ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าใช้จ่ายหลักของ หุ้นกลุ่มการเงิน

ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าใช้จ่ายหลักของ หุ้นกลุ่มการเงิน

8 ก.พ. 2023
ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าใช้จ่ายหลักของ หุ้นกลุ่มการเงิน /โดย ลงทุนแมน
ปกติแล้ว การวิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัท แต่ละอุตสาหกรรม ก็จะมีตัวเลขหลักที่ใช้ประเมินแตกต่างกัน
สำหรับหุ้นกลุ่มการเงินแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” โดยคิดเป็นสัดส่วน 30-40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกำไรสุทธิของกิจการ
และยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมา KBANK มีกำไรสุทธิลดลงกว่า 7,000 ล้านบาท
แม้ว่าจะมีรายได้มากกว่าไตรมาสก่อนหน้านั้นเสียอีก
แล้วค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
โดยปกติแล้วทุกบริษัทหรือทุกธุรกิจ ต่างก็มีลูกหนี้ของตัวเองทั้งนั้น
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทโดยทั่วไป ก็อาจมีลูกหนี้การค้า ที่ซื้อสินค้าหรือบริการไปก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง
ในขณะที่ธุรกิจในกลุ่มการเงิน เช่น ธนาคาร ก็จะมีลูกหนี้จากการที่ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อไป
และสิ่งที่มาพร้อมกับการมีลูกหนี้ ก็คือ ความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะเก็บหนี้คืนไม่ได้
นั่นจึงเป็นที่มาของค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า
- ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ ECL
สองคำนี้ มีความหมายเหมือนกัน คือ เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทจะต้องตั้งขึ้นทันที ที่มีการปล่อยกู้ หรือให้เครดิตกับลูกหนี้
เพื่อเป็นการนำความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สะท้อนเข้ามาในงบการเงินของบริษัท
คำถามต่อมาคือ
แล้วการจะตั้ง ECL มากหรือน้อยนั้น พิจารณาจากอะไร ?
ความจริงแล้ว ตัวเลขการตั้ง ECL นั้น มีสูตรการคำนวณที่ซับซ้อนพอสมควร
แต่มีหลักการคร่าว ๆ คือ
1. การดูสถิติของการผิดนัดชำระหนี้ในอดีต
2. การคาดการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างการตั้ง ECL จากข้อมูลในอดีตกัน
ธนาคาร A ปล่อยสินเชื่อให้บริษัท B เป็นเงิน 1 ล้านบาท
หลังจากบริษัท B ผ่อนชำระมาระยะหนึ่ง และเหลือยอดหนี้คงค้าง 400,000 บาท บริษัท B ก็เริ่มผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน
โดยถ้าดูจากข้อมูลในอดีต ของบริษัทที่มีลักษณะคล้ายกันกับบริษัท B จะพบว่า
- หากบริษัทผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน
จะมีโอกาส 20% ที่จะเบี้ยวหนี้ส่วนที่เหลือ
- หากบริษัทผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน
โอกาสที่จะเบี้ยวหนี้ส่วนที่เหลือ จะเพิ่มเป็น 30%
จากกรณีนี้ ธนาคาร A จึงต้องตั้ง ECL เท่ากับ
30% x 400,000 หรือ 120,000 บาท
และบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน ตามรอบบัญชี
แล้วการตั้ง ECL มีผลต่อผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มการเงินขนาดไหน ?
เราลองมาดูตัวอย่างรายได้และกำไรของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ในปี 2565
- ไตรมาส 3
รายได้รวม 41,735 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 10,574 ล้านบาท
- ไตรมาส 4
รายได้รวม 49,399 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 3,191 ล้านบาท
จะเห็นว่า KBANK มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 8,000 ล้านบาท
แต่กำไรสุทธิกลับลดลงถึง 7,000 ล้านบาท
ที่เป็นแบบนี้ เพราะว่าค่าใช้จ่าย ECL ของธนาคารนั่นเอง
ไตรมาส 3 มี ECL เท่ากับ 9,948 ล้านบาท
ไตรมาส 4 มี ECL เท่ากับ 22,784 ล้านบาท
แปลว่าในไตรมาส 4 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13,000 ล้านบาท นั่นจึงทำให้กำไรของ KBANK ลดลง ทั้ง ๆ ที่รายได้เติบโตขึ้นกว่า 18%
และอย่างที่ได้บอกไปว่า การตั้ง ECL ก็ยังขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของลูกหนี้ด้วย
จากตัวอย่างข้างต้น จึงเป็นไปได้ว่า KBANK มองว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จะทำให้ความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระหนี้มีมากขึ้น รวมถึงคุณภาพของหลักทรัพย์ค้ำประกันที่กิจการถือครอง ก็อาจมีมูลค่าลดลงด้วย
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่าย ECL สามารถกลับมารับรู้เป็นรายได้ของบริษัทได้อีกในอนาคต ถ้าลูกหนี้กลับมาชดใช้หนี้ที่ค้างไว้คืนให้กับบริษัท
ซึ่งถ้าเราเข้าใจในเรื่องนี้ ก็อาจจะเป็นตัวช่วยให้เราวิเคราะห์กิจการได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
เพราะการตั้งสำรองและคุณภาพสินเชื่อ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญต่อกลุ่มการเงิน และส่งผลต่อผลประกอบการ ไม่แพ้เรื่องของอัตราดอกเบี้ยเหมือนกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
-https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2021/Pages/n8364.aspx?fbclid=IwAR2UkTLNC3d8jvOSweAzF-6s0om1UzRPjEyntzBtTCy3HCukVNN3Xgvnh_Q
-https://www.tfac.or.th/upload/9414/A5j4YaGFTh.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.