รถจีน กำลังมาแย่งตลาด รถญี่ปุ่น ในประเทศไทย

รถจีน กำลังมาแย่งตลาด รถญี่ปุ่น ในประเทศไทย

26 มี.ค. 2023
รถจีน กำลังมาแย่งตลาด รถญี่ปุ่น ในประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
ในตอนนี้ หากมองไปบนถนน เราน่าจะเริ่มเห็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่ว่าจะเป็น ATTO ของบริษัท BYD
หรือ ORA Good Cat ของบริษัท Great Wall Motor
ซึ่งเรื่องนี้ เป็นสัญญาณว่า แบรนด์รถยนต์จากจีนเหล่านี้ กำลังเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ในไทย
จากแชมป์เก่าจากญี่ปุ่นอย่าง Honda, Toyota ที่รถส่วนใหญ่ยังเป็นรถยนต์แบบใช้น้ำมัน
รู้หรือไม่ว่า..
เรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่บนท้องถนนเท่านั้น
แต่ยังเกิดขึ้นในโรงงานการผลิตด้วยเช่นกัน
ซึ่งในตอนนี้ เราอาจพูดได้ว่า ไทยกำลังเป็นสมรภูมิ การผลิตรถยนต์ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น เลยก็ว่าได้
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลายคนคงทราบดีว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ ที่สำคัญในภูมิภาค มาอย่างยาวนาน
โดยเฉพาะค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น
ซึ่งเรื่องนี้เริ่มขึ้นประมาณ 38 ปีก่อน เมื่อญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ จากข้อตกลง Plaza Accord ที่เกิดขึ้นในปี 1985
โดย Plaza Accord คือ ข้อตกลงที่สหรัฐอเมริกาทำกับกลุ่มประเทศคู่ค้า เพื่อช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา
ผลของข้อตกลงนี้ ทำให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งขึ้นเป็นเท่าตัวในทันที
ในปี 1985 เงิน 242 เยน มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 1986 เงิน 153 เยน มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้สินค้าของญี่ปุ่น ดูแพงขึ้นในสายตาชาวโลกจนขายไม่ออก
เพื่อที่จะลดราคาสินค้าลงมา บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่น จึงต้องหาทางลดต้นทุน โดยเลือกย้ายฐานการผลิต มายังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ
ซึ่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญ เพราะนอกจากจะมีทำเลที่ง่ายต่อการขนส่ง ยังมีแรงงานที่ราคาไม่แพงอีกเป็นจำนวนมาก
การตั้งฐานการผลิต ของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย ทำให้เศรษฐกิจไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ไม่เพียงแต่ ทำให้คนไทยจำนวนมากมีงานทำเท่านั้น
แต่ยังก่อให้เกิดธุรกิจอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ที่ซัปพอร์ตการผลิตรถยนต์อีกด้วย
โดยเฉพาะซัปพลายเออร์ ของค่ายรถยนต์เหล่านี้
เช่น ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์, ยางรถยนต์, ระบบไฟฟ้ารถยนต์ รวมถึงธุรกิจส่งออกรถยนต์ ไปยังต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้ ทำให้ไทยมีระบบซัปพลายเชน ของการผลิตรถยนต์ที่ครบวงจร
และดึงดูดให้ค่ายรถยนต์ชาติอื่น ๆ อยากเข้ามาสร้างโรงงานของตน มากยิ่งขึ้น
จนไทยถึงกับได้รับฉายาว่า เมืองดีทรอยต์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คล้ายกับเมืองดีทรอยต์ ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกัน
โดยฐานการผลิตรถยนต์เกือบทั้งหมดในไทย เป็นของแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า อาจทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน
โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนโครงการ การวิจัย และพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ หลายคนคงทราบกันดีว่า จีนเองก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกับสหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกมาโดยตลอด
เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง จากปัญหาความขัดแย้ง และลดต้นทุนค่าแรง
ค่ายรถยนต์จีน จึงเลือกที่จะมาตั้งฐานการผลิต ในประเทศแถบอาเซียนเช่นเดียวกัน
ด้วยความแข็งแกร่งของระบบซัปพลายเชน ทำให้ไทยเอง ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญ ของค่ายรถยนต์จากจีน
โดยดีลที่ใหญ่ที่สุด เป็นของค่าย BYD ที่ได้เข้าเซ็นสัญญาซื้อที่ดินกว่า 600 ไร่ ในเดือนกันยายน ปี 2022 จากนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยอง 36 ในจังหวัดระยอง เพื่อสร้างโรงงานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
โดยโรงงานแห่งนี้ จะเริ่มเดินไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปี 2024
ดีลนี้ยังทำให้จีน กลายเป็นนักลงทุนต่างชาติ ที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ในปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่น ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 1994
โดยก่อนหน้านี้ WHA ได้มีการขายที่ดิน ให้กับค่ายรถยนต์จากจีนไปแล้ว 2 ราย ได้แก่ SAIC Motor และ Great Wall Motor เจ้าของ ORA Good Cat และ Haval
ซึ่งในอนาคต อาจมีแบรนด์รถยนต์จากจีน เข้ามาตั้งโรงงานเพิ่มเติม
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจพูดได้ว่า แบรนด์รถยนต์จากจีนนั้น
ได้กลายมาเป็น ผู้ท้าชิงคนสำคัญ ของแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น ในประเทศไทยไปโดยปริยาย
ซึ่งต้องมาดูกันว่า ฝั่งแบรนด์ญี่ปุ่น จะมีการปรับตัวอย่างไร หลังการบุกเข้ามาของแบรนด์จีน
เพราะในตอนนี้ โรงงานของค่ายรถยนต์ฝั่งญี่ปุ่นนั้น ส่วนมากยังเน้น การผลิตรถยนต์ แบบใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ซึ่งแน่นอนว่า กำลังได้รับผลกระทบ จากความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีมากขึ้น
เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ?
ใครจะเป็นผู้ชนะในศึกแย่งชิงฐานการผลิตในครั้งนี้ ?
แต่ไม่ว่าชัยชนะจะตกไปอยู่ที่ฝั่งไหน
ที่รู้แน่ ๆ คือ ประเทศไทย ก็น่าจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการจ้างงาน และการลงทุน ในสงครามครั้งนี้ ไม่มากก็น้อย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-Spotlight/Thailand-s-auto-industry-becomes-a-Japan-China-battleground
-https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=QWRxQ05TY1JGRFU9
-https://en.wikipedia.org/wiki/Plaza_Accord
-หนังสือเศรษฐกิจโลก 1,000 ปี โดย ลงทุนแมน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.