ทำไมเซ็นทรัล ต้องสร้างห้างติดกัน แถวชิดลม

ทำไมเซ็นทรัล ต้องสร้างห้างติดกัน แถวชิดลม

27 ธ.ค. 2022
ทำไมเซ็นทรัล ต้องสร้างห้างติดกัน แถวชิดลม /โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเซ็นทรัล ต้องสร้างห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี รวมถึงโครงการใหม่บนสถานทูตอังกฤษเดิม โดยทั้งหมดที่ว่านั้นกระจุกตัวอยู่บริเวณ ชิดลมและเพลินจิต
นอกจากเซ็นทรัลแล้ว ย่านธุรกิจหรือย่านการค้าที่มีชื่อเสียง เช่น สยาม หรือสุขุมวิท ก็มักจะมีโครงการที่มีเจ้าของเดียวกัน ตั้งอยู่ติดกัน
แล้วทำไมเครือธุรกิจเหล่านี้ เลือกที่จะตั้งศูนย์การค้าให้อยู่ใกล้ ๆ กัน แทนที่จะไปปักหมุดในพื้นที่อื่นที่ยังไม่มีใครครองตลาด
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น เราไปรู้จักศูนย์การค้าชื่อดังที่เป็นตัวอย่างในกรณีศึกษานี้กันก่อน ได้แก่
- Central Bangkok ของกลุ่มเซ็นทรัล ประกอบด้วย เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ซึ่งอยู่แถวชิดลม-เพลินจิต
- The Em District ของกลุ่มเดอะมอลล์ ประกอบด้วย เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และเอ็มสเฟียร์ ที่กำลังจะเปิดให้บริการ ซึ่งอยู่แถวสุขุมวิท 39
- One Siam ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ประกอบด้วย สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ที่ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ ซึ่งอยู่แถวสยาม
จะเห็นได้ชัดว่าโครงการที่กล่าวมานั้น มีเจ้าของเดียวกัน และสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกันทั้งหมด
โดยเหตุผลสำคัญเรื่องแรกเลยก็คือ “การรักษาส่วนแบ่งการตลาด” ในทำเลที่มีศักยภาพสูง
หากลองสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ากลุ่มศูนย์การค้าเหล่านี้ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ แต่ละแห่งตั้งอยู่ในทำเลทองที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
- Central Bangkok ตั้งอยู่ในย่านชิดลม-เพลินจิต
- The Em District ตั้งอยู่ในย่านสุขุมวิท
- One Siam ตั้งอยู่ในย่านสยาม
การตั้งศูนย์การค้าในทำเลทองนั้น ทำให้ในแต่ละวันมีผู้คนหมุนเวียนเข้าสู่ศูนย์การค้าอย่างมหาศาล และทำให้พื้นที่ดังกล่าว กลายเป็นที่จับจ้องของบรรดาคู่แข่งด้วย
เจ้าของโครงการจึงไม่ต่างอะไรไปจากเจ้าถิ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายพื้นที่ให้บริการของตัวเองแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดของตัวเองไว้ ไม่ให้คู่แข่งเข้ามาได้ง่าย ๆ แม้ศูนย์การค้าแห่งใหม่ จะมาแย่งส่วนแบ่งของศูนย์การค้าเดิมก็ตาม
โดยเราเรียกกลยุทธ์นี้ว่า “Cannibalization” หรือการที่กิจการเพิ่มสินค้าหรือบริการใหม่มา เพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งอาจกระทบกับสินค้าหรือบริการที่มีอยู่เดิมของตนเอง
โดยแนวคิดนี้มองว่า กิจการยอมให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งกันเอง ดีกว่าให้ส่วนแบ่งดังกล่าว ตกไปอยู่ในมือของคู่แข่ง
ลองนึกภาพดูว่า หากสยามพิวรรธน์ มีศูนย์การค้าอยู่เพียงสองแห่งในพื้นที่สยาม คือ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์ โดยสมมติว่า ทั้งสองแห่งนั้น มีผู้คนหมุนเวียนรวม วันละ 100,000 คน
ในขณะที่พื้นที่ที่สยามพารากอนตั้งอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นของคู่แข่งอย่างกลุ่มเซ็นทรัล
การเปิดตัวศูนย์การค้าใหม่ของคู่แข่ง ในพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมแล้ว จะทำให้ผู้คนเดินทางมายังสยามมากขึ้น แต่ก็ทำให้สยามพิวรรธน์ ต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดในย่านสยาม ไปให้กลุ่มเซ็นทรัลได้
จึงไม่แปลกที่สยามพิวรรธน์ จะเปิดสยามพารากอนขึ้นมาเพื่อให้ส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่สยาม ยังคงเป็นของสยามพิวรรธน์อยู่ และยังได้ยอดขายมากขึ้น
ในขณะที่บรรดาคู่แข่ง ก็เข้ามาชิงส่วนแบ่งได้ยาก เพราะพื้นที่ว่างเหลือน้อยลง และผู้เช่าภายในศูนย์การค้า ก็มักจะยังเลือกเช่ากับสยามพิวรรธน์ ที่เป็นเจ้าถิ่นเหมือนเดิม
นอกจากนี้ การเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ อาจทำให้บริษัท สามารถเจาะกลุ่มลูกค้า ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีของกลุ่ม The Em District ที่แต่เดิม มีแต่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีฐานะดี
แต่สุดท้าย กลุ่มเดอะมอลล์ก็ตัดสินใจ ที่จะสร้างเอ็มควอเทียร์ขึ้น บนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับเอ็มโพเรียม เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นพนักงานบริษัท ในย่านสุขุมวิท รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มเติม
ซึ่งการเปิดเอ็มควอเทียร์ ส่งผลให้มีผู้คนหมุนเวียนในย่านสุขุมวิทมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เอ็มโพเรียมเองก็ได้ประโยชน์
หรืออย่างกรณีที่กลุ่มเซ็นทรัล สร้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีฐานะดีโดยเฉพาะ จากเดิมที่มีเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าในทุกระดับอยู่แล้ว
สรุปแล้ว การที่เจ้าของรายเดียว สร้างศูนย์การค้าหลายแห่งใกล้ ๆ กัน นอกจากจะเป็นการขยายกิจการแล้ว ยังทำให้บริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งในพื้นที่เอาไว้ได้ รวมถึงสามารถเจาะกลุ่มลูกค้า ได้มากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ใช้กลยุทธ์นี้ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ศูนย์การค้าที่เปิดใหม่ มีกลุ่มเป้าหมายที่ซ้อนทับกัน และเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง จากศูนย์การค้าเดิมมากจนเกินไป
ไม่อย่างนั้นแล้ว แทนที่การเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้มากขึ้น
อาจกลายเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงถึงหลักพันหรือหลักหมื่นล้านบาท แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่คุ้มกับที่ลงทุนไปนั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.brandcase.co/37283
-https://en.wikipedia.org/wiki/Cannibalization_(marketing)
-https://www.onesiam.com/th/about-us
-https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B4_%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%84
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.