เรื่องควรรู้ ก่อนลงทุน หุ้นรับจ้างผลิต

เรื่องควรรู้ ก่อนลงทุน หุ้นรับจ้างผลิต

28 เม.ย. 2023
เรื่องควรรู้ ก่อนลงทุน หุ้นรับจ้างผลิต /โดย ลงทุนแมน
“30,000 ชิ้น” คือจำนวนชิ้นส่วนในรถยนต์หนึ่งคัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ผลิตรถยนต์ จะผลิตชิ้นส่วนขึ้นเองทั้งหมด
ผู้ผลิตรถยนต์ที่มาตั้งฐานการผลิตในบ้านเรา เช่น Toyota, Honda ต่างก็ใช้วิธีการจ้างบริษัทอื่น ให้ผลิตชิ้นส่วนให้ เช่น กระจก ไฟ เบาะ ไปจนถึงพวงมาลัย
โดยผู้รับจ้างผลิต หรือที่หลายคนเรียกว่า ธุรกิจ OEM ก็ดูจะเป็นธุรกิจ ที่มีความมั่นคงสูง เพราะมีรายได้ และยอดออร์เดอร์จากผู้ผลิตเป็นประจำ โดยแทบไม่จำเป็นต้องทำการตลาดใด ๆ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ ก็มีความท้าทายเฉพาะธุรกิจเหมือนกัน
แล้วธุรกิจ OEM ต้องเจอความท้าทาย อะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นฐานการผลิตสำคัญ ของแบรนด์ต่างชาติมานานหลายปี เหตุผลหลักก็คือค่าแรงถูก สาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อม
บ้านเราจึงเต็มไปด้วยบริษัทรับจ้างผลิต ซึ่งก็มีหลายบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น
ก่อนจะไปดูความท้าทาย เรามาดูจุดแข็งของกิจการเหล่านี้กันก่อน โดยสามารถแบ่งออกเป็นข้อ ๆ ได้แก่
- ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ
ธุรกิจรับจ้างผลิตหลายเจ้า มักจะเป็นซัปพลายเออร์ ให้แก่ลูกค้ามากกว่า 1 ราย หากลูกค้ามีความต้องการคล้ายกัน บริษัทก็สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น
ค่ายรถยนต์ A, B และ C ต้องการ เบาะรถยนต์ แต่ไม่อยากเดินสายการผลิตเอง ก็สามารถเลือกที่จะจ้างบริษัท S ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบาะรถยนต์อยู่แล้ว
ฝั่งบริษัท S ก็สามารถใช้เครื่องจักรและพนักงานชุดเดียวกัน ในการผลิตเบาะรถยนต์ให้แก่ลูกค้าทั้งหมดได้
- รับรู้รายได้ที่แน่นอนและต่อเนื่อง
โดยทั่วไปแล้วโรงงานที่รับจ้างผลิต จะผลิตตามคำสั่งซื้อที่ได้รับการยืนยันจากลูกค้าอย่างชัดเจนและแน่นอน

รวมถึงหากผู้รับจ้างผลิตรายใด มีลูกค้าที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เช่น แบรนด์รถยนต์ หรือขายสินค้าที่มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา เช่น อาหารหรือเครื่องดื่ม
ธุรกิจรับจ้างผลิตเหล่านี้ จึงเรียกได้ว่ามีความมั่นคงสูง และ สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดได้ดี
- ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดต่ำ
ด้วยความที่เป็นธุรกิจแบบ B2B หรือเป็นซัปพลายเออร์ให้เจ้าของแบรนด์ ธุรกิจรับจ้างผลิตสามารถขายสินค้าได้ โดยที่แทบไม่ต้องทำการตลาดเลย ค่าใช้จ่ายในการขายจึงไม่สูง
แม้ว่าธุรกิจรับจ้างผลิตจะดูมีความแข็งแกร่ง แต่ธุรกิจรับจ้างผลิตเองก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน
โดยความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดเลย ก็คือ
- การสูญเสียลูกค้ารายใหญ่
ตัวอย่างที่เห็นภาพมากที่สุดในยุคนี้ คงหนีไม่พ้น Intel บริษัทที่เคยผลิตชิปให้กับคอมพิวเตอร์เกือบทุกเครื่องในโลกมานาน รวมถึงตระกูล Mac ของ Apple
ในปี 2020 Apple ประกาศว่า จะยุติการใช้ชิปจาก Intel และเปลี่ยนไปใช้ชิป M1 ที่ออกแบบร่วมกับ ARM และจ้าง TSMC ผลิตแทน
การตัดสินใจของ Apple ทำให้ Intel สูญเสียรายได้ 100,000 ล้านบาทต่อปี ไปแทบจะในทันที..
- การแข่งขันสูง
ยิ่งชิ้นส่วนหรือสินค้าที่รับจ้างผลิต สามารถผลิตได้ไม่ยาก ไม่มีความซับซ้อน สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นการแข่งขันด้านราคา
เรื่องดังกล่าวก็จะทำให้บริษัทรับจ้างผลิต ไม่มีความสามารถในการตั้งราคาเลย ส่งผลให้กำไรไม่สูง
- เทคโนโลยี
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับจ้างผลิตในเชิงการลงทุน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ ธุรกิจรับจ้างผลิตชิปเซต ที่ต้องลงทุนในเครื่องยิงแสง สลักลายลงบนชิป มูลค่ามหาศาล
ปัจจุบัน การแข่งขันของบริษัทเทคโนโลยีอยู่ในอัตราเร่ง หากใครสามารถผลิตชิปที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ขนาดเล็กกว่า ก็จะมีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง
เช่น TSMC ที่แม้จะเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ แต่ก็ต้องพึ่งพาเครื่องฉายแสงจาก ASML แถมยังต้องสั่งจองกันเป็นปี ๆ สะท้อนให้เห็นว่ามันก็มีมุมของธุรกิจรับจ้างผลิต ที่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เทคโนโลยีการผลิตทันสมัยอยู่เสมอเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นสรุปเรื่องควรรู้ ก่อนลงทุน หุ้นรับจ้างผลิต ซึ่งมันก็น่าจะมีประโยชน์ หากเราสนใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้ ไม่มากก็น้อย..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อขายหุ้นใด ๆ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.