ธนาคารกำลังเจอปัญหา ดอกเบี้ยระยะสั้น มากกว่า ดอกเบี้ยระยะยาว

ธนาคารกำลังเจอปัญหา ดอกเบี้ยระยะสั้น มากกว่า ดอกเบี้ยระยะยาว

31 มี.ค. 2023
ธนาคารกำลังเจอปัญหา ดอกเบี้ยระยะสั้น มากกว่า ดอกเบี้ยระยะยาว /โดย ลงทุนแมน
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ได้ทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จาก 1% จนตอนนี้อยู่ที่ 4.75%
ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี
หลายคนอาจคิดว่า การที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ธุรกิจธนาคารที่มีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ ก็น่าจะได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ
แต่ความจริงอาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป
ในทางกลับกัน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
อาจกำลังทำให้ธนาคารมีกำไรลดลงได้เหมือนกัน
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรามาทำความเข้าใจ ต้นทุนและรายได้ ของธุรกิจธนาคารกันก่อน
เงินทุนหลักของธนาคาร จะมาจากเงินฝากระยะสั้น
ดอกเบี้ยเงินฝาก จึงถือเป็นต้นทุนทางการเงินหลักของธนาคาร
ส่วนรายได้หลักของธนาคารก็คือ ดอกเบี้ยรับ ที่มาจากการปล่อยกู้ระยะยาว เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อโครงการธุรกิจ
พูดง่าย ๆ คือ ธนาคารจะกู้ยืมเงินในระยะสั้น เพื่อมาปล่อยกู้ในระยะยาว
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมระยะยาว จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมระยะสั้นเสมอ และธนาคารก็จะได้กำไรจากส่วนต่างตรงนี้
เพราะการกู้ยืมระยะยาว มีความเสี่ยงมากกว่า เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ, ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย, ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก เรามักจะอ้างอิงกับ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
โดยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันเป็นดังนี้
- ผลตอบแทนของพันธบัตร รุ่นอายุ 2 ปี เท่ากับ 4.01%
- ผลตอบแทนของพันธบัตร รุ่นอายุ 10 ปี เท่ากับ 3.55%
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พันธบัตรระยะสั้น กลับให้ผลตอบแทนที่มากกว่า พันธบัตรระยะยาว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ
หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Inverted Yield Curve”
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า อัตราผลตอบแทนระยะสั้น เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็ว ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED
ในขณะที่ภาพระยะยาว นักลงทุนก็มองว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง จนอาจจะต้องมีการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
เรื่องนี้จึงสะท้อนกลับมาที่การทำธุรกิจของธนาคาร
เมื่อต้นทุนที่เป็นดอกเบี้ยระยะสั้น เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ที่เป็นดอกเบี้ยระยะยาว ก็มีผลทำให้ส่วนต่างรายได้จากดอกเบี้ยลดลง
นอกจากนั้น การเกิด Inverted Yield Curve ก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่า อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต
และถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็ย่อมเป็นปัจจัยลบต่อธุรกิจธนาคารอีกเช่นกัน ทั้งการปล่อยสินเชื่อที่จะลดน้อยลง รวมถึงความเสี่ยงของหนี้เสียที่จะเพิ่มมากขึ้น
จากลักษณะของต้นทุนและรายได้ของธนาคาร เราจึงสามารถบอกได้ว่า การที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อาจไม่ได้เป็นผลดีต่อธุรกิจธนาคารเสมอไป
เพราะถ้าความสัมพันธ์ของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นกับระยะยาว ไม่เป็นเหมือนในภาวะปกติ ก็อาจทำให้ธุรกิจธนาคารต้องเจอกับความท้าทาย ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เลย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.morningstarthailand.com/th/news/220637/yield-curve-
-https://www.investopedia.com/articles/basics/06/invertedyieldcurve.asp#:~:text
-https://en.wikipedia.org/wiki/Inverted_yield_curve
-https://www.investing.com/rates-bonds/u.s.-10-year-bond-yield
-https://www.investing.com/rates-bonds/u.s.-2-year-bond-yield
-https://tradingeconomics.com/united-states/interest-rate
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.