ทำไมธนาคารไทย ขึ้นดอกเบี้ย ไม่รอแบงก์ชาติ

ทำไมธนาคารไทย ขึ้นดอกเบี้ย ไม่รอแบงก์ชาติ

10 ม.ค. 2023
ทำไมธนาคารไทย ขึ้นดอกเบี้ย ไม่รอแบงก์ชาติ /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงนี้ เราจะเห็นธนาคารพาณิชย์หลายราย ต่างพร้อมใจกันปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นมา 0.40%
ที่น่าสนใจคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการปรับโดยไม่รออัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยเรื่องนี้ มีต้นตอมาจากหนี้ที่เราก่อไว้ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือเมื่อ 26 ปีก่อน
แล้วต้มยำกุ้ง เกี่ยวอะไรกับการที่ธนาคารไทย ต้องมาขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้กันช่วงนี้ ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
คำตอบก็เพราะว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์หลายราย จำเป็นต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน เพื่อนำไปชดใช้หนี้ที่เกิดมาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง
เรื่องนี้ เราก็อาจต้องมาทำความเข้าใจโครงสร้างต้นทุนของธนาคารในการปล่อยกู้กันก่อน
โดยต้นทุนการปล่อยกู้ของธนาคารมีอยู่ 3 ข้อ
ข้อแรก “ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ”
คือต้นทุนที่คำนวณจากเงินสำรองของธนาคาร ในกรณีที่เกิดหนี้เสีย
ข้อถัดมา “ต้นทุนธนาคาร”
หรือก็คือ ต้นทุนในการดำเนินงานเหมือนที่ธุรกิจอื่น ๆ มี เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงาน, สาขา, เครือข่าย ATM และอื่น ๆ เพื่อการเปิดดำเนินการ
ข้อสุดท้าย ก็คือ “ต้นทุนทางการเงิน”
ซึ่งเป็นต้นทุนที่คิดจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของเงินที่ธนาคารรับมาปล่อยกู้ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากของเรา หรือการออกตราสารหนี้ รวมถึงเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)
ซึ่งต้นทุนในการส่งเงินเข้ากองทุน FIDF นี้เอง ที่ทำให้เหล่าธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยไม่รอธนาคารแห่งประเทศไทย
แล้ว FIDF คืออะไร ?
FIDF ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 เป็นกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา
แต่บทบาทเด่นจริง ๆ หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คือการที่ FIDF ได้เข้ามาค้ำประกันทั้งเงินฝากและเงินกู้
รวมถึงช่วยบริหารสินทรัพย์ของสถาบันการเงินกว่าร้อยแห่งที่กำลังจะล้มละลาย และจากการช่วยเหลือในครั้งนั้น ทำให้ยอดหนี้ที่ FIDF กู้ยืมมาเพื่อช่วยเหลือ มีมูลค่ามากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
โดยในช่วงแรก รัฐบาลรับผิดชอบในการจ่ายคืนดอกเบี้ย โดยใช้งบประมาณส่วนกลาง ส่วนเงินต้นเป็นหน้าที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
แต่เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร จึงไม่ได้มีความสามารถในการชำระเงินต้นมากนัก สะท้อนให้เห็นจากระยะเวลาที่ผ่านไป 15 ปี เงินต้นลดลงเพียง 3 แสนล้านบาทเท่านั้น
รวมถึงการแบ่งงบประมาณจากรัฐบาลมาจ่ายดอกเบี้ย ทำให้รัฐบาลมองว่าเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ
ในปี 2555 รัฐบาลจึงออกพระราชกำหนดให้รัฐบาลไม่ต้องรับภาระหนี้
แต่ให้ FIDF ชำระหนี้ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงิน ในอัตรา 0.46% ต่อปี
ซึ่งตัวเลขนี้เอง คือต้นทุนที่ธนาคารบวกเพิ่มเข้าไปในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสินเชื่อ
แต่ในช่วงการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กับทุกภาคส่วน จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนเหลือเพียง 0.5%
และได้ผ่อนผันอัตราการนำส่งเงินเข้า FIDF จาก 0.46% เหลือ 0.23% โดยแลกกับการที่ธนาคารลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.40% ให้กับลูกหนี้ทั้งระบบกว่า 1.38 ล้านราย เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งครบกำหนดในปี 2565 ที่ผ่านมา
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ ต่างพากันปรับดอกเบี้ยกลับไปยังโครงสร้างเดิม คือ บวกเพิ่ม 0.40% เพื่อชดเชยกับการนำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF ที่ปรับจาก 0.23% กลับไปเป็น 0.46% ตามเดิม
แล้วทำไม ธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงไม่ขยายระยะเวลาการผ่อนผันเงินนำส่งเข้ากองทุน เพื่อคงระดับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำต่อไป ?
ปกติแล้ว เงินที่สถาบันการเงินส่งเข้ากองทุน ถือเป็นส่วนหลักที่นำไปชดใช้หนี้ของ FIDF
แต่หากลองไปดูรายงานการบริหารสินทรัพย์ของกองทุน เทียบระหว่างปีงบประมาณ 2562 ซึ่งยังเก็บเงินสมทบ 0.46% กับปีงบประมาณ 2564 ที่เก็บเงินสมทบ 0.23% พบว่า
- ปี 2562 กองทุนชำระหนี้ทั้งสิ้น 73,952 ล้านบาท เป็นเงินที่สถาบันการเงินนำส่งทั้งสิ้น 63,832 ล้านบาท
- ปี 2564 กองทุนชำระหนี้ทั้งสิ้น 66,853 ล้านบาท เป็นเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน 35,269 ล้านบาท
จะเห็นว่าเงินที่นำไปใช้หนี้ FIDF ส่วนที่เป็นเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ลดลงกว่า 28,563 ล้านบาท
ซึ่งส่วนที่ถูกนำมาใช้หนี้แทน คือ สินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี จาก 0 บาท ในปี 2562 เพิ่มเป็น 26,262 ล้านบาท ในปี 2564
ซึ่งสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองเงินตรา ซึ่งใช้ค้ำประกันธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของทุนสำรอง สามารถใช้เงินส่วนนี้มาชำระหนี้ได้ชั่วคราวเท่านั้น
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงต้องกลับมาเรียกเงินนำส่งเข้ากองทุนในอัตรา 0.46% ตามเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมธนาคารพาณิชย์ในไทย จึงปรับโครงสร้างต้นทุนเงินกู้กลับไปเป็นแบบเดิม และไม่ต่ออายุการลดดอกเบี้ย
หรือก็คือ พร้อมใจกันเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.40%
โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนที่เคยเป็น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน ยอดหนี้ของ FIDF มีเงินต้นคงค้างทั้งสิ้น 670,614 ล้านบาท
โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าว่าจะชำระให้หมดภายในปี 2575 หรือก็คือประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 35 ปี ในการชำระหนี้จากวิกฤติต้มยำกุ้ง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bot.or.th/Thai/BOTStoryTelling/Pages/FIDF_StoryTelling_FI.aspx
-https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/2562BOTGettoKnow.aspx
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutionsDevelopmentFund/About_FIDF/DocLib_Report/ReportFIDF2562.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutionsDevelopmentFund/About_FIDF/DocLib_Report/ReportFIDF2564.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutionsDevelopmentFund/Manage_Debt/Pages/Report_Debt.aspx
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutionsDevelopmentFund/Manage_Debt/Pages/Managemen_Debt.aspx
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_118.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutionsDevelopmentFund/Manage_Debt/Pages/HistoryDebt_FIDF.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.