ธนาคารยักษ์ใหญ่ ที่ปล่อยล้มไม่ได้ วัดจากอะไร ?

ธนาคารยักษ์ใหญ่ ที่ปล่อยล้มไม่ได้ วัดจากอะไร ?

22 มี.ค. 2023
ธนาคารยักษ์ใหญ่ ที่ปล่อยล้มไม่ได้ วัดจากอะไร ? /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่กี่วันก่อน มีดีลประวัติศาสตร์ระหว่างสองธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ คือการที่ธนาคาร UBS เข้าซื้อ เครดิตสวิส
ดีลนี้เกิดขึ้นเพราะ รัฐบาลและธนาคารกลางสวิสมองว่า เครดิตสวิส เป็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของประเทศและของโลก ที่จะปล่อยให้ล้มไม่ได้
รัฐบาลจึงต้องเข้าแทรกแซงแกมบังคับ ให้ UBS มาซื้อกิจการของเครดิตสวิส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้น ในระบบการเงิน
นอกจาก เครดิตสวิส แล้ว ก็ยังมีธนาคารชื่อดังระดับโลก รวมทั้งหมด 30 ธนาคาร เช่น JPMorgan, ICBC, Deutsche Bank ที่อยู่ในกลุ่ม ปล่อยให้ล้มไม่ได้
สิ่งที่ทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่เหล่านี้ล้มไม่ได้
นอกจาก “ขนาด” ของธนาคารแล้ว
ยังต้องมีคุณสมบัติอะไรอีกบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
กลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลก ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการเงินของโลก
จะมีชื่อเรียกว่า “Global Systemically Important Banks” หรือ “G-SIBs”
ซึ่งจะมีเกณฑ์การพิจารณาอยู่ 5 ด้าน
1. Size หรือ ขนาดสินทรัพย์
ตรงไปตรงมา เพราะถ้าธนาคารยักษ์ใหญ่ล้มขึ้นมา อุตสาหกรรมการเงินก็จะต้องหยุดชะงักแน่นอน
ยิ่งถ้าธนาคารขนาดใหญ่ล้มละลาย ก็จะยิ่งทำลายความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน และลูกค้าธนาคารหลักสิบล้านคน
รวมถึงพนักงานของธนาคารอีกหลายหมื่นคน ก็ต้องถูกผลกระทบไปด้วย
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจธนาคาร เป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนความเชื่อใจเป็นสำคัญ
ซึ่งถ้าดูธนาคารทั่วโลกแล้ว จะพบว่า ธนาคารที่ใหญ่สุดในโลก เรียงตามสินทรัพย์ 4 อันดับแรก มาจากจีน
โดยแต่ละรายมีสินทรัพย์ดังนี้
- ICBC 191 ล้านล้านบาท
- China Construction Bank 167 ล้านล้านบาท
- Agricultural Bank 160 ล้านล้านบาท
- Bank of China 146 ล้านล้านบาท
ส่วนอันดับที่ 5 มาจากสหรัฐฯ คือ JPMorgan ที่มีสินทรัพย์ 129 ล้านล้านบาท
2. Interconnectedness หรือ ความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่น
หัวข้อนี้เป็นการดูว่า ถ้าธนาคารเหล่านี้ล้มละลายไป
จะมีผลกระทบเป็นโดมิโน ไปถึงสถาบันการเงินอื่น ๆ แค่ไหน
โดยดูจากการที่ว่า ธนาคารนั้นมีเงินฝาก, เงินกู้, ถือหลักทรัพย์ที่ออกโดยธนาคารอื่น หรือถือหุ้นในธนาคารอื่นมากน้อยแค่ไหน
ตัวอย่างเช่น
BNP Paribas ของฝรั่งเศส ถือเป็นหนึ่งในธนาคารอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นสูงมาก รองจาก JPMorgan, ICBC และ Bank of China
ซึ่ง BNP Paribas มีสถานะเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินอื่นอยู่ 14 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็มีสถานะเป็นลูกหนี้อยู่ 11 ล้านล้านบาท
3. Substitutability หรือ การเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งสำคัญต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม
ข้อนี้เป็นการดูว่า ธนาคารนั้น ๆ มีความสำคัญต่อระบบการเงินของโลกมากแค่ไหน
เพราะยิ่งถ้าธนาคารนั้นมีความสำคัญมาก และเกิดล้มไป ก็จะทำให้ระบบการเงินโดยรวมหยุดชะงักไป
และอาจมีต้นทุนมหาศาลในการให้สถาบันการเงินเจ้าอื่นเข้ามาดำเนินการแทน
ในหัวข้อนี้จะดูจาก ปริมาณการชำระเงิน, ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ทำผ่านธนาคารเหล่านี้ และทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของธนาคาร
รวมถึงดูว่า ธนาคารเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการออกหลักทรัพย์ เช่น ออกตราสารหนี้, ออกหุ้นเพิ่มทุน หรือออกหุ้น IPO มากแค่ไหน
แน่นอนว่า ธนาคารจากสหรัฐฯ อย่างเช่น JPMorgan, Bank of New York Mellon, Citigroup, Bank of America และ State Street จะติดมาในอันดับต้น ๆ
นั่นก็เป็นเพราะว่า สหรัฐฯ คือศูนย์กลางทางการเงินและการซื้อขายหลักทรัพย์
ยกตัวอย่างเช่น ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ หรือ FOREX ทั่วโลก มีปริมาณการซื้อขายราว 35,000 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งก็อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 90%
หรืออย่างตลาดหุ้นที่ใหญ่สุดในโลกคือ NYSE ก็อยู่ในสหรัฐฯ เช่นกัน โดยมีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 200 ล้านล้านบาทต่อปี
4. Complexity หรือ ปริมาณของการทำธุรกรรมที่ซับซ้อน
ด้วยความที่โลกการเงินสมัยใหม่ เป็นมากกว่าแค่การรับฝากเงิน และปล่อยสินเชื่อ
แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น MBS, CDO, CDS ที่เป็นตัวการในวิกฤติซับไพรม์
ยิ่งธนาคารมีความซับซ้อนมากเท่าไร การประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ ก็ยิ่งทำได้ยากขึ้นเท่านั้น
รวมถึงถ้าเกิดปัญหาหรือวิกฤติ ก็ต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาลในการแก้ปัญหา
โดยหลักเกณฑ์เรื่องความซับซ้อน จะดูว่าธนาคารเหล่านั้นมีปริมาณตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) และมีการถือหลักทรัพย์เผื่อขายมากน้อยแค่ไหน
เพราะในเวลาที่เกิดวิกฤติ หรือตลาดมีข่าวร้ายเข้ามา จนทำให้ทุกคน Panic ราคาของหลักทรัพย์เหล่านี้จะตกลงอย่างรุนแรง จนอาจทำให้ธนาคารล้มได้
ซึ่งกรณีนี้ เราก็เพิ่งได้เห็นจาก Silicon Valley Bank ที่ต้องขายพันธบัตรในราคาขาดทุนมากถึง 63,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นสภาพคล่อง
ธนาคารที่มีความซับซ้อนเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ก็คือ
JPMorgan, Goldman Sachs และ Bank of America จากสหรัฐฯ รวมถึง Barclays จากสหราชอาณาจักร และ Deutsche Bank จากเยอรมนี
5. Cross-Jurisdictional หรือ ปริมาณการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
การที่ธนาคารให้บริการอยู่ในหลายภูมิภาค ทำให้การติดตามกำกับดูแล และประสานงานเมื่อเกิดปัญหา ทำได้ยากขึ้น
และผลกระทบเมื่อเกิดปัญหา จะยิ่งกระจายเป็นวงกว้างไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ และกระจายไปในหลายประเทศ
ตัวอย่างธนาคาร ที่มีสาขาให้บริการอยู่ทั่วโลก
- Citigroup ให้บริการมากกว่า 160 ประเทศ รองรับลูกค้าราว 200 ล้านคน
- HSBC มีเครือข่ายใน 62 ประเทศ เพื่อบริการลูกค้าราว 39 ล้านคน
- BNP Paribas มีสาขาใน 65 ประเทศ และมีพนักงานกว่า 190,000 คน
- ING Bank ดำเนินงานใน 40 ประเทศ ซึ่งมีลูกค้าราว 37 ล้านคน และมีพนักงานราว 60,000 คน
- Santander ที่มีมากกว่า 9,000 สาขาทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้
จะเห็นได้ว่า ธนาคารที่อยู่ในกลุ่มของ G-SIBs ล้วนเป็นธนาคารชื่อดัง ที่ถ้าหากปล่อยให้ล้มละลายไป จะต้องสร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบการเงิน
ทำให้มีข้อกำหนดว่า ธนาคารเหล่านี้จะต้องสำรองเงินกองทุนขั้นต่ำต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูง มากกว่าธนาคารทั่วไป 1.0-3.5%
แล้วในประเทศไทย มีธนาคารไหนบ้าง ที่ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบการเงิน จนปล่อยให้ล้มไม่ได้ ?
แม้ว่าในรายชื่อ G-SIBs ทั้ง 30 ธนาคาร จะไม่มีชื่อของธนาคารจากประเทศไทย
แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกแนวทางการกำกับดูแล ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบการเงินและเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยเช่นกัน
ธนาคารในกลุ่มดังกล่าวจะมีชื่อว่า “Domestic Systemically Important Banks” หรือ “D-SIBs”
ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาที่ค่อนข้างเหมือนกับ G-SIBs
โดยปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ ที่อยู่ในกลุ่ม D-SIBs ทั้งหมด 6 ธนาคาร คือ
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
และอีกธนาคารคือ ธนาคารทหารไทยธนชาต ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในปี 2564 หลังจากมีการควบรวมกิจการกัน ระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต
โดยสถานะของ 6 ธนาคารเหล่านี้ ณ สิ้นปี 2565 คือ
- สินทรัพย์รวม 20.2 ล้านล้านบาท
- เงินให้สินเชื่อรวม 13.5 ล้านล้านบาท
- เงินรับฝากรวม 14.3 ล้านล้านบาท
- เงินกองทุนรวม 2.6 ล้านล้านบาท
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าสถาบันการเงิน 6 ธนาคารนี้เป็นอะไรไป เศรษฐกิจไทยก็คงอยู่ไม่ได้
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องระดับของเงินกองทุนขั้นต่ำต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่นเดียวกัน
โดยตัวเลขที่ว่านี้ จะเรียกว่า Capital Adequacy Ratio หรือ CAR
คำนวณได้จากการนำ เงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารมาหารด้วยสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 12%
ถ้ายิ่งมี CAR สูง ก็ยิ่งแสดงถึงความมั่นคงของธนาคารดังกล่าว ในการรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ปัจจุบัน CAR ของ 6 ธนาคารพาณิชย์อยู่ในช่วงระหว่าง 15-20% ซึ่งสูงกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้
ดังนั้น ก็ต้องบอกว่า วันนี้ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่ม D-SIBs มีความแข็งแกร่งด้านการเงินในการรองรับความเสี่ยงดีพอสมควร
จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์การคัดเลือก และแนวทางการป้องกัน ของธนาคารที่อยู่ในกลุ่ม G-SIBs และกลุ่ม D-SIBs นั้น มีความสอดคล้องกัน
ส่วนข้อกำหนดที่ต้องสำรองเงินทุน มากกว่าธนาคารทั่วไป ก็ทำเพื่อลดโอกาสในการล้มละลายของธนาคารยักษ์ใหญ่
และป้องกันไม่ให้การล้มละลายนั้น สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ไปยังสถาบันการเงินอื่น เป็นโดมิโน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bis.org/publ/bcbs201.pdf
-https://www.bis.org/bcbs/gsib/instr_end21_gsib.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Highlights/Basel3Article/Basel_II_III_PM.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Highlights/Basel3_VDO/printA2.pdf
-https://www.bis.org/bcbs/gsib/
-https://www.financialresearch.gov/bank-systemic-risk-monitor/
-https://www.bis.org/bcbs/gsib/gsib_assessment_samples.htm
-https://www.fsb.org/wp-content/uploads/P211122.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/News2564/Q_A_D-SIBs.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2564/ThaiPDF/25640149.pdf
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2565, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
-https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/News2560/n4760t.pdf
-https://www.kasikornbank.com/en/ir/finaninforeports/pages/financial-summary.aspx
-https://www.bangkokbank.com/-/media/files/investor-relations/agm/2023/agm2023_summary_en.pdf?la=en&hash=3903ECE2D34A1DE75C88D5DA303AE941CF81BD18
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202302/23018821.pdf
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202302/23019655.pdf
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202302/23018434.pdf
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202302/23020199.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.