กรณีศึกษา Yik Yak จากโซเชียลมีเดีย 14,000 ล้าน เหลือศูนย์ ใน 4 ปี

กรณีศึกษา Yik Yak จากโซเชียลมีเดีย 14,000 ล้าน เหลือศูนย์ ใน 4 ปี

18 ม.ค. 2023
กรณีศึกษา Yik Yak จากโซเชียลมีเดีย 14,000 ล้าน เหลือศูนย์ ใน 4 ปี /โดย ลงทุนแมน
เมื่อหลายปีก่อน โซเชียลมีเดีย ชื่อว่า “Yik Yak” เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ที่ได้รับความสนใจจากวัยรุ่นชาวอเมริกันจำนวนมาก
เพราะมีฟีเชอร์แปลกใหม่ ที่สามารถโพสต์พูดคุยกับคนรอบข้าง แบบไม่เปิดเผยตัวตนได้
Yik Yak เคยถูกประเมินมูลค่าธุรกิจไว้สูงถึง 14,000 ล้านบาท แต่บริษัทกลับไม่สามารถรักษาฐานผู้ใช้งานเอาไว้ได้ จนสุดท้ายต้องปิดตัวลง ภายในเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

เรื่องราวของ Yik Yak น่าสนใจอย่างไร
แล้วอะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้ธุรกิจไม่ได้ไปต่อ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Yik Yak เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 หรือราว 10 ปีก่อน โดยคุณ Tyler Droll และคุณ Brooks Buffington
ทั้งคู่ได้พบกัน และมีโอกาสพัฒนาโปรเจกต์เกี่ยวกับแอปพลิเคชันด้วยกันสมัยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเฟอร์แมน ในรัฐเซาท์แคโรไลนา ในเวลาต่อมา จึงได้ตัดสินใจทำกิจการสตาร์ตอัปร่วมกัน
ก่อนหน้านี้ พวกเขาทดลองสร้างแอปพลิเคชันอยู่หลายประเภท ทั้งเกมบนสมาร์ตโฟน โพลล์สำรวจออนไลน์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
แต่ต่อมา พวกเขาก็ได้เกิดไอเดียในการทำแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่อ้างอิงหน้าฟีดตามพิกัดของผู้ใช้งาน โดยตั้งชื่อแอปพลิเคชันว่า Yik Yak
ฟีเชอร์หลักของ Yik Yak จะเปิดให้โพสต์ข้อความแบบ “ไม่ระบุตัวตน” ซึ่งมองเห็นได้โดยผู้ใช้งานในรัศมี 5 ไมล์เท่านั้น เพื่อให้เหล่าผู้ใช้งานค้นพบเพื่อนใหม่ในบริเวณใกล้เคียง หรือรับรู้สถานการณ์รอบตัว
ซึ่งผู้ใช้งานจะสามารถแสดงความคิดเห็น รวมทั้งกด Upvote หรือ Downvote ได้
หากโพสต์ไหนมีผู้ใช้งานสนใจมาก ก็จะขึ้นมาอยู่ด้านบนของฟีดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ Yik Yak วางกลยุทธ์เน้นทำตลาดกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นหลัก ซึ่งแอปพลิเคชันก็ได้รับความนิยมทันที
เพราะเป็นวัยที่ชอบความอิสระในการโพสต์
โดยในช่วงแรก มักถามถึงเนื้อหาบทเรียน กิจกรรมโรงเรียน หรือพิมพ์ในสิ่งที่ไม่กล้าพูด
ด้วยความนิยม และตัวตนที่ชัดเจน ก็ได้ทำให้ในช่วงต้นปี 2014 นั้น Yik Yak มีผู้ใช้งานทะลุ 1 แสนราย และประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบ Seed Round กวาดเงินระดมทุนไปได้ 390 ล้านบาท
พอบริษัทมีเม็ดเงินมากขึ้น จึงได้ขยายบริการไปทั่วสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผ่านไป 1 ปี Yik Yak มียอดดาวน์โหลดกว่า 1.8 ล้านครั้ง และมีอันดับบน App Store เหนือกว่าโซเชียลมีเดียรายใหญ่อย่าง Facebook, Twitter และ Pinterest อีกด้วย
นอกจากนั้น Yik Yak ยังเป็นกระแสไวรัลในหน้าข่าว หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงในมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต ในปี 2015 โดยนักศึกษาได้มีการใช้ Yik Yak บอกตำแหน่งที่อยู่ เพื่อรอรับความช่วยเหลือ
ซึ่งความโด่งดังของ Yik Yak ในเวลานั้น ยังทำให้ Facebook ถึงขนาดต้องแก้เกมด้วยการพัฒนาฟีเชอร์ในลักษณะเดียวกัน ชื่อว่า Rooms ออกมาแข่งขันเลยทีเดียว
จนมาในปลายปี 2014 กองทุน Venture Capital ชื่อดังอย่าง Sequoia Capital ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในบริษัท ด้วยเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งมีการประเมินมูลค่าธุรกิจของ Yik Yak ไว้สูงถึง 14,000 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้น สถานการณ์ของ Yik Yak กลับพลิกผันอย่างรวดเร็ว..
เพราะเมื่อเวลาผ่านไป Yik Yak ได้ถูกใช้งานในเชิงลบ และมีเนื้อหาที่เป็น Toxic มากขึ้น เช่น นินทาว่าร้าย, การระรานทางไซเบอร์, สร้างความเกลียดชัง รวมไปถึงขั้นปล่อยข่าวเท็จอย่าง ขู่วางระเบิด หรือกราดยิงในโรงเรียน จนกลายเป็นปัญหาให้ต้องอพยพหนีกันหลายครั้ง
ด้วยเหตุนี้ Yik Yak จึงถูกหลายสถานศึกษาแบน รวมทั้ง Google เอง ก็ได้ถอดแอปพลิเคชันออกจาก Play Store อีกด้วย ส่งผลให้ยอดการใช้งานแพลตฟอร์มตกลง
แต่บริษัทพยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการให้ผู้ใช้งาน “ระบุตัวตน” มากกว่าการพัฒนาระบบตรวจจับโพสต์ Toxic ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มการแสดง Usernames, รูปถ่าย และยืนยันบัญชีผ่านโทรศัพท์มือถือ
แต่นั่นกลับเป็นจุดตาย ที่ทำให้ Yik Yak ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะพอต้องเปิดเผยตัวตน ผู้ใช้งานก็สูญเสียอิสระในการโพสต์ ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์แรกที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม จึงหันไปใช้โซเชียลมีเดียอื่นแทน
ที่สำคัญคือ ด้วยความที่ Yik Yak เป็นสตาร์ตอัปที่ยังไม่มีรายได้ เนื่องจากต้องการโฟกัสกับการสร้างฐานผู้ใช้งานก่อน แล้วค่อยไปเก็บค่าโฆษณาในอนาคต
ความนิยมที่ลดลง ก็ทำให้ Yik Yak ต้องปลดพนักงานทีเดียวราว 60% เพื่อลดต้นทุน เหลือไว้แต่ทีมวิศวกรที่คอยดูแลระบบเท่านั้น
แต่สุดท้าย Yik Yak ก็ดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ไหวอยู่ดี เพราะฐานผู้ใช้งานหายไปเกือบหมด
ในที่สุด ก็ได้ตัดสินใจปิดให้บริการลงในเดือนพฤษภาคม ปี 2017 โดยทีมงานที่เหลือถูกบริษัท Square ซื้อตัวไปในราคา 34 ล้านบาท
เรื่องราวของ Yik Yak สะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้ โลกของเราเต็มไปด้วยสตาร์ตอัปที่สามารถสร้างความแปลกใหม่เข้ามาสู่ตลาด และประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
แต่สิ่งสำคัญ ก็คือ ธุรกิจเหล่านี้ ก็ต้องมีการวางแผนรับมือ ผลกระทบรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจเอาไว้เหมือนกัน
อย่างในกรณีของ Yik Yak ที่ประสบความสำเร็จเร็วมากจากฟีเชอร์ ข้อความไม่ระบุตัวตน ก็อาจจะต้องมองไปถึงกรณีเลวร้ายสุดเลย คือ เราจะป้องกันข้อความ Clickbait หรือข้อความที่สร้างความตื่นตระหนก หรือเกลียดชัง อย่างไร
ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาตรงนี้ เราก็ต้องประเมินไว้ตั้งแต่แรก ๆ เพราะหากมาตามแก้ไขทีหลัง หรือเพิ่งมาแก้ไขหลังจากเกิดเรื่องไปแล้ว
ก็อาจทำให้รูปแบบผลิตภัณฑ์สูญเสียเอกลักษณ์ไปแบบ Yik Yak ที่มีฟีเชอร์เรือธงว่าจะไม่ระบุว่าเราเป็นใคร แต่วันดีคืนดีมาให้ยืนยันตัวตน
คนจึงเลิกใช้งาน จนต้องปิดตัวลงภายใน 4 ปี
จากมูลค่าที่เคยมี 14,000 ล้านบาท กลายเป็น ศูนย์..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://productmint.com/what-happened-to-yik-yak/
-https://slidebean.com/story/what-happened-to-yikyak
-https://www.theverge.com/2017/4/28/15480052/yik-yak-shut-down-anonymous-messaging-app-square
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.