ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับตัวช้า ความท้าทายของ อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับตัวช้า ความท้าทายของ อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

9 เม.ย. 2023
ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับตัวช้า ความท้าทายของ อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย /โดย ลงทุนแมน
พูดถึง “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” หลายคนน่าจะรู้ในทันทีว่าประโยคนี้กำลังหมายถึง “อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย”
เพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยนั้นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
รู้ไหมว่า ปี 2013 ไทยเคยผลิตรถยนต์มากที่สุดถึง 2.5 ล้านคัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาล
แต่ที่น่าสนใจคือ ไทยไม่เคยผลิตรถยนต์กลับไปสู่จุดนั้นได้อีกเลย
แล้วเรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หากเราลองมาดูการผลิตรถยนต์ของไทยในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2013 ผลิตรถยนต์ได้ 2.5 ล้านคัน
ปี 2022 ผลิตรถยนต์ได้ 1.9 ล้านคัน
จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา การผลิตรถยนต์ของไทยลดลงจากปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่ไทยมีการผลิตรถยนต์มากที่สุด โดยลดลงราว 0.6 ล้านคัน หรือเฉลี่ยแล้วลดลงปีละ 3%
อย่างที่เรารู้กันว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทำให้เข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ใช้น้ำมัน มากขึ้นเรื่อย ๆ
รู้ไหมว่า ในปี 2022 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าชนิด Battery Electric Vehicle (BEV) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน 100% มีสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก จากในปี 2019 ที่เคยมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น
โดยหากเราลองไปดูส่วนแบ่งยอดขาย BEV ทั่วโลก รายบริษัทรถยนต์ 4 อันดับแรก
- Tesla 18.2%
- BYD 12.6%
- SAIC 9.3%
- Volkswagen Group 7.9%
เรียกได้ว่า ทั้ง 4 รายนี้ ครองส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขาย BEV ทั่วโลก โดยไม่มีบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแม้แต่รายเดียว
ซึ่งช่วงที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นนั้น มีการปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ช้ากว่าประเทศจากฝั่งโซนยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่จีนเองก็ตาม
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันที่สำคัญของบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย
โดยการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของไทยนั้น เป็นรถยนต์จากบริษัทญี่ปุ่น สัดส่วนมากถึง 80%
ส่งผลให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทยนั้น น้อยตามไปด้วย
ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเป็นอย่างมาก
ซึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมนี้และแรงงานที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 800,000 คน ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องจากการจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น จำเป็นต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะ ความรู้ และความเข้าใจในเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก
ดังนั้น หากแรงงานเหล่านี้ ยังคงผูกกับบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างที่ผ่านมา ที่ปรับตัวได้ช้า ไม่ทันเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็นับเป็นความเสี่ยงในอนาคตพอสมควรเลยทีเดียว
และต่อมาอีกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบก็คือ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเป็นอย่างมาก
โดยระบบส่งกำลังของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป มีชิ้นส่วนราว 1,400 ชิ้น
ขณะที่ระบบส่งกำลังของรถยนต์ไฟฟ้า มีชิ้นส่วนราว 200 ชิ้นเท่านั้น หรือลดลงจากเดิมมากถึง 86%
ซึ่งก็นับว่าเป็นโจทย์สำคัญ สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่นับเป็นอีกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่
ถึงตรงนี้ เราน่าจะเห็นภาพกันมากขึ้นแล้วว่า การที่บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นมีการปรับตัวเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ช้า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยอย่างไรบ้าง
ดังนั้น ภาครัฐเองก็ควรมีการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน และความรู้ด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมด ให้อยู่รอดและเข้มแข็ง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ในครั้งนี้
เพราะเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
แต่นั่นยังรวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยของเราอีกด้วย..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.