ทำไมพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าปลอดภัยที่สุดในโลก ก็มีความเสี่ยงซ่อนอยู่

ทำไมพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าปลอดภัยที่สุดในโลก ก็มีความเสี่ยงซ่อนอยู่

16 มี.ค. 2023
ทำไมพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าปลอดภัยที่สุดในโลก ก็มีความเสี่ยงซ่อนอยู่ /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง
การลงทุนในพันธบัตรเปรียบเสมือนหลุมหลบภัยให้กับนักลงทุน เพราะมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ไม่เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ด้วยแล้ว
นักลงทุนก็คงรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นไปอีก
ด้วยความที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังถือเป็นสินทรัพย์หลัก ที่ธนาคารต่าง ๆ เลือกลงทุน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่าธนาคาร Silicon Valley Bank ในสหรัฐอเมริกา ขาดทุนจากการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากถึง 63,000 ล้านบาท
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องที่กำลังถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากตอนนี้ คือ การล้มลงของ ธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ หรือ Silicon Valley Bank (SVB)
สถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ แห่งนี้ มีธุรกรรมหลักคือ การปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัป และ Venture Capital
แต่ในช่วงที่ผ่านมา วงการสตาร์ตอัป และ Venture Capital ต่างก็อยู่ในช่วงขาลง การระดมทุนก็ทำได้ยากขึ้น
ทำให้เงินฝากในธนาคาร SVB ถูกถอนออกมาเรื่อย ๆ
เมื่อธนาคารเริ่มขาดสภาพคล่อง จึงจำเป็นต้องเอาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เคยลงทุนไว้ไปขาย เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดกลับมา
แต่ราคาที่ขายออกไปนั้น ก็ทำให้ธนาคาร SVB ขาดทุนไปกว่า 63,000 ล้านบาท
แล้วทำไมสินทรัพย์ที่ได้ชื่อว่า มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในโลก
อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงสร้างความเสียหายได้มากมายขนาดนั้น ?
นั่นก็เพราะว่า จริง ๆ แล้วทุกการลงทุนมีความเสี่ยง
ซึ่งตัวพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เอง ก็ยังมีความเสี่ยงบางอย่าง ที่ซ่อนอยู่เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น
- ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ
ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงเพิ่มขึ้นมาก ๆ แต่ดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรยังเท่าเดิม การลงทุนในพันธบัตร อาจได้รับความน่าสนใจน้อยลง
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
เพราะพันธบัตร มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน คือ ต้องถือให้ครบตามสัญญาจึงจะได้เงินคืน
ซึ่งถ้าเราต้องการสภาพคล่อง และรีบนำไปขายในตลาดรอง เราก็อาจได้รับเงินกลับมาน้อยกว่าที่ควร
แต่สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั่วโลก ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง จึงถือว่ามีไม่มาก
และความเสี่ยงอีกอย่าง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ “ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย” นั่นเอง
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า
เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาพันธบัตรจะปรับตัวลดลง
เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาพันธบัตรจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า
“Yield ขึ้น ราคาลง และ Yield ลง ราคาขึ้น”
ความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ย กับราคาพันธบัตร สามารถอธิบายได้แบบนี้
สมมติว่า ในปี 2021
เราตัดสินใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี
ที่มีราคาหน้าตั๋ว 100 ดอลลาร์สหรัฐ
โดยได้รับดอกเบี้ยที่เรียกว่าคูปอง ปีละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 1% ต่อปี
เมื่อเราถือครองพันธบัตรนี้ไปจนครบ 10 ปี สิ่งที่เราจะได้ก็คือ
- ดอกเบี้ยทั้งหมด 10 ดอลลาร์สหรัฐ
- ได้เงินต้นคืน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีที่ 10
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลก มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อปราบเงินเฟ้อ
ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกมาใหม่ ต้องให้คูปองที่สูงขึ้นตามไปด้วย
สมมติว่า ในปี 2023
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ชุดใหม่
ที่มีราคาหน้าตั๋ว 100 ดอลลาร์สหรัฐ
ให้ดอกเบี้ยหรือคูปอง ปีละ 4 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทน 4% ต่อปี
ในตอนนี้ ถ้าเราอยากขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ชุดเดิมของเรา ที่ราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยอัตราคูปองที่ให้ปีละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ก็คงไม่มีคนอยากได้ เพราะเขาจะไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ชุดใหม่ ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า
ดังนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้เราขายพันธบัตรของเราได้ เราจำเป็นต้องลดราคาพันธบัตรลงมาอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อทำให้คูปองที่ได้ ปีละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ถูกคิดเป็นผลตอบแทนเท่ากับ 4% ต่อปี เหมือนพันธบัตรชุดใหม่
หมายความว่า เราจะขาดทุนจากราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไปราว 20%
ซึ่งนี่คือความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับตราสารหนี้ทุกประเภท เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้
แล้วถ้าเราลงทุนในตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้
ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เราจะขาดทุนทุกครั้งหรือเปล่า ?
จริงอยู่ว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และมูลค่าตราสารหนี้ที่เราลงทุนจะลดลง
แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้ขายตราสารหนี้นั้นออกไป เราก็ยังไม่มีการขาดทุนจริงเกิดขึ้น หรือเป็นเพียงแค่ Unrealized Loss เท่านั้น
และเมื่อเราถือตราสารหนี้นั้นไปจนครบอายุ เราจะได้ทั้งคูปอง และเงินต้นคืน ครบจำนวนอยู่ดี ซึ่งจะไม่มีการขาดทุนในแง่กระแสเงินสดเลย
จากความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ย และราคาพันธบัตร จึงสามารถนำมาอธิบายกรณีของธนาคาร SVB ได้
ในกรณีของธนาคาร SVB พบว่า สิ้นปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารมีการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Loss) มากกว่า 520,000 ล้านบาท จากการตีมูลค่าตราสารหนี้ที่ยังถืออยู่ ตามราคาตลาด
เรื่องราวจะไม่ลุกลามบานปลาย ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จำเป็นต้องขายตราสารหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ต้องการถอนเงินกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้ธนาคาร SVB ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงต้องขายตราสารหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนดอายุ จนนำมาซึ่งการขาดทุนจริงกว่า 63,000 ล้านบาท
ทำให้สุดท้ายธนาคารจึงต้องถูกปิดตัวลง ภายในไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Silicon_Valley_Bank
-https://ghpia.com/understanding-why-silicon-valley-bank-failed/#:~:text=By%20the%20end%20of%202022,recorded%20on%20its%20financial%20statements.
-https://www.investopedia.com/terms/g/government-bond.asp
-https://www.investopedia.com/ask/answers/111414/what-causes-bonds-price-rise.asp
-https://ycharts.com/indicators/10_year_treasury_rate_h15
-https://time.com/6262567/money-safe-silicon-valley-bank/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.