้องมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามมา
หรือกรณีเพิ่มทุน ก็จะทำให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง จากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือหากผู้ถือหุ้นเดิมอยากคงสัดส่วนไว้ ก็ต้องหาเงินมาเพิ่มทุนตาม
แต่ในกรณีของบริษัทที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์อยู่ ก็สามารถที่จะจัดตั้ง REIT ขึ้นมา และทำการขายทรัพย์สินนั้น ให้กับ REIT ได้
ทำให้บริษัทได้รับเงินก้อน จากการขายสินทรัพย์นั้น ๆ คล้ายกับการรับรายได้ล่วงหน้าเข้ามาก่อน
ซึ่งบริษัทอาจนำเงินตรงนี้ ไปเป็นเงินทุนในการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ พอเสร็จแล้วก็ขายทรัพย์สินของโครงการใหม่เข้า REIT อีก เกิดเป็นการระดมทุน เพื่อขยายกิจการ ได้อีกแบบหนึ่ง หรืออาจนำไปชำระหนี้ได้อีกด้วย
รวมไปถึง ยังเป็นการลดความเสี่ยงของทางบริษัทเอง
หากบริษัทมองว่า โครงการใดโครงการหนึ่ง มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการขายทรัพย์สินในโครงการนั้น ๆ เข้า REIT ก็จะมีนักลงทุนรายอื่น มาร่วมรับความเสี่ยง
นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเพิ่มช่องทางการหารายได้จากการเข้าบริหาร REIT ได้อีกด้วย
สรุปแล้ว หัวใจของการจัดตั้ง REIT ขึ้นมา ก็คือการทำให้บริษัทรับเงินก้อนเข้ามาก่อน และเป็นการลดความเสี่ยง รวมไปถึงเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ของบริษัท นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://th.linkedin.com/pulse-reit-vetchabutsakorn
-https://www.aimirt.com/storage/reit/reit-sharing
-https://www.terrabkk.com/articles/199955
-https://www.sec.or.th/TH/pages/lawandregulations/realestateinvestmenttrust.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.