สรุปประวัติศาสตร์ การประกันภัย

สรุปประวัติศาสตร์ การประกันภัย

6 เม.ย. 2023
สรุปประวัติศาสตร์ การประกันภัย /โดย ลงทุนแมน
ประกัน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินของโลก สะท้อนผ่านมูลค่าบริษัทของบริษัทประกันระดับโลกที่มีมูลค่ามหาศาล
- Ping An ของจีน มูลค่า 4,100,000 ล้านบาท
- AIA ของฮ่องกง มูลค่า 4,000,000 ล้านบาท
- Allianz ของเยอรมนี มูลค่า 3,000,000 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัท ไทยประกันชีวิต ของไทย ก็มีมูลค่าราว 143,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน การประกันภัย มีมากมายหลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ประกันภัยรถยนต์ และประกันประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย
แล้วจุดเริ่มต้นของการประกันภัยมีที่มาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หลักการพื้นฐานของการประกันภัย ก็คือ การลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยแนวคิดนี้ ก็ถูกพูดถึงในคัมภีร์ไบเบิลตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายที่ชื่อว่า โจเซฟ ที่ได้ทำนายความฝันของฟาโรห์ กษัตริย์แห่งอียิปต์ เอาไว้
ในความฝันของฟาโรห์ ปรากฏเห็นวัวอ้วนอยู่ 7 ตัว
แต่ต่อมาก็มีวัวผอมซูบ 7 ตัว มากินวัวอ้วนเหล่านั้นไปทั้งหมด
โจเซฟทำนายความฝันว่า อียิปต์จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกินเป็นเวลา 7 ปี แต่หลังจากนั้น แผ่นดินจะแห้งแล้ง และประชาชนก็จะต้องอดอยากไปเป็นเวลา 7 ปีเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนั้น โจเซฟจึงแนะนำฟาโรห์ว่า ควรสั่งให้อียิปต์สะสมพืชพันธุ์ธัญญาหารในช่วงที่มีความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ เผื่อสำหรับอนาคตที่จะต้องอดอยาก
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ประเทศอียิปต์ก็ได้ผ่านพ้นวิกฤติของภัยแล้งในตอนนั้นมาได้
จะเห็นได้ว่า การสะสมพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งคล้าย ๆ กับการเก็บออมของเราในทุกวันนี้ ก็เป็นการรับประกันได้ในระดับหนึ่งว่า ถ้ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นในอนาคต ความเสี่ยงนั้นก็จะบรรเทาลงได้
นอกจากนี้ การจัดการกับความเสี่ยง ยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 วิธี คือ
1. การกระจายความเสี่ยง
ตัวอย่างของการกระจายความเสี่ยง เคยปรากฏไว้เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ 5,000 กว่าปีที่แล้ว
- พ่อค้าชาวจีน กระจายสินค้าไปไว้กับเรือหลายลำ
เนื่องจากการเดินทางผ่านแม่น้ำแยงซีเกียง ถือเป็นเส้นทางที่อันตรายมาก เผื่อว่าถ้าเรือบางลำเกิดประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง จะได้ลดความเสียหายลงไปได้
- ชาวกรีกโรมัน ก็มีการกระจายความเสี่ยง โดยร่วมกันลงขันเพื่อซื้อเรือหลาย ๆ ลำ ทำให้แต่ละคนมีความเป็นเจ้าของเรือแต่ละลำ กันคนละนิด
2. การโอนความเสี่ยงไปให้ผู้อื่น
ในยุคก่อน ก่อนที่จะมีการออกเดินเรือ พ่อค้าจะมอบสินค้าบางส่วนไว้ให้กับผู้ที่ทำหน้าที่รับประกัน
ซึ่งถ้าหากระหว่างการเดินเรือ สินค้าเกิดเสียหาย หรือถูกโจรสลัดปล้นไป ผู้ที่ทำหน้าที่รับประกันก็จะชดใช้ค่าเสียหายให้กับพ่อค้า
ซึ่งแนวทางนี้ ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับการรับประกันที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
สำหรับสัญญาประกันภัย หรือที่เรียกว่า “กรมธรรม์” เริ่มมีขึ้นอย่างจริงจังในช่วง 1,800 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือเกือบ 4,000 ปีที่แล้ว ในสมัยของพระเจ้าฮัมมูราบี แห่งบาบิโลน หรือประเทศอิรักในปัจจุบัน ที่ประมวลกฎหมายหลายอย่างถูกกำหนดขึ้นในช่วงเวลานี้
โดยก่อนหน้าที่จะมีประมวลกฎหมายนี้ พ่อค้าชาวบาบิโลน จะให้พ่อค้าเร่ นำสินค้าออกไปขายตามเมืองต่าง ๆ และเมื่อขายสินค้าได้ ก็ให้นำกำไรมาแบ่งกัน
แต่ระหว่างที่พ่อค้าเร่ออกไปขายสินค้า ก็จะต้องทิ้งทรัพย์สิน รวมถึงลูกเมียเอาไว้เป็นหลักประกัน ซึ่งถ้าพ่อค้าเร่เกิดหายตัวไป หรือสินค้าถูกโจรปล้น ทรัพย์สินและลูกเมียที่ฝากเอาไว้ ก็จะต้องถูกยึดไปด้วย
จากข้อตกลงที่พ่อค้าเร่เสียเปรียบเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดประมวลกฎหมายใหม่ ที่ระบุว่า ถ้าการสูญหายไม่ใช่ความผิดของพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าเร่ได้พยายามปกป้องสินค้าอย่างเต็มความสามารถแล้ว ให้ถือว่าพ่อค้าเร่ไม่มีความผิด และพ่อค้าชาวบาบิโลนไม่มีสิทธิ์ยึดทรัพย์สินหรือลูกเมียของพ่อค้าเร่ได้
นับได้ว่าข้อตกลงดังกล่าว เป็นการเริ่มต้นของการประกันภัยในสมัยโบราณ
เมื่อการค้าขายสินค้าและการเดินเรือรุ่งเรืองมากขึ้น การประกัน ก็มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
- เริ่มมีการกู้เงินสำหรับซื้อสินค้าและเดินเรือ โดยใช้เรือหรือสินค้าที่มี เป็นหลักประกันในการกู้เงิน
- จากที่เคยคุ้มครองแค่สินค้า ก็ขยายความคุ้มครองไปถึงชีวิตของคนบนเรือ และค่าไถ่จากโจรสลัด
- ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าปรับ จากการมอบสินค้าไว้ มาเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยด้วยเงิน เพื่อความสะดวก
ต่อมาความเจริญรุ่งเรืองขยายไปยังประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจในยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกลายเป็นที่นัดพบรวมตัวกัน ของทั้งพ่อค้าและผู้รับประกันภัย
การประกันภัยก็เริ่มมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เริ่มทำบัญชีแสดงทรัพย์สิน ว่าในเรือนั้นประกอบไปด้วยสินค้าประเภทใด จำนวนเท่าไร และจะมีการคุ้มครองอะไรบ้าง
เมื่อจัดทำรายการเสร็จแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่รับประกันภัย ก็จะเซ็นชื่อกำกับไว้ใต้รายการเหล่านั้น
จึงเป็นที่มาของคำว่า “Underwriter” หรือ ผู้พิจารณารับประกันภัย นั่นเอง..
แล้วการประกันภัยในประเทศไทย เริ่มขึ้นตอนไหน ?
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการติดต่อค้าขายสินค้ากับชาวต่างชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่การทำประกันภัย ก็ยังทำระหว่างชาวต่างชาติด้วยกันเอง ไม่ได้จดทะเบียนเป็นเรื่องเป็นราว กับทางรัฐบาลของไทย
เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยจริง ๆ ก็คือ
ในปี พ.ศ. 2368 หรือเทียบเท่ากับปี ค.ศ. 1825
ในตอนนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงสั่งซื้อเครื่องพิมพ์จากประเทศอังกฤษ แต่ก็กลัวว่า เครื่องพิมพ์อาจจะเกิดความเสียหาย จึงรับสั่งให้ทำประกันภัยเครื่องพิมพ์ ในนามของพระองค์เอง
เรียกได้ว่า คนไทยก็ได้รู้จักวิธีการประกันภัย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถึงจะเริ่มรู้จักกับประกันภัย แต่บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่ในช่วงแรก ๆ ก็ยังเป็นบริษัทจากต่างชาติ ที่เข้ามาพร้อมกับการขายสินค้า หรืออาจจะเป็นบริษัทลูกของบริษัทประกันภัยจากต่างประเทศ
กว่าที่ประเทศไทยจะมีบริษัทประกันภัย ที่ก่อตั้งโดยคนไทยก็ต้องรอถึงปี พ.ศ. 2472 โดยบริษัทในยุคแรก คือ
- บริษัท เตียอันเป๋าเฮี่ยม จำกัด
- บริษัท เซ่งเชียงหลีประกันภัยธนากิจและพาณิชยการ จำกัด
- บริษัท เชียงอานรับประกันอัคคีภัยและอุทกภัย จำกัด
แต่การรับประกันของบริษัทเหล่านี้ ก็เป็นการรับประกันแบบวินาศภัยทั้งสิ้น
ส่วนบริษัทประกันชีวิตของคนไทย เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2485 โดยบริษัทแรกก็คือ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด และบริษัทต่อมาก็คือ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด
สำหรับไทยประกันชีวิต ก็เพิ่งเข้าตลาดหุ้นของไทย ไปเมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา และปัจจุบันมีมูลค่าราว 143,000 ล้านบาท เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 31 ในตลาดหุ้นไทย
จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับธุรกิจมาหลายพันปีแล้ว และก็เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจพยายามที่จะหลีกเลี่ยง
แต่การ “รับความเสี่ยงจากผู้อื่น” ก็กลับกลายมาเป็นอีกธุรกิจที่สำคัญ และมีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ได้เช่นกัน..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.