General Motors เคยสร้างรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่จบด้วยการทุบทิ้ง

General Motors เคยสร้างรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่จบด้วยการทุบทิ้ง

30 ม.ค. 2023
General Motors เคยสร้างรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่จบด้วยการทุบทิ้ง /โดย ลงทุนแมน
รถยนต์ GM EV1 ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าล้วน ทำความเร็วสูงสุด 280 กม./ชม. ได้ถูกเปิดตัวขึ้นในปี 1996 พร้อมกับกระแสความนิยมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้วยรูปทรงที่โฉบเฉี่ยว ล้ำสมัย เทคโนโลยีภายในตัวรถที่ล้ำหน้า และเป็นต้นแบบของหลายเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ผู้คนในสหรัฐฯ สนใจลงชื่อต่อคิวยาว เพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการรถยนต์ในครั้งนี้
แต่ว่าท้ายที่สุด เรื่องราวของรถคันนี้ กลับจบลงในรูปของกองเศษเหล็กที่ถูกทิ้งอยู่กลางทะเลทราย
แล้วเพราะอะไรความฝันของรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อ 30 ปีที่แล้วของ General Motors ถึงสลายไป
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เมื่อราว 30 ปีก่อน ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประชากรอาศัยอยู่ราว 3.5 ล้านคน ท้องฟ้าถูกปกคลุมไปด้วยหมอกและควันพิษ จากการใช้รถยนต์โดยสาร และอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัญหามลภาวะทางอากาศนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ค้างคาสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา มายาวนานหลายสิบปี โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศเหล่านี้นับแสนราย
ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออก พระราชบัญญัติเพื่ออากาศสะอาด และมีการเพิ่มมาตรการต่าง ๆ ในแต่ละยุคเพื่อทำให้อากาศในสหรัฐฯ นั้นสะอาดขึ้น เพื่อลดการสูญเสียของประชากร และเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของชาวอเมริกัน
และหนึ่งในมาตรการสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็คือ การกดดันให้ค่ายรถยนต์น้อยใหญ่ที่จะทำตลาดในสหรัฐฯ ต้องหาวิธีลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศเหล่านี้
จนกระทั่งในงานแสดงสินค้า LA Motor Show ปี 1990 หรือเมื่อ 33 ปีก่อน ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง General Motors ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบที่มีชื่อว่า General Motors Impact ด้วยรูปทรงที่โฉบเฉี่ยว ล้ำสมัย
มาพร้อมกับความเร็วสูงสุดที่ 280 กม./ชม. และสมรรถนะในการขับขี่ที่เหนือกว่าคู่แข่งทุกรายในตอนนั้น
ซึ่งมันก็ได้สร้างแรงกระเพื่อม ให้กับวงการรถยนต์ในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จนมาในปี 1996 รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับใช้งานจริง อย่าง General Motors EV1 ก็ได้ถูกเปิดตัวขึ้น โดยสามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดที่ 110 กิโลเมตร
แถมยังมาพร้อมกับคุณสมบัติเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันอย่างครบถ้วน ทั้งเรื่องอัตราเร่งที่ดีเยี่ยม ขับสนุก และเงียบ ไม่มีเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทางค่ายเลือกที่จะไม่ขายรถยนต์คันนี้ให้กับใคร แต่ปล่อยเช่าในราคาเดือนละประมาณ 20,000 บาทแทน
ทว่าถึงเป็นแบบนั้น ความนิยมในตัวรถยนต์คันนี้ก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนไปเตะตาต่อคณะกรรมการผู้ดูแลสภาพอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เห็นความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้
ทางสภาฯ จึงได้ร่างกฎหมายใหม่ขึ้น เพื่อที่จะลดมลพิษทางอากาศมากขึ้น โดยเนื้อความได้กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือรถยนต์พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ในอัตราปีละ 2%
จนสามารถแทนที่รถยนต์สันดาปได้หมด
ในตอนแรกนั้น ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็ยินดีที่จะทำตามข้อกฎหมายใหม่นี้แต่โดยดี เพราะได้เห็นความสำเร็จจากตัวรถ GM EV1 ที่ได้รับการตอบรับที่ดี
ทำให้หลายค่ายเดินหน้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ เช่น Toyota RAV4 EV, Nissan Altra EV, Chevrolet S10 หรือแม้แต่ Ford Ranger EV
รถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น จึงเริ่มไหลเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ และกลายเป็นกระแสผ่านหน้าสื่อขึ้นมา
ซึ่งก็แน่นอนว่าสังคมส่วนใหญ่ ก็เริ่มตั้งคำถามถึงความเสถียรของระบบ ระยะทางที่วิ่งได้ จำนวนของสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า และช่วยลดมลพิษจริงหรือไม่
แต่อุปสรรคสำคัญจริง ๆ ในตอนนั้น คือการที่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน และผู้ผลิตรถยนต์หลายราย
ได้จับมือกัน จัดตั้งการประท้วงและโปรโมตโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ ชี้ให้เห็นข้อเสียหรือจุดด้อยของรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา
จนเกิดเป็นคำถามมากมายในหมู่ผู้บริโภค และยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้านั้นก็ตกลง จนผู้ผลิตหลายรายเริ่มถอดใจ
และในที่สุด กลุ่มคณะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ก็ได้เข้าไปเจรจากับคณะกรรมการควบคุมมลภาวะทางอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้เปลี่ยนข้อกฎหมาย จากการให้ผลิตรถยนต์พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ในอัตราปีละ 2% จนครบ เหลือเพียงผลิตถ้ามีความต้องการในตลาด
ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 2001 จอร์จ ดับเบิลยู. บุช คนลูกได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 43 ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่า เขานั้นเติบโตและประสบความสำเร็จ มาจากธุรกิจน้ำมัน
รัฐบาลของบุช มีนโยบายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรถพลังงานทดแทนของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นสถานที่ ที่นำร่องอยู่ในขณะนั้น
และมือขวาที่ช่วยล้มร่างกฎหมายรถพลังงานทดแทนให้รัฐบาลของบุชนั้น ก็คืออดีตผู้บริหารคนหนึ่งของ General Motors เอง
ทำให้ในที่สุดแล้ว รัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องยอมยกเลิกร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ไป
ส่วนรถยนต์รุ่น GM EV1 ของทาง General Motors นั้น แม้จะยังคงมีผู้จองรอเช่าเป็นจำนวนหลายหมื่นราย
แต่ทางทีมบริหารก็ได้ให้ทีมขายเจรจาให้ลูกค้าที่รอต่อคิวนั้น เลิกสนใจไป และประกาศปิดแผนกรถยนต์ไฟฟ้า
โดยให้เหตุผลว่าตัวรถยนต์ไฟฟ้านั้น ยังไม่มีความสามารถในการทำกำไร
ส่วนผู้เล่นรายอื่น อย่างเช่น ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นนั้น ก็เริ่มหันไปพัฒนารถยนต์ไฮบริดแทน
ต่อมา General Motors ได้หยุดการต่อสัญญาเช่าให้กับผู้เช่ารถ GM EV1 เดิมทั้งหมด แม้ว่าผู้ใช้รถจำนวนมากจะประท้วง และยินดีจะขอซื้อขาด แต่ทางบริษัทก็เรียกเก็บรถคืนทั้งหมด และส่งรถไปทุบทำลายทิ้งกลางทะเลทราย..
ทำให้สุดท้ายแล้ว ความฝันของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำ และการออกกฎหมายเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศที่มาก่อนกาล
ในมุมเล็ก ๆ มุมหนึ่งของโลก ที่ชื่อว่ารัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 30 ปีก่อนนั้น ได้สลายไปกับกาลเวลา..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.youtube.com/watch?v=wws1KFpWQPs
-https://www.autofun.co.th/news/gm-ev1-pioneered-many-technologies-in-ev-today-46641
-https://www.bbc.com/thai/international-46410629
-https://www.gm.com/stories/100-years-research-development
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.