เรื่องที่ควรรู้ ก่อนซื้อหุ้น ธุรกิจสัมปทาน

เรื่องที่ควรรู้ ก่อนซื้อหุ้น ธุรกิจสัมปทาน

2 เม.ย. 2023
เรื่องที่ควรรู้ ก่อนซื้อหุ้น ธุรกิจสัมปทาน /โดย ลงทุนแมน
ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินข่าวคราว การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำลังถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย
จนโครงการนั้นต้องถูกชะลอ เพื่อรอคำตัดสินของศาล และให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้เข้ามาดำเนินการแทน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาจากขั้นตอนในการประมูล ซึ่งเป็นกระบวนการที่มักจะเกิดขึ้นกับธุรกิจสัมปทาน ที่มีรูปแบบของการให้สัมปทาน ระหว่างภาครัฐและเอกชน
แล้วธุรกิจสัมปทาน คืออะไร มีความเสี่ยงอะไรที่เราควรรู้บ้าง ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
สัมปทาน หมายถึง การที่ภาครัฐ อนุญาตหรือให้สิทธิ์แก่เอกชน ในการดำเนินการและแสวงหาประโยชน์บนทรัพยากรของประเทศ เพื่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ แก่ประชาชนและประเทศชาติ
เนื่องมาจากว่า รัฐอาจจะขาดแคลนเงินทุน หรือมีความเชี่ยวชาญไม่เพียงพอในการบริหารทรัพยากรเหล่านั้น
ซึ่งส่วนมาก การให้สัมปทานก็มักจะเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค อย่างเช่น ไฟฟ้า น้ำประปา คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ การคมนาคม
รวมไปถึงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ ในอาณาเขตของประเทศไทย
แล้วการให้สัมปทาน มีการคัดเลือกผู้รับสัมปทานอย่างไรบ้าง ?
โดยส่วนมาก จะคัดเลือกผ่านการประมูล
เริ่มจากให้เจ้าของสัมปทาน ซึ่งมักเป็นหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้เปิดประมูลโครงการ
โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูล จะเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานนั่นเอง
ผู้ที่ได้รับสัมปทาน มักจะได้สิทธิ์ในการบริหาร หรือใช้ประโยชน์จากสัมปทานนั้น แต่เพียงผู้เดียว ภายใต้ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กำหนดไว้
และผู้ที่ได้รับสัมปทานนั้น อาจจะประกอบไปด้วยบริษัทหรือนิติบุคคล มากกว่า 1 แห่งก็ได้ ในลักษณะของกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture
แล้วธุรกิจสัมปทานนั้นมีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไรบ้าง ?
หากมองจากมุมของ ผู้ที่มารับสัมปทาน จะมีจุดแข็งหลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง คือ
- มักเป็นธุรกิจที่มีความต้องการในตลาด
- อาจจะไม่มีคู่แข่งโดยตรงเลย หรือมีน้อยราย
เนื่องจากธุรกิจแบบสัมปทาน มักจะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ทำให้บริษัทที่ได้รับสัมปทาน มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ
อีกทั้งการที่ผู้รับสัมปทาน มักจะเป็นผู้บริหารโครงการนั้นแต่เพียงผู้เดียว จึงเสมือนเป็นการผูกขาดกลาย ๆ ในธุรกิจนั้น โดยปราศจากคู่แข่งโดยตรง
อย่างไรก็ตามต้องบอกว่า ผู้รับสัมปทานเอง ก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากว่า
- ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
- มีความเสี่ยง ที่รายได้ จะไม่เป็นไปตามเป้า
- รายได้อาจจะไม่เติบโต หรืออาจจะขาดทุนในบางกรณี เพราะไม่สามารถปรับราคาได้มากนัก
ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้รับสัมปทาน จากกรุงเทพมหานคร
ในโครงการดังกล่าว BTSC รับหน้าที่เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา ซึ่งก็คือรางและสถานีรถไฟฟ้า จัดหาขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงได้รับสิทธิ์ ในการให้บริการและเก็บค่าโดยสาร เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 ในเส้นทางส่วนสัมปทาน
หากเราลองมาวิเคราะห์ดู จะพบว่า ในการก่อสร้างงานโยธา รวมถึงการจัดหาขบวนรถไฟฟ้านั้น แน่นอนว่า BTSC ใช้เงินลงทุนไปเป็นจำนวนมหาศาล
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา BTSC ก็มีรายได้จากค่าโดยสาร เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และรับรายได้เต็ม ๆ จากการเป็นผู้ให้บริการรายเดียวในเส้นทางนั้น
โดยมีคู่แข่งทางอ้อม เป็นตัวเลือกในการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนอื่น ๆ อย่างรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ หรือรถแท็กซี่
และแม้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา รายได้ของ BTSC ก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะผู้คนก็ยังต้องเดินทางอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ก็มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ BTSC มาแล้ว ตัวอย่างเช่น การล็อกดาวน์เมื่อช่วงปี 2563 นั่นเอง
ที่ทั้งเมืองหยุดนิ่ง และผู้คนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อีกเรื่องที่เป็นจุดอ่อนก็คือ BTSC เองก็ไม่สามารถที่จะขึ้นราคาค่าโดยสารได้มากนัก เพราะมีการกำกับดูแล เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ที่ต้องมาใช้บริการนั่นเอง
และนอกจากตัว BTS แล้ว ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ยังมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการสัมปทานอีกหลายตัว เช่น
- คมนาคม : AOT, BEM
- พลังงาน : PTT, PTTEP, BAFS, GULF
- การสื่อสาร : ADVANC, TRUE
สรุปแล้วก็คือ ธุรกิจสัมปทานนั้น แม้จะมีรายได้ที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และดูเหมือนไร้คู่แข่ง
เพราะการแข่งขันจริงนั้น มักจะจบลงที่การประมูลไปแล้ว แต่ก็ต้องบอกว่ายังมีความเสี่ยงที่แฝงอยู่ไม่น้อย
นอกจากนี้ ด้วยความที่ต้องมีความสัมพันธ์กับภาครัฐ
จึงทำให้ธุรกิจสัมปทาน มักจะมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขั้นตอนการประมูล..
ดังที่เราได้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั่นเอง
ดังนั้น ผู้ที่คิดจะลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจดังกล่าว จึงควรจะทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ ที่บริษัทนั้นจะเข้าไปลงทุนด้วย
เพื่อที่จะได้ป้องกันเหตุการณ์การฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเกิดการสูญเสียจากการลงทุน..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อขายหุ้นใด ๆ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.