ทำไมบางครั้งจองตั๋วการบินไทย แต่ได้บินสายการบินญี่ปุ่น

ทำไมบางครั้งจองตั๋วการบินไทย แต่ได้บินสายการบินญี่ปุ่น

3 ม.ค. 2023
ทำไมบางครั้งจองตั๋วการบินไทย แต่ได้บินสายการบินญี่ปุ่น /โดย ลงทุนแมน
เคยสังเกตไหมว่า บางเที่ยวบินจะมีคำว่า “ให้บริการโดยสายการบิน” ต่อท้ายอยู่
โดยสายการบินที่ว่านั้น ก็จะไม่ใช่สายการบินเดียวกันกับที่เรากำลังค้นหาเที่ยวบินอยู่ ซึ่งวิธีแบบนี้ เรียกว่า Codeshare
Codeshare คืออะไร
แล้วทำไมสายการบินถึงนำวิธีนี้มาใช้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้ว “Codeshare” เป็นข้อตกลงทางธุรกิจ แต่โดยทั่วไปมักกล่าวถึงข้อตกลงของธุรกิจสายการบิน
โดยเกิดจากการที่สายการบินอย่างน้อย 2 สายการบิน มาทำข้อตกลงในการทำการบินร่วมในเที่ยวบินเดียวกัน โดยที่สายการบินแต่ละแห่ง ก็ยังคงขายตั๋วเครื่องบินผ่านระบบของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น เราจองตั๋วเครื่องบินไปประเทศญี่ปุ่น โดยเลือกจองผ่านเว็บไซต์ของการบินไทย และได้รหัสเที่ยวบินที่เป็นของการบินไทย
แต่เมื่อถึงเวลาบินจริง เรากลับได้นั่งเครื่องบินของ สายการบิน ANA ซึ่งเป็นสายการบินของญี่ปุ่น
ในขณะเดียวกัน ก็มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องการจองตั๋วสายการบิน ANA เพื่อเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้เป็นตั๋วและรหัสเที่ยวบินของ ANA
เมื่อถึงเวลาบินจริง สายการบิน ANA อาจให้ชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าว ไปทำการ Check-in ที่เคาน์เตอร์ของการบินไทย รวมถึงใช้เลานจ์ของการบินไทย ก่อนที่จะบินไปญี่ปุ่นด้วยเที่ยวบินเดียวกันกับเรา
จะเห็นได้ว่าในเที่ยวบินเดียวกัน แต่กลับมีรหัสเที่ยวบิน 2 รหัส จาก 2 สายการบิน ซึ่งนี่ก็คือ Codeshare นั่นเอง
คำถามต่อมาก็คือ
แล้วทำไมสายการบินถึงต้องทำ Codeshare ?
เหตุผลหลัก ๆ ก็คือ การทำให้ต้นทุนต่อเที่ยวบินนั้นถูกลง
ด้วยความที่ธุรกิจการบินนั้น เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องบินเอง ที่อยู่ในรูปของค่าเสื่อมราคา ค่าน้ำมัน ค่าบริการสนามบิน หรือแม้แต่ค่าจ้างพนักงาน
ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สายการบินต้องจ่าย ไม่ว่าเที่ยวบินนั้น จะมีผู้โดยสารเต็มลำหรือไม่ก็ตาม
สายการบินจึงจำเป็นต้องขายตั๋วให้ได้มากที่สุดในแต่ละเที่ยวบินเพื่อสร้างผลตอบแทนต่อหนึ่งเที่ยวบินให้ได้มากที่สุด หรือในกรณีที่แย่ที่สุด ก็เพื่อให้เที่ยวบินขาดทุนน้อยที่สุด
การทำ Codeshare จะช่วยทำให้จำนวนที่นั่งว่างบนเครื่องบิน เหลือน้อยลง เพราะเป็นลักษณะการขายตั๋ว ที่ 2 สายการบิน ช่วยกันขาย 1 เที่ยวบิน เหมือนตัวอย่างเที่ยวบินที่พูดถึงนั่นเอง
ซึ่งสายการบิน อาจใช้วิธีนี้ในการทดลองตลาดในเส้นทางใหม่ ๆ ก่อนทำการบินจริงด้วยตัวเองก็ได้
รวมถึงหากเส้นทางการบินไหน มีผู้โดยสารเดินทางเป็นจำนวนมาก แต่สายการบินกลับไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะทำให้ต้องซื้อเครื่องบินใหม่ ซึ่งจะกลายมาเป็นต้นทุนที่สูงมาก หรือเพราะสนามบินต้นทาง และปลายทาง ไม่มีช่วงเวลาว่างเพียงพอที่จะเปิดเที่ยวบินเพิ่ม
สายการบินอาจเลือกที่จะทำ Codeshare กับสายการบินคู่แข่ง ที่ทำการบินอยู่แล้วในเส้นทางเดียวกัน
โดยให้ผู้โดยสาร เลือกจองผ่านสายการบินเหมือนเดิม แต่ไปใช้บริการของสายการบินคู่แข่ง
ซึ่งการทำ Codeshare ในลักษณะนี้ ทำให้สายการบิน ยังคงได้รับส่วนแบ่งรายได้ โดยที่ไม่ต้องเสียต้นทุนเพิ่มมากนัก เพราะต้นทุนในการดำเนินงานส่วนใหญ่ อยู่กับสายการบินคู่แข่งนั่นเอง
นอกจากนี้ การทำ Codeshare ก็ยังนับเป็นการสร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสารทางอ้อม เพราะทำให้ผู้โดยสารเกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น
- ใช้บัตรโดยสารใบเดียว เดินทางจนถึงปลายทาง
- สะสมแต้มสายการบิน หรือไมล์ร่วมกันได้
- Check-in ที่เคาน์เตอร์ หรือใช้บริการเลานจ์ของสายการบิน Partner ได้
ลองนึกภาพดูว่าหากเราต้องการจะเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปนครนิวยอร์กซึ่งไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน ทำให้เราต้องจองตั๋วไปต่อเครื่องซึ่งทำให้ต้องโหลดกระเป๋าอีกครั้ง และยังมีความเสี่ยงที่จะตกเครื่อง หากเที่ยวบินของเรา ไปถึงเมืองที่เราเปลี่ยนเครื่องไม่ทัน
การทำ Codeshare จะทำให้ผู้โดยสาร สามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง โดยเปรียบเสมือนว่า เดินทางในสายการบินเดิม จนถึงปลายทางนั่นเอง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเจอปัญหาที่กล่าวมา
สรุปแล้วการทำ Codeshare นั้น ทำให้สายการบิน สร้างผลตอบแทนต่อเที่ยวบินได้สูงขึ้น ลดการขาดทุนลง รวมถึงลดต้นทุนต่อเที่ยวบินลง และยังมีโอกาสสร้างประสบการณ์ที่ดี ให้กับผู้โดยสารอีกด้วย
ในปัจจุบัน มีการทำข้อตกลง Codeshare ขึ้น ในหลายเส้นทางการบินทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมามีสายการบินจำนวนมากเข้าร่วม จนเกิดเป็นกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ซึ่งในปัจจุบันมี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- Star Alliance มีสายการบินเข้าร่วม 26 สายการบิน ถือเป็นพันธมิตรสายการบิน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการบินไทย เป็น 1 ใน 5 ผู้ก่อตั้งกลุ่มสายการบินนี้

- SkyTeam มีสายการบินเข้าร่วม 18 สายการบิน
- Oneworld มีสายการบินเข้าร่วม 13 สายการบิน
แต่การทำ Codeshare ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะเป็นเหมือนการแนะนำคู่แข่งให้กับลูกค้า
ซึ่งถ้าหากผู้โดยสาร เกิดติดใจสายการบินคู่แข่งขึ้นมา อาจทำให้สายการบินต้องเสียผู้โดยสารให้กับคู่แข่ง ก็เป็นไปได้ เช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.investopedia.com/ask/answers/041515/how-can-i-use-load-factor-indicator-profitability-airline-industry.asp
-https://www.staralliance.com/en/member-airlines
-https://www.skyteam.com/en/about/our-members
-https://www.oneworld.com/members
-https://en.wikipedia.org/wiki/Codeshare_agreement
-https://en.wikipedia.org/wiki/Airline_alliance
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.