ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง กำลังเป็นธุรกิจ ตะวันตกดิน

ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง กำลังเป็นธุรกิจ ตะวันตกดิน

23 ก.พ. 2023
ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง กำลังเป็นธุรกิจ ตะวันตกดิน /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงกิจการค้าปลีก ชื่อของ Lotus’s, Big C และ Central น่าจะเป็นแบรนด์ค้าปลีกไทย ที่เรานึกถึง
แต่หากพูดถึงร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเฉพาะเจาะจงไปเลย เช่น สนีกเกอร์ ก็คือ JD Sports, Foot Locker หรือแบรนด์ไทยก็คือ Carnival หรือกลุ่มเครื่องเขียนก็เช่น B2S
เราจะเรียกร้านค้าปลีกกลุ่มนี้ว่า “Specialty Store” หรือร้านค้าปลีกเฉพาะทาง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก็นับเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของธุรกิจกลุ่มนี้
ข้ามฟากไปที่สหรัฐอเมริกา ร้านค้าปลีกเฉพาะทางหลายรายเผชิญปัญหา จนถึงขั้นล้มละลายไปแล้ว เช่น ร้านขายของเล่น Toys “R” US, ร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่น FOREVER 21
เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีรายงานว่าร้าน Bed Bath & Beyond ที่ขายสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน กำลังใกล้จะล้มละลาย

เรามาดูกันว่า ความท้าทายของร้านค้าปลีกกลุ่มนี้ มันคืออะไร ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในอดีต ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง จะมีจุดเด่นตรงที่ขายสินค้าประเภทที่ตัวเองถนัดแบบครบวงจร
ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะสามารถหาซื้อของที่ต้องการได้อย่างแน่นอน
ส่งผลให้ร้านที่ตอบโจทย์ตลาดได้ดี ก็จะได้รับความนิยมสูง และมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ครอบคลุมฐานผู้บริโภคในหลายพื้นที่
อย่างในกรณีของร้าน “Bed Bath & Beyond” ร้านค้าปลีกเฉพาะทางสัญชาติอเมริกัน ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1971 หรือเมื่อ 52 ปีที่แล้ว
ในตอนแรก ร้านใช้ชื่อว่า Bed ‘n Bath เน้นขายเครื่องนอน และของใช้ในห้องน้ำเป็นหลัก
แต่ต่อมา ได้ขายสินค้าประเภทอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จึงรีแบรนด์ใหม่เป็น Bed Bath & Beyond ในปี 1987
ทั้งนี้ Bed Bath & Beyond เป็นร้านค้าปลีกรุ่นบุกเบิก ที่สร้างหน้าร้านแบบซูเปอร์สตอร์ คือ เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อวางขายสินค้า ให้สามารถเลือกได้ครบทุกรูปแบบ
นอกจากนั้น ยังคิดกลยุทธ์การจัดวางสินค้าเป็นกลุ่ม ให้ค้นหาได้สะดวก และวางสินค้าขายดีไว้ตรงที่มองเห็นง่าย
ด้วยเหตุนี้ Bed Bath & Beyond จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง และขยายสาขาจนมีหน้าร้านมากถึง 1,500 แห่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ
แต่ทว่า ภายในเวลาเพียงไม่นาน ธุรกิจของร้าน Bed Bath & Beyond กลับตกลงจากจุดสูงสุด สะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการในอดีต เทียบกับปัจจุบัน
ปี 2013
- รายได้ 367,000 ล้านบาท
- กำไร 35,000 ล้านบาท
ปี 2022
- รายได้ 264,000 ล้านบาท
- ขาดทุน 19,000 ล้านบาท
บริษัทขาดทุนเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังมูลค่าบริษัทถึงระดับ 570,000 ล้านบาทในปี 2013 หุ้นถูกกระหน่ำเทขายตามการถดถอยของบริษัท
จนปัจจุบัน Bed Bath & Beyond มีมูลค่าบริษัทเหลือเพียง 10,000 ล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวลดลงมากถึง 98% ในระยะเวลาเพียง 9 ปี..
ผลขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปิดสาขาไปไม่น้อยกว่า 500 แห่ง
รวมทั้งในปีที่แล้ว ยังเลิกจ้างพนักงานเป็นสัดส่วนถึง 20% ของจำนวนทั้งหมดอีกด้วย
ซึ่งในเดือนมกราคม ปี 2023 ที่ผ่านมา Bed Bath & Beyond เกือบจะต้องประกาศล้มละลายไปแล้ว

แต่ยังได้เงินกู้ราว 33,000 ล้านบาท แลกกับหุ้นบางส่วน มาใช้ปรับโครงสร้างและบริหารจัดการธุรกิจ จึงพอที่จะผ่านพ้นวิกฤติมาได้
แล้วอะไรคือสาเหตุ ที่นำไปสู่การถดถอยของร้านค้าปลีกเฉพาะทาง ?
ปัจจัยสำคัญ คงหนีไม่พ้น การแข่งขันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสามารถวางขายสินค้าได้หลากหลายประเภท โดยไม่จำกัดปริมาณหรือพื้นที่ และผู้บริโภคไม่ต้องออกไปเดินหาสินค้าให้เหนื่อยด้วยซ้ำ
และยิ่งช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ก็เป็นตัวเร่งให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม หันไปซื้อของบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้นไปอีก
นั่นทำให้จุดเด่นของร้านค้าปลีกเฉพาะทาง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งยังกลับกลายเป็นจุดอ่อนทันที
เพราะหน้าร้านและสินค้าคงคลังจำนวนมาก เป็นต้นทุนมหาศาลที่บริษัทต้องแบกรับเอาไว้
ทีนี้ ถ้าลองมองย้อนกลับมายังร้านค้าปลีกเฉพาะทาง ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Power Buy ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า, Supersports ร้านสินค้ากีฬา, B2S ร้านหนังสือ สินค้าไลฟ์สไตล์ และอุปกรณ์เครื่องเขียน
- บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด เจ้าของร้าน Power Buy
ปี 2020 รายได้ 17,268 ล้านบาท ขาดทุน 210 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 16,996 ล้านบาท ขาดทุน 212 ล้านบาท
- บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด เจ้าของร้าน Supersports
ปี 2020 รายได้ 8,323 ล้านบาท ขาดทุน 44 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 6,968 ล้านบาท ขาดทุน 363 ล้านบาท
- บริษัท บีทูเอส จำกัด เจ้าของร้าน B2S
ปี 2020 รายได้ 3,287 ล้านบาท ขาดทุน 286 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 2,814 ล้านบาท ขาดทุน 17 ล้านบาท
จากผลประกอบการที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า ธุรกิจเหล่านี้ น่าจะต้องเจอผลกระทบคล้ายกับ Bed Bath & Beyond ไปไม่มากก็น้อยเช่นกัน
สรุปแล้ว แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำให้ข้อได้เปรียบของร้านค้าปลีกเฉพาะทางค่อย ๆ เลือนหายไป
เพราะผู้บริโภคมีตัวเลือกสินค้าจากทุกช่องทาง และทุกชนิดบนโลกออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเข้าร้านค้าปลีกเฉพาะทางเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง ก็สามารถปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี ด้วยการผสานช่องทางการขาย ทั้งออนไลน์ และการขายหน้าร้าน ควบคู่กันไปได้
ซึ่งจุดนี้แตกต่างจากร้าน Bed Bath & Beyond ที่ไม่ได้สนใจขายออนไลน์มากนัก แต่หันไปลดประเภทของสินค้า และออกแบรนด์ของตัวเองที่คนไม่คุ้นเคยมาแข่งขันแทน
จึงทำให้ข้อด้อยในเรื่องตัวเลือกสินค้าที่จำกัดยิ่งชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสุดท้าย Bed Bath & Beyond ก็อาจจะต้องล้มละลายไปในที่สุด
นี่คงเป็นบทเรียนที่น่าสนใจว่า เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงเทรนด์อุตสาหกรรมได้ ก็ควรหาทางปรับตัวหรือใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว
แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย อาจต้องประสบชะตากรรมเหมือนกับ Bed Bath & Beyond หรือร้านค้าปลีกเฉพาะทางอีกหลาย ๆ ราย ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.businessinsider.com/bed-bath-and-beyond-rise-and-fall-photos-2020-1
-https://www.macrotrends.net/stocks/charts/BBBY/bed-bath-beyond/market-cap
-https://www.statista.com/statistics/1076094/store-numbers-of-bed-bath-and-beyond-worldwide/
-https://www.barrons.com/articles/bed-bath-beyond-bankruptcy-retail-operations-51675910274
-https://www.centralretail.com/th/investor-relations/document/annual-reports
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.