ชาวจีน แห่มาเรียนต่อในไทย มากขึ้น

ชาวจีน แห่มาเรียนต่อในไทย มากขึ้น

14 พ.ค. 2023
ชาวจีน แห่มาเรียนต่อในไทย มากขึ้น /โดย ลงทุนแมน
ประเทศไทย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวจีนต่างปักหมุดมาเที่ยวปีละหลายล้านคน
นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว รู้ไหมว่าประเทศไทย กำลังกลายเป็นประเทศแห่งการศึกษา ที่บรรดาพ่อแม่ชาวจีนต่างก็ส่งลูกมาเรียนเป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้มากกว่าปีละ 3,700 ล้านบาท
ทำไมการศึกษาต่อในไทย ถึงดึงดูดชาวจีน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่า ปัจจุบันจำนวนนักเรียน นักศึกษาชาวจีน ที่เข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในไทย กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ปีการศึกษา 2560
มีนักเรียนชาวจีน ทั้งสิ้น 8,669 คน
จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติ 21,360 คน
แต่ในปีการศึกษา 2565
มีนักเรียนชาวจีน ทั้งสิ้น 18,771 คน
จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติ 30,837 คน
ผ่านไป 5 ปี นักเรียนชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แถมยังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งของ
จำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมดแล้ว
โดยสาเหตุที่ทำให้ชาวจีน เข้ามาศึกษาต่อในไทยมากขึ้น เริ่มมาจากการแข่งขันทางการศึกษาของจีนเองที่กดดันและหนักเกินไป
เนื่องจากประเทศจีน จะมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกว่าการสอบ “เกาเข่า” ซึ่งจะจัดสอบเพียงปีละ 1 ครั้ง
แต่มหาวิทยาลัยในจีนนั้นรองรับได้อย่างจำกัด อีกทั้งตำแหน่งงานในประเทศจีน ก็มักจะเปิดรับนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง
ทำให้ในแต่ละปี จะมีผู้เข้าสอบที่ผิดหวังจากการสอบจำนวน 2 ถึง 3 ล้านคน
ซึ่งการแข่งขันที่สูงนี้ ก็ยังส่งต่อไปยังการศึกษาระดับมัธยม ที่เด็กนักเรียนจีนต้องใช้เวลาไปกับการเรียนทั้งในโรงเรียนและติวพิเศษเพิ่มเติม
ซึ่งเรียนตั้งแต่ แปดโมงถึงสี่ทุ่มทุกวัน และมีค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษเพิ่ม ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อคนต่อปีเลยทีเดียว
เมื่อเป็นแบบนี้ นักเรียนจีนจำนวนมากจึงเลือกออกไปศึกษาต่อยังต่างแดน ซึ่งประเทศยอดนิยมของนักศึกษาจีนก็คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบทวีปยุโรปอย่างอังกฤษ
แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยก็กลายเป็นจุดหมายในการเรียนต่อของนักศึกษาชาวจีนเช่นกัน
โดยปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเลือกศึกษาต่อในไทย มีหลายข้อด้วยกัน เช่น
- ค่าเรียน ค่าครองชีพที่ถูกกว่า
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่แต่ละปีอาจมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาท ในขณะที่การศึกษาต่อในไทยมีค่าใช้จ่ายต่อปีเพียง 200,000 บาท เท่านั้น ซึ่งตอบโจทย์กับกลุ่มนักเรียนจีนที่มีฐานะปานกลาง
- วัฒนธรรม อาหาร และชีวิตความเป็นอยู่ในแบบเอเชีย ทำให้ปรับตัวได้ไม่ยาก

- เดินทางไม่ไกล เพราะชาวจีนที่มาเรียนในไทย ส่วนใหญ่มาจากมณฑลยูนนาน และกว่างซี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน จึงใช้เวลาเดินทางมาไทยไม่นาน อีกทั้งในอนาคตก็อาจมีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งตรงจากจีนถึงไทยได้เลย
- หลักสูตรได้มาตรฐาน มีหลายสาขาให้เลือกเรียน อีกทั้งยังได้รับการรับรองจากหลายหน่วยงาน และเป็นที่ยอมรับในประเทศจีน รวมถึงการเรียนมีความผ่อนคลายมากกว่า
นอกจากปัจจัยเกี่ยวกับการเรียนและการดำรงชีวิต ที่ทำให้การศึกษาต่อในไทยเป็นตัวเลือกของชาวจีนแล้ว การค้าและการลงทุนจากจีน ก็มีส่วนอย่างมากเช่นกัน
เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทิศทางการลงทุนของประเทศจีน หันมามุ่งเน้นที่ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยมากขึ้น
โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านล้านบาทในปี 2560 เพิ่มเป็น 3.7 ล้านล้านบาทในปี 2565
ในขณะเดียวกัน โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่า มูลค่าการลงทุนจากจีน 27,500 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มเป็น 77,400 ล้านบาทในปี 2565
ด้วยการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนนี้เอง ทำให้มีชาวจีนจำนวนมากเข้ามาเรียนในไทย เพื่อวางรากฐานในอนาคตให้กับตัวเอง
ทั้งคนที่เข้ามาเรียนเพื่อหาลู่ทางในการทำธุรกิจ อย่างเช่นนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศ หรือนักเรียนที่ย้ายตามครอบครัวที่มาทำงานหรือทำธุรกิจในไทย
รวมถึงคนที่ต้องการเข้ามาทำงานให้กับบริษัทจีนที่มาเปิดกิจการในไทย ซึ่งสามารถหางานได้ง่าย เพราะมีข้อได้เปรียบทางด้านภาษาติดตัวอยู่แล้ว
นอกจากความต้องการจากฝั่งชาวจีนแล้ว
สถานศึกษาในไทยเอง ก็ปรับตัวเข้าหาตลาดจีนเช่นกัน
เนื่องจากจำนวนนักศึกษาในไทยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างเช่นในปี 2563 มีนักศึกษาไทยที่เข้าสอบ TCAS ซึ่งเป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยระบบใหม่ เป็นจำนวน 206,000 คน
แต่มหาวิทยาลัยของไทยมีอัตราการรับนักศึกษาใหม่กว่า 560,000 คน ทำให้มีที่นั่งว่างเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่รับ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของมหาวิทยาลัยโดยตรง
จึงไม่แปลก หากจะเห็นมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดหลักสูตรใหม่ เพื่อรับนักศึกษาจีนเข้ามาทดแทนจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง
ในขณะที่บางแห่ง ก็เปิดโอกาสให้มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาถือหุ้นในมหาวิทยาลัย เพื่อแลกกับเงินทุนและช่องทางในการดึงนักศึกษาจากจีนเข้ามา
อย่างไรก็ตาม การที่จำนวนนักเรียน นักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะหมายถึงการมีอุตสาหกรรมใหม่ ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้ ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
แต่นักศึกษาจีนส่วนใหญ่ รับรู้ข้อมูลข่าวสารการศึกษาต่อในไทย จากมหาวิทยาลัยหรือเอเจนซีในจีน และการบอกเล่าแบบปากต่อปาก
ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังและคอยกำกับดูแลก็คือ เรื่องของมาตรฐานทางการศึกษาและหลักสูตรที่ต้องได้คุณภาพจริง ๆ และได้สินค้าที่ตรงปกกับที่โฆษณาไว้
เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว การศึกษาต่อในไทยที่กำลังเติบโต อาจกลายเป็นธุรกิจที่หลอกลวงชาวจีนให้เสียทั้งเงินและเวลา และถูกตีตราไม่ต่างจากสินค้าจีนในอดีต ที่ถูกมองว่ามีแต่ของปลอมเช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://info.mhesi.go.th/stat_std_all.php?search_year=2560&download=411&file_id=201810290949.xlsx
-https://www.bbc.com/thai/international-53360211
-https://www.boi.go.th/index.php?page=statistics_oversea_report_st
-https://www.khonthai4-0.net/system/resource/file/kpfgo_content_attach_file_313_1.pdf?date=2022-02-22%2016:43:25.1
-https://www.scmp.com/news/people-culture/social-welfare/article/3179310/chinas-coronavirus-lockdowns-and-slowing-economy
-https://www.youtube.com/watch?v=H7Gb_hH5HmQ
-https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1032606
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.