ทำไมไทย ไม่นำก๊าซจากอ่าวไทย ทั้งหมด ไปผลิตไฟฟ้า ?

ทำไมไทย ไม่นำก๊าซจากอ่าวไทย ทั้งหมด ไปผลิตไฟฟ้า ?

11 พ.ค. 2023
ทำไมไทย ไม่นำก๊าซจากอ่าวไทย ทั้งหมด ไปผลิตไฟฟ้า ? /โดย ลงทุนแมน
ช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ค่าไฟฟ้าแพง ยังคงเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะไม่คลี่คลายลงเร็ว ๆ นี้
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวขึ้น คงหนีไม่พ้น “ก๊าซธรรมชาติ” ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีต้นทุนสูงกว่าเดิมมาก
ทำให้เกิดคำถามที่ว่าทำไม เราถึงไม่นำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ที่มีราคาถูกกว่าตลาดโลก ไปใช้ผลิตไฟฟ้าแทน เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลง
เพราะจริง ๆ แล้ว เรามีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติบางส่วนจากอ่าวไทยไปให้ธุรกิจปิโตรเคมีอยู่แล้ว
แล้วทำไมเราถึงไม่ทำแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
นับตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ประเทศไทยสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และได้ขุดเจาะขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ทำให้ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นพลังงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วนมาโดยตลอด
แต่พอความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ประเทศไทยจึงมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพิ่มเติม
เหตุผลก็เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ไม่ให้หมดเร็วเกินไป

ในปี 2565 ประเทศไทยจัดหาก๊าซธรรมชาติราว 4,274 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามสัดส่วนดังนี้
- 62% มาจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยเป็นหลัก และบนบกอีกเล็กน้อย
- 22% นำเข้าทางเรือจากต่างประเทศ ในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ Liquefied Natural Gas (LNG)
- 16% นำเข้าทางท่อจากประเทศเมียนมา
โดยก๊าซธรรมชาติจะซื้อขายกันที่ค่าความร้อน เรียกว่า บีทียู ซึ่งในปีที่แล้ว แหล่งผลิตในอ่าวไทย มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 209 บาทต่อล้านบีทียู
ขณะที่ LNG มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 790 บาทต่อล้านบีทียู
เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งและแปรสภาพ บวกกับการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ราคา LNG ในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทีนี้มาดูกันว่า ก๊าซธรรมชาติที่ถูกจัดหาเข้ามาในประเทศไทย ใช้ไปกับอะไรบ้าง ?
- 59% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
- 19% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
- 19% ถูกนำไปใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ได้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตของภาคปิโตรเคมี
- 3% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง (NGV)
ต้องบอกว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยถูกจัดสรรให้กับทุกกลุ่มในราคาเดียวกัน แต่สำหรับกลุ่มที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา และ LNG มาผสมด้วย
ทำให้ต้องคำนวณราคารวมกัน เรียกว่า ราคา Pool ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 444 บาทต่อล้านบีทียู
ด้วยเหตุนี้ เมื่อราคา LNG สูงขึ้น จึงส่งผลต่อต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยตรง และทำให้ค่าไฟฟ้าของคนไทยแพงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
แต่พอเป็นเช่นนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราสามารถโยกเอาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่ใช้ในกระบวนการผลิตของปิโตรเคมี ไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแทนได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลง
คำตอบในเชิงปฏิบัติ คงเป็นไปได้ และน่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างแน่นอน
แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันอาจไม่คุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้น..
เพราะโดยปกติแล้ว ก๊าซธรรมชาติมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ แก๊สมีเทน, แก๊สอีเทน, แก๊สโพรเพน, แก๊สบิวเทน แก๊สโซลีนธรรมชาติ เป็นต้น
ซึ่งแก๊สมีเทน เหมาะที่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือใช้ในรถยนต์
แต่แก๊สอีเทน, แก๊สโพรเพน และแก๊สบิวเทนนั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในโรงงานปิโตรเคมี ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยพลาสติกต่าง ๆ ได้
ซึ่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มีองค์ประกอบของแก๊สอีเทน, แก๊สโพรเพน และแก๊สบิวเทน ในสัดส่วนสูง
จึงเหมาะสมและคุ้มค่า ที่จะนำไปเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเผาเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว
โดย ปตท. ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรม ระบุว่าการแยกก๊าซธรรมชาติ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรได้ 10 ถึง 25 เท่า คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 700,000 ล้านบาท
ในขณะที่ LNG ที่ซื้อขายกันในตลาดโลก ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบหลัก คือ แก๊สมีเทน จึงมักถูกนำไปใช้ในกลุ่มเชื้อเพลิง เช่น การผลิตไฟฟ้า
ดังนั้น หากนำก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยส่วนที่ใช้ในกระบวนการผลิตของปิโตรเคมี ไปใช้ผลิตไฟฟ้า แม้จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้
แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจปิโตรเคมี ต้องจัดหาวัตถุดิบขั้นต้น ด้วยการนำเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป หรือประเทศไทยเองต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายเพิ่มมากขึ้น
ในระยะยาวแล้ว ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่าง ๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรานั้น ย่อมต้องแพงขึ้นตามไปด้วย เช่น เสื้อผ้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า, บรรจุภัณฑ์, ของใช้ในครัวเรือน, ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ
พอเป็นแบบนี้ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงต้องพิจารณาบริหารการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้มีความสมดุลและเหมาะสม สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองไปในอนาคต ในวันที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดลง และต้องนำเข้า LNG หรือวัตถุดิบตั้งต้นปิโตรเคมี มากขึ้นแทน
ก็ถือเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ท้าทายประเทศไทยเป็นอย่างมากว่า ควรวางแผนทางด้านเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร
เพราะสิ่งที่จะมีราคาแพงขึ้น คงไม่ใช่แค่ค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงสินค้าต่าง ๆ ที่คนไทยใช้อยู่ในชีวิตประจำวันด้วย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.eppo.go.th/epposite/images/Energy-Statistics/energyinformation/Energy_Statistics/Natural_Gas/T03_01_01-2.xls
-https://www.eppo.go.th/epposite/images/Energy-Statistics/energyinformation/Energy_Statistics/Natural_Gas/T03_02_03-2.xls
-https://www.eppo.go.th/images/petroleum/natural-gas/Price_Pool_2021/Price_Pool_Mar23.xlsx
-https://pttngr.pttplc.com/Knowledge/Knowledge?ID=BasicNG1
-https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/business/business/1066349
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.